KTAM ชู 2 ทางเลือกลงทุนตราสารหนี้ทั้งในและตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 15, 2010 17:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--บลจ.กรุงไทย นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนพันธบัตรภาครัฐทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทย ฟอเรน ฟิกซ์อินคัม 4 เดือน2 ( KTF4M2 ) ตั้งแต่วันที่ 16 -22 มิถุนายน 2553 อายุ 4 เดือน มูลค่าโครงการ 900 ล้านบาท มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนจะพิจารณาความมั่นคงของผู้ออกตราสารเป็นหลัก และเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเหมาะสม เมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยง ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก ทั้งนี้ กองทุนจะลงทุนในพันธบัตรภาครัฐประเทศเกาหลีใต้ ทั้ง 75 % เครดิตเรตติ้งที่ AA โดยฟิทซ์ และอีก 25% ลงทุนในบัญชีเงินฝากธนาคาร Standard Chartered Bank สาขา UAE ( Full branch ) ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 1.30% ต่อปี สำหรับภาวะการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% ซึ่งเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า สำหรับผลตอบแทนจากพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้มีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารกลางมีนัยว่าสถานการณ์เกี่ยวกับหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยุโรปและภาคอสังหาริมทรัพย์ของเกาหลีใต้ ยังไม่ถึงระดับที่ต้องน่าวิตก ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารกลางจะยังคงให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ จึงทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังได้ประกาศแผนที่จะควบคุมเสถียรภาพของสกุลเงินวอนโดยจะจำกัด ให้ธนาคารต่างชาติมีอนุพันธ์เกี่ยวกับค่าเงินวอนได้ไม่เกิน 250% ของเงินทุน และ 50% สำหรับธนาคารท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าแกว่งตัวค่อนข้างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ บลจ.กรุงไทยยังอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 3เดือน3 ( KTSIV3M3 ) ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2553 อายุโครงการ 3 เดือน เป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐในประเทศ 8% หุ้นกู้ธนาคารดอยซ์แบงก์ เอจี และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สถาบันละ 24% ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝากธนาคารซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) 20% และธนาคารธนชาติ 24% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 0.90% ต่อปี ซึ่งที้ง 2 กองทุนจะไม่เสียภาษี ณ ที่จ่าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ