กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--โครงการต้นกล้าอาชีพ
โครงการต้นกล้าอาชีพ เผยความสำเร็จ 1 ปี ผู้ร่วมฝึกอบรมกว่า 4 แสนคนทั่วประเทศ ระบุเป็นโครงการที่ทุกภาคส่วนสังคมร่วมมืออย่างบูรณาการ ช่วยเสริมทักษะทางอาชีพให้ผู้ว่างงาน(ตกงาน) 214,574 แสนคน ช่วยเพิ่มศักยภาพบัณฑิตจบใหม่ที่ว่างงาน 89,315 คน และช่วยเหลือผู้ที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง จำนวน 48,658 คน เผยพร้อมนำโครงการต้นกล้าชีพไปใช้เป็นต้นแบบแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินงานโครงการต้นกล้าอาชีพ เปิดเผยว่า โครงการต้นกล้าอาชีพได้ดำเนินมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 — เมษายน 2553 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้มีการติดตามผลและลงสำรวจพื้นที่เชิงลึกต่อผู้เข้าร่วมอบรม พบว่า โครงการต้นกล้าอาชีพมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 442,809 แสนคน โดยมีประชาชนสามารถนำความรู้ไปสร้างงานได้จำนวน 352,547 คน
ประชาชนที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปสร้างงาน สร้างรายได้เลี้ยงชีพของตัวเอง แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย “ต้นกล้าปกติ” (ผู้ว่างงาน/ตกงาน) จำนวน 214,574 แสนคน “ต้นกล้าพิเศษ” (บัณฑิตจบใหม่ที่ว่างงาน) จำนวน 86,315 คน และกลุ่มสุดท้าย “ต้นกล้าชะลอเลิกจ้าง” (กำลังจะถูกเลิกจ้าง) จำนวน 48,658 คน
โครงการต้นกล้าอาชีพ ได้ร่วมกับแม่โจ้โพลล์ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ร่วมอบรมหลังจบหลักสูตรการฝึกอบรม พบว่า ร้อยละ 97.7 ต้องการให้มีการจัดอบรมต่อเนื่อง ร้อยละ 83.3 เห็นว่าหลักสุตรมีความเมหาะสมและหลากหลายตรงกับความต้องการ ร้อยละ 76.7 เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นด้านรายได้เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพเดิม
ศ.ดร.กนก กล่าวต่อว่า โครงการต้นกล้าอาชีพได้ให้ความรู้ ฝึกทักษะการปฏิบัติกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายนำไปประกอบอาชีพจนเกิดรายได้ล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว กระทั่งสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดศักยภาพในการทำธุรกิจและประกอบอาชีพอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคตได้ ทั้งนี้ประชาชนยังต้องการให้มีโครงการต่อเนื่อง โดยอยากให้เพิ่มสาขาหลักสูตรให้หลากหลาย เช่น งานซ่อมเครื่องยนต์ คอมพิวเตอร์ นวดแผนไทย ผลิตภัณฑ์ Hand Made งานแกะสลัก ทอผ้า เป็นต้น ซึ่งยังเชื่อว่าองค์ความรู้แต่ละสาขาจากโครงการต้นกล้าอาชีพจะสามารถพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปจนถึงการสร้างงานสร้างรายได้ของประชาชน ขยายผลไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ยกตัวอย่าง ต้นกล้าอาชีพรุ่น 4 เพื่อให้มองเห็นความสำเร็จของโครงการฯ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น คือ หลักสูตรวิสาหกิจชุมชน ดำเนินกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษบ้านกาดโป่ง ภายใต้ศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรก้าวหน้าบ้านฟ่อน จังหวัดลำปาง ที่ตั้ง เลขที่ 145 หมู่ 2 ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีผู้รับผิดชอบดำเนินการ คือ นายสุพรรณ อินผูก
โดยทางกลุ่มได้ร่วมกันปลูกผักปลอดสารพิษแบบครบวงจรมีการรวมกลุ่มกันมีการระดมทุนคนละ 300 บาท เป็นทุนในการดำเนินการปลูกผัก ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ทำน้ำยาล้างจาน ปลูกผักปลอดสารพิษขายในตลาดชุมชน กระทั่งเป็นที่รู้จักของคนในชุมชนและได้มาเรียนรู้กับกลุ่มในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ,การปลูกผักกางมุ้งทำให้ขยายเครือข่ายในการปลูกผักปลอดสารพิษจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเทศบาลเมืองเขลางค์นครทำเป็นแบบอย่างในการทำเศรษฐกิจพอเพียงและให้กลุ่มเป็นวิทยากรท้องถิ่นในการอบรมการทำปุ๋ยหมักให้กับชุมชนต่างๆ
วิธีการจะต้องไม่มีการเผาขยะ หากแต่นำขยะมาทำปุ๋ยหมักมาใช้ในครัวเรือนจนกิจกรรมได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปแหล่งชุมชนต่างๆทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการปลูกผักปลอดสารพิษ เทศบาลเมืองเขลางค์นครได้นำกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษบรรจุเข้าแผนพัฒนากลุ่มอาชีพ ปีงบประมาณ2554ปัจจุบันผักปลอดสารพิษก็ไม่ต้องขายที่ตลาด ผู้บริโภคระดับครัวเรือนและร้านอาหารจะมาหาซื้อผักปลอดสารพิษที่ทำการกลุ่มทำให้กลุ่มมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนละหลายหมื่นบาท
“ความสำเร็จของโครงการต้นกล้าอาชีพ ที่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ยังได้แสดงให้เห็นว่าเป็นโครงการที่มีนวัตกรรมทางความคิดซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติจริง สามารถนำไปเป็นต้นแบบกรณีการเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของไทยในอนาคตได้อีกด้วย ทั้งนี้ความสำเร็จดังกล่าวยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนานาประเทศด้วยรางวัล Special Awards จาก S.I.T.S (South-Pacific Innovation Transfer Society) ประเทศออสเตรเลีย รางวัลเหรียญทองแดง จากกงาน Seoul International Invention Fair (SIIF) 2009 ประเทศเกาหลีใต้” ศ.ดร.กนก กล่าวในตอนท้าย