ขยาย “iTAP เครือข่ายสารคาม” สู่เมืองแห่งการศึกษา เพิ่มศักยภาพภาคผลิตท้องถิ่น

ข่าวเทคโนโลยี Thursday July 26, 2007 13:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--iTAP
เปิดตัว “ iTAP เครือข่ายมหาสารคาม ”เสริมศักยภาพสู่เมืองแห่งการศึกษา ร่วมไขปัญหาอุตสาหกรรมไทย หนุนภาคผลิตท้องถิ่น เน้นช่วยผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีเหมาะสม แก้ปัญหาเชิงลึกแบบครบวงจร เพิ่มการเข้าถึงความรู้ แนะกลยุทธ์ผลิตสินค้ามาตรฐาน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก
ด้วยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.)ได้ร่วมมือกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมเป็น เครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เครือข่าย iTAP มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีการจัดงานสัมมนาเรื่อง “iTAP ไขปัญหาอุตสาหกรรมไทย” ขึ้น เพื่อเปิดตัวiTAPเครือข่ายมหาสารคาม สู่เมืองแห่งการศึกษา
นายรังสรรค์ เพียรอดวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ประธานในการสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า การที่โครงการ iTAP ได้ขยายสู่เครือข่ายมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้นถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการท้องถิ่นที่จะสามารถหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ร่วมทั้งพัฒนาเรื่องการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูงขึ้น โดยศักยภาพภาคอุตสาหกรรมภายในจังหวัดมหาสารคามนั้นยังมีผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นจำนวนมากที่กำลังต้องการสร้างความเข้มแข็งในฐานการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ และมองว่าการที่เงินบาทแข็งตัวขึ้นจะมีผลกระทบทางการค้า กระบวนการสร้างความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ภาคเอกชนผลิตสินค้าคุณภาพในราคาประหยัด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก
นางประดิษฐ์ ธรรมดวงศรี เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักในมหาสารคามส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นฐานการผลิตของสินค้าต่างๆ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ รวมทั้งมีอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นหลัก ดังนั้นการเปิดเครือข่าย iTAP มหาสารคามในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในจังหวัดและภูมิภาคนี้ได้เข้าถึงทั้งแหล่งความรู้และแหล่งทุน ช่วยให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะเปิดเผยปัญหาในธุรกิจของตนเอง มองว่าการทำงานที่มีแนวทางเข้าถึงผู้ประกอบการของโครงการ iTAP เช่นนี้จะมีส่วนช่วยให้ “ได้ใจ” ของผู้ประกอบการในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูสู่ความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม โดยทั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดและหอการค้าจังหวัดมหาสารคามเอง มีความยินดีที่มีเครือข่ายในโครงการดังกล่าวเข้ามาในพื้นที่ และพร้อมที่จะผลักดันข้อมูลที่เป็นประโยชน์สู่กลุ่มสมาชิกในอุตสาหกรรมไปด้วยกัน
ด้าน ดร.รำไพ เกณฑ์สาคู ผู้จัดการเครือข่ายโครงการ iTAP มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างโครงการ iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย)และเครือข่ายมหาวิทยาลัยมหาสารคามถือเป็นนิมิตหมายอันดีเนื่องจาก iTAP เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมไทยได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต โดยเฉพาะการมีเครือข่าย iTAP มหาสารคาม จะสามารถเข้าถึงและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและใกล้เคียง เพื่อให้อุตสาหกรรมในท้องถิ่นได้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในท้องถิ่นจะได้เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองและพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆรวมถึงการเข้าถึงแหล่งความรู้อันเป็นประโยชน์ พัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองได้ก้าวหน้า สร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไทยได้ต่อไป ///
สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใดที่สนใจเข้าร่วม โครงการ iTAP เครือข่ายมหาสารคาม สามารถติดต่อได้ที่ : อาคารศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ เลขที่ 79/2 ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม 44000 โทรศัพท์/โทรสาร 043-742-825 E-mail: intha_k@hotmail.com หรือเว็บไซด์ http://www.itap.msu.ac.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ