กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยสยาม
ความคืบหน้าของโครงการต้นกล้าอาชีพ ที่เริ่มเห็นผลผลิตเบ่งบาน สามารถสร้างอาชีพให้ผู้เข้าอบรมมีรายได้ล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว เริ่มเห็นผลชัดเจน และประสบความสำเร็จมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยการลงพื้นที่ศึกษาโครงการต้นกล้าอาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของมหาวิทยาลัยสยาม พบว่าโครงการกล้าอาชีพ ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เริ่มเห็นผลแล้วกับการสร้างคนหลายกลุ่มให้มีงานทำ ด้วยการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมนำมาพัฒนาต่อยอดทางความคิดไปประกอบอาชีพเป็นผลสำเร็จ
โดยนักวิชาการ อย่าง ดร.จิดาภา ถิรศิริกุล อาจารย์ประจำคณะปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยสยาม วิเคราะห์ให้ฟังว่า โครงการต้นกล้าอาชีพ เป็นโครงการที่ให้โอกาสคนว่างงาน คนตกงาน และผู้ที่ชะลอการเลิกจ้างให้มีงานทำ เป็นโครงการที่สร้างทุนมนุษย์ ให้ความรู้ที่ประเมินค่ามิได้ บริโภคไม่มีวันหมด เพราะความรู้ของผู้เข้าอบรมจะอยู่กับเขาตลอดไป และต่อยอดทางความคิดนำไปพัฒนาตัวเอง และเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพต่อไปอย่างไม่มีวันหมด
นอกจากนี้ ผู้เข้าอบรมเองยังนำความรู้ที่ได้ไปขยายผล สร้างเครือข่ายทางความรู้ โดยถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากฝึกอบรมไปยังครอบครัว และคนในหมู่บ้านเพื่อสร้างความเข้มแข็งในอาชีพร่วมกัน หากวิเคราะห์เชิงลึกของผู้เข้ารับการอบรม จะเห็นว่า สามารถเพิ่มศักยภาพในการเป็นทุนมนุษย์ , การเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ , การสร้างอาชีพเสริมให้กลายเป็นอาชีพหลักได้ , ผู้เรียนสามารถสร้างเครือข่ายในการถ่ายทอดวิชาที่อบรมให้กับครอบครัวและคนใกล้ชิดได้ , ผู้เรียนมีช่องทางเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ นำไปพัฒนาตนเองได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ดร. จิดาภา ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในโครงการต้นกล้าอาชีพ ที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ยกตัวอย่างต้นกล้าปกติ หรือกลุ่มผู้ว่างงาน ที่ประสบความสำเร็จจนสามารถสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่เห็นผลจริง คือ คุณปวีณา เฉลิมพงศ์ จากจังหวัดนครราชสีมา ที่จากเดิมตกงานไม่มีรายได้ เข้ามาฝึกอบรมอาชีพศิลปะประดิษฐ์ การจัดดอกไม้สดในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว โดยไม่มีความรู้ด้านจัดดอกไม้เลย
กระทั่งเข้ามาฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว นำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ประยุกต์นำวัสดุในท้องถิ่น อย่างเช่น ฟางข้าว หญ้าคา อ้อ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการจัดดอกไม้ กระทั่งเกิดรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว มีเงินออมและมีความสามารถในการชำระหนี้สิน ซึ่งปัจจุบันได้ประกอบอาชีพจัดดอกไม้ และทำดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นอาชีพหลัก รวมถึงยังนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดต่อให้กับคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน และคนในชุมชน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คุณเทวาพร แก้วจันลา อาชีพเดิมแม่บ้าน และเกษตรกร จากจังหวัดมหาสารคาม ไม่มีรายได้ประจำเป็นของตัวเอง พึ่งพารายได้หลักจากสามีที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องทำงานต่างพื้นที่ ทำให้เกิดความคิดอยากช่วยครอบครัวหารายได้ จึงตัดสินใจเข้าอบรมต้นกล้าปกติ อบรมการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน วิสาหกิจชุมชน โดยได้รับความรู้ไปทำผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคในครอบครัว สามารถผลิตอาหารปลอดสารพิษ บริโภคเองในครัวเรือนและขายในชุมชน รวมถึงนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาหารขายในหมู่บ้านเวลากลางวัน นอกจากนี้ยังได้นำความรู้มาถ่ายทอดให้กับครอบครัวและผู้สนใจ
จากความรู้ดังกล่าว ทำให้เกิดรายได้ สามารถแบ่งเบาภาระจากสามี และยังมีความสมดุลในการดำรงชีวิต มีความพอเพียงในการดำรงชีวิต โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง จะเห็นว่า โครงการต้นกล้าอาชีพนอกเหนือจากเพิ่มศักยภาพทางความรู้ในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ว่างงานได้เห็นผลจริง