สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ประจำเดือนพฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 15, 2010 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--ตลท. ในเดือนพฤษภาคม 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างผันผวนและปรับตัวลดลง 1.71% จาก ณ สิ้นเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 750.43 จุด จากความกังวลของนักลงทุนต่อทั้งวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะของประเทศในยุโรปและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับลดของ SET Index ในเดือนนี้อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค โดย SET Index ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 ยังคงสูงกว่าระดับ ณ สิ้นปี 2552 อยู่ที่ 2.16% ด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 6,097,136.28 ล้านบาท ตามทิศทางของ SET Index ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม 2553 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 23,913.44 ล้านบาท ลดลง 4.10% จากเดือนเมษายน 2553 แต่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปี 2552 และช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 โดยในเดือนพฤษภาคม 2553 นักลงทุนต่างประเทศมีสถานะขายสุทธิกว่า 58,789 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนรายบุคคลทั่วไปเป็นผู้ซื้อสุทธิในเดือนนี้ ทั้งนี้ พบว่ามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์มีการกระจายตัวจากหลักทรัพย์ขนาดใหญ่มาสู่หลักทรัพย์ขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น มูลค่าการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่18,536 สัญญา ลดลง 4.59% จากเดือนเมษายน 2553 ซึ่งเกิดจากปริมาณการซื้อขายของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures ที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ Gold Futures อยู่ที่ 3,283 สัญญา เพิ่มขึ้นถึง 32.22% จากเดือนเมษายน 2553 เป็นผลจากความสนใจของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของราคาทองคำที่สูงขึ้น การระดมทุน ในเดือนพฤษภาคม 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนทั้งหมด 20,187.40 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนในตลาดแรกหรือการเข้าจดทะเบียนใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) จำนวน 2 บริษัท คือ บมจ. ธีระมงคล อุตสาหกรรม (TMI) และบมจ. ไซเบอร์แพลนเน็ตอินเตอร์แอคทีฟ (CYBER) มูลค่าระดมทุน 80 และ 140 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรอง (การเพิ่มทุน) มูลค่า 19,967 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) สำหรับมูลค่าการระดมทุนรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ที่ 31,113.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.54 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1. ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย ในเดือนพฤษภาคม 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างผันผวนและปรับตัวลดลง 1.71% จาก ณ สิ้นเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 750.43 จุด ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ปรับลดลงเช่นกัน จากวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะของประเทศในยุโรปที่ยังลุกลามต่อเนื่องทำให้เกิดความกังวลต่อเสถียรภาพของค่าเงินยูโรและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศลดการถือครองตราสารทุนในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคลงค่อนข้างมากในช่วงเดือนนี้ ขณะที่ในกรณีของตลาดหลักทรัพย์ไทยแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นด้วย แต่การปรับลดของ SET Index ในเดือนนี้อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค และ SET Index ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 ยังคงสูงกว่าระดับ ณ สิ้นปี 2552 ที่ 2.16% ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนของไทยที่ยังเข้มแข็งแม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai Index) ปิดที่ 207.63 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.22% จากเดือนก่อนหน้า โดย mai Index ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงเดือนนี้ เนื่องจากโดยปกติมูลค่าการถือครองหุ้นในตลาด mai ของนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ SET Index ที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ค่าอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ ณ เวลาปัจจุบันและอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E Ratio) ของไทยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 11.03 เท่า จาก 11.30 เท่าในเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินปันผลของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคโดยอยู่ที่ 4.17% สำหรับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวมของ SET และ mai ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม มีมูลค่า 6,097,136.28 ล้านบาท ลดลง 1.29% จากเดือนก่อนหน้าตามทิศทางของ SET Index 2. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ในเดือนพฤษภาคม 2553 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันลดลง 4.10% จากเดือนเมษายน 2553 แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2552 โดยในเดือนพฤษภาคม มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของ SET และ mai รวมอยู่ที่ 382,615.07 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 23,913.44 ล้านบาท ลดลง 4.10% จากเดือนเมษายน 2553 อย่างไรก็ตาม มูลค่าเฉลี่ยรายวันในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 21,310.74 ล้านบาท ยังคงเป็นระดับที่สูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยรายวันของปี 2552 ที่ 18,226.25 ล้านบาท เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของ SET และ mai แยกตามประเภทนักลงทุน พบว่า นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ด้วยมูลค่าขายสุทธิ 58,788.70 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 นักลงทุนต่างประเทศเปลี่ยนสถานะจากผู้ซื้อสุทธิเป็นผู้ขายสุทธิ 20,406.91 ล้านบาท ขณะที่ในเดือนนี้นักลงทุนรายบุคคลทั่วไปเป็นผู้ซื้อสุทธิ 48,156.86 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 10,727.98 ล้านบาท ด้านบริษัทหลักทรัพย์มีการขายสุทธิ 96.13 ล้านบาทในเดือนนี้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจาก 24.58% ในเดือนก่อนหน้า เป็น 25.21% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 14 เดือน ด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2553 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 23.02% และ 3.46% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มอาหารมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 4.49% ในเดือนเมษายน 2553 มาอยู่ที่ 9.02% จากการซื้อขายหุ้น CPF ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) พบว่ามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์กระจายตัวสู่หลักทรัพย์ขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก (SET10) ปรับตัวลดลงจาก 45.88% ในเดือนเมษายน 2553 มาอยู่ที่ 42.42% ในเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มมูลค่าตามราคาตลาดที่เล็กลงมา โดยเฉพาะในกลุ่ม Non-SET50 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 3. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนเมษายน 2553 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า 6.24% โดยมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนทั้งสิ้น 137,309 บัญชี ทั้งนี้ สัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือน (Active Rate) อยู่ที่ 23.76% และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 3.27 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีสัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนอยู่ที่ 25.70% และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 3.75 ล้านบาท สำหรับจำนวนบัญชีการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตและมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยในเดือนเมษายน 2553 จำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 52,598 บัญชี โดยมีมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 88,268.81 ล้านบาท ลดลง 25.46% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2553 แต่ยังขยายตัวถึง 61% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในเดือนเมษายน 2553 อยู่ที่ 19.67% ลดลงจาก 21.57% ในเดือนก่อนหน้า และเป็นสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน 4. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ ในเดือนพฤษภาคม 2553 ตลาดอนุพันธ์มีการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 18,536 สัญญา ลดลง 4.59% จากเดือนเมษายน 2553 จากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures ที่ลดลง 11.48% และ 7.29% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ Gold Futures มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 3,283 สัญญา เพิ่มขึ้นถึง 32.22% จากเดือนเมษายน 2553 และเป็นค่าเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 3 เดือน (มีนาคม — พฤษภาคม) จากความสนใจของนักลงทุนตามการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำที่ใช้อ้างอิงตามสัญญา 5. ภาพรวมการระดมทุน ในเดือนพฤษภาคม 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนทั้งหมด 20,187.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ 190.03 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการระดมทุนในตลาดรอง (การเพิ่มทุน) มูลค่า 19,967.40 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการระดมทุนของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) มูลค่า 19,378.83 ล้านบาทเป็นสำคัญ ขณะที่มีการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ (IPO) จำนวน 2 บริษัท คือบริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (TMI) และบริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ตอินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (มหาชน) (CYBER) มูลค่าระดมทุน 80 ล้านบาท และ 140 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการระดมทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ที่ 31,113.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.54 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการระดมทุนของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ บริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) จัดทำโดยฝ่ายวางแผนกลยุทธ์องค์กร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ / กนกวรรณ เข็มมาลัย / ณัฐยา เมืองแมน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ