ฝนนี้ ระวังไว้ !! ภัยดินถล่ม

ข่าวทั่วไป Tuesday September 20, 2005 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ปภ.
ในอดีตเชื่อกันว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในเขตปลอดภัยจากภัยดินถล่ม แต่หลังจากที่มีการศึกษาข้อมูลโดยละเอียดกลับพบว่า เหตุการณ์ดินถล่มได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นประจำตลอดมา เพียงแต่ไม่มีการสำรวจเท่านั้น จากนั้นจึงเริ่มมีการบันทึกเหตุการณ์เพื่อหาทางป้องกัน และเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เพิ่มความระมัดระวัง เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอนำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับภัยดินถล่ม รวมถึงวิธีการป้องกัน การปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากดินถล่ม ดังนี้
“ดินถล่ม หรือ โคลนถล่ม” เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของหินหรือ ดินที่ผุผังลงมาตามทางลาดเขา ด้วยอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของโลก โดยจะมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำให้ดิน และหินเคลื่อนตัวด้วยเสมอ ก่อให้เกิดความเสียหายในบริเวณที่เป็นเนินสูง หรือภูเขาที่มีความลาดชันมาก แต่ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลาดชันต่ำได้เช่นกัน หากมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดอย่างเหมาะสมเพียงพอ โดยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโอกาสเกิดดินถล่ม เนื่องจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่านในเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม ในขณะที่ภาคใต้ มักเกิดดินถล่มขึ้นในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม
สาเหตุที่ทำให้เกิดภัยดินถล่ม เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ ได้แก่ สาเหตุทางธรรมชาติ เมื่อมี ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้น้ำซึมลงไปในดินอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้แรงยึดเกาะระหว่าง มวลดินและหินลดลง และเลื่อนไหลลงสู่พื้นที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงของโลก นอกจากนี้ ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของดินถล่มให้สูงขึ้น นั่นคือ สาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ไม่มีต้นไม้ช่วยชะลอการไหลของน้ำ และช่วยในการยึดเกาะดิน หรือการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยไม่ปรับพื้นที่ให้เป็นขั้นบันได รวมถึงการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนกีดขวางทางน้ำ
พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม จะมีลักษณะ ดังนี้ เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดภูเขา ใกล้ลำห้วย หรือเนินหน้าหุบเขา ซึ่งเคยมีร่องรอยโคลนถล่มมาแล้ว มีร่องดินไหล รอยดินเลื่อน หรือรอยดินแยกบนภูเขา เป็นพื้นที่ที่เป็นทางไหลของน้ำป่าและเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นบ่อยครั้ง บริเวณกองหิน เนินทรายปนโคลน และต้นไม้ที่ขึ้นในห้วย พื้นห้วยที่มีก้อนหินขนาดต่างๆ อยู่ปนกันตลอดท้องน้ำ
ก่อนเกิดภัยดินถล่ม มักจะมีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ดังนี้ มีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน (มากกว่า 100 มม. ต่อวัน หรือตกนานกว่า 6 ชั่วโมง) ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา มีเสียงดังผิดปกติมาจากภูเขาหรือลำห้วย สัตว์ป่าแตกตื่น น้ำท่วมและเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อพบสัญญาณเหล่านี้ ต้องรีบประกาศแจ้งเตือนชาวบ้าน และอพยพเคลื่อนย้ายไปสู่พื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด โดยอพยพไปตามเส้นทางที่พ้นจากแนวการไหลของดินถล่ม ขึ้นสู่ที่สูงหรือสถานที่ปลอดภัยที่ได้จัดเตรียมไว้แล้ว
ผลกระทบจากภัยดินถล่ม นอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ยังทำให้บ้านเรือน สิ่งสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม พื้นที่การเกษตร และสภาพแวดล้อมได้รับความเสียหายอีกด้วย โดยจะทำให้ดินเสื่อมสภาพ เพราะหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ถูกชะล้างไป ส่วนตะกอนดินที่ถูกพัดพาสู่แหล่งน้ำ ก็ทำให้น้ำมีคุณภาพลดลง ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเป็นเวลานานกว่าจะกลับสู่สภาพดีดังเดิม ตลอดจนทำความเสียหายต่อเขื่อน ทำให้มีพื้นที่เก็บกักน้ำน้อยลง อาจทำให้เขื่อนพังได้ และนำไปสู่การเกิดอุทกภัย เนื่องจากเศษซากต่างๆ ที่ถูกน้ำซัดมาขวางทางเดินของน้ำ กลายเป็นฝายกั้นน้ำชั่วคราว เมื่อฝายพัง น้ำปริมาณมากจะไหลเข้าท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลตามมาในภายหลัง
การเตรียมรับมือกับภัยดินถล่ม ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือในระดับชุมชน ตั้งแต่ขั้นของการป้องกัน โดยไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย และ ควรระดมกำลังกันปลูกป่าไม้ พืชคลุมดิน ทดแทนในพื้นที่ที่ถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่มีพายุฝน หรือฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรจัดเวรยามอาสาสมัครเฝ้าระวัง ติดตามการพยากรณ์อากาศ และสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งมักเกิดน้ำหลาก และดินถล่ม เพื่อจะได้อพยพประชาชนไปสู่พื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ในช่วงที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มมากที่สุด โดยประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ต้องวางแผนรับมือ และเตรียมการอพยพล่วงหน้า โดยเริ่มจากการเตรียมพื้นที่ปลอดภัย ติดตามการพยากรณ์อากาศ และจัดเวรยามอาสาสมัครเฝ้าระวัง หากพบความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่ม ต้องแจ้งเตือนให้หน่วยงานราชการ ชาวบ้านในชุมชนทราบในทันที ในการอพยพ จะต้องนำเอกสาร หลักฐานทางราชการ ทรัพย์สินมีค่าที่สะดวต่อการขนย้ายติดตัวไปด้วย อย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สิน เพราะชีวิตมีความสำคัญมากกว่า จากนั้น ให้เร่งอพยพไปตามเส้นทางพ้นจากแนวการไหลของดินถล่ม ขึ้นที่สูงหรือสถานที่ปลอดภัย ที่เตรียมไว้แล้ว หากพลัดตกไปในกระแสน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีโดยเด็ดขาด เพราะอาจกระแทกกับซากต้นไม้ หรือหินที่ไหลมาตามน้ำได้ แต่ให้หาต้นไม้ขนาดใหญ่เกาะไว้และปีนขึ้นให้พ้นน้ำจึงจะปลอดภัย
หลังจากเกิดเหตุการณ์ดินถล่มขึ้นในพื้นที่ ชุมชนต้องตรวจสอบข่าวสาร และไม่ควรเข้าไปในบริเวณที่เกิดภัยหรือบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอาจเกิดการพังทลายซ้ำอีกครั้ง โดยต้องกำหนดขอบเขตความปลอดภัย และติดป้ายแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบว่าพื้นที่ใดปลอดภัยและพื้นที่ใดไม่ควรเข้าใกล้ พยายามระบายน้ำออกจากบริเวณที่ดินถล่มให้มากที่สุด โดยทำทางเบี่ยงเพื่อให้น้ำไหลไปสู่ทิศทางอื่น ไม่ให้ไหลลงมาสมทบเข้าในมวลดินเดิมที่มีความเสี่ยงอยู่ รวมทั้งให้เริ่มทำการฟื้นฟูพื้นที่และป้องกันภัยดินถล่ม ด้วยการไม่ปลูกสร้างบ้านหรือสิ่งก่อสร้าง กีดขวางทางน้ำ หรือใกล้ลำห้วย ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และช่วยกันปลูกป่าไม้ และพืชคุลมดิน
กล่าวได้ว่า ในแต่ละครั้งที่เกิดเหตุการณ์ดินถล่ม ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ดังนั้น ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ต้องเฝ้าระวังภัยดินถล่มเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยต้องคอยสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ และเรียนรู้การเตรียมรับมือกับภัยดินถล่ม ศึกษาเส้นทางอพยพ พื้นที่ปลอดภัย ให้ละเอียดท่องแท้ หากเกิดภัยดินถล่มขึ้นในพื้นที่ จะช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์และลดการสูญเสียได้มาก ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดประสบภัยพิบัติรุนแรง สามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย จะได้ประสานให้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทั้ง 75 จังหวัด ทั่วประเทศ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้ง 12 เขต ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน--จบ--

แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ