กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หรือ MPA NIDA แนะรัฐเร่งแก้โจทย์ 3 ปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทย ระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท ชูปฏิรูปภาคการเกษตร การศึกษา และมาตรการภาษี สร้างกลไกเพิ่มความเท่าเทียมกันในสังคม
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (MPA NIDA) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องของการกระจายรายได้ระหว่างสังคมเมืองกับสังคมในชนบทมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ต่อคนมีความแตกต่างกันมาก โดยรายได้ต่อคนในกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี2551ที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสน3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี ขณะที่จังหวัดหนองบัวลำภู กลับมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเพียง 3 หมื่นบาท หรือแตกต่างกันถึง 11 เท่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมเมืองกับสังคมชนบทได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ภาครัฐจึงต้องเร่งปฏิรูปภาคการเกษตร รวมทั้งกระจายการศึกษาให้ทั่วถึง และมีมาตรการภาษีสำหรับนำไปช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท โดยในส่วนของภาคการเกษตร ภาครัฐต้องเข้าไปให้ความรู้ในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น รวมถึงการหาตลาดสินค้าการเกษตรให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้พืชผลราคาสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น รายได้ของเกษตรกรมากขึ้น ก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และยังช่วยในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของไทยอีกด้วย
“ที่ผ่านมา รัฐบาลส่วนใหญ่ของไทย มักมองข้ามการแก้ปัญหาการเกษตรของไทยที่เป็นรากฐานของประชาชนอย่างจริงจัง เพราะการแก้ปัญหาในภาคการเกษตรนั้นจะต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้รัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารประเทศหันไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมมากกว่า เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การปฎิรูปภาคการเกษตรของไทยจึงไม่ได้รับความสำคัญ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในภาคการเกษตรต้องต่อสู้ช่วยเหลือตนเองมาโดยตลอด และกลายเป็นปัญหาที่ยังคงรอการแก้ไข ทั้งเรื่องของการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงหาตลาดเพื่อกระจายสินค้าด้วยตัวเอง” รศ.ดร.มนตรี กล่าว
ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA NIDA กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังต้องเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนในชนบทอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างอาชีพ หารายได้เลี้ยงดูตัวเอง นอกจากนี้ ภาครัฐอาจใช้กลไกทางด้านมาตรการภาษีและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้ามาช่วยสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เช่น การนำเงินภาษีมาดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการให้มากขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการสร้างโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เท่าเทียมกัน โดยสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินของภาครัฐได้ง่ายขึ้น และคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าผู้มีรายได้สูง ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และยังช่วยสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
(ในนามหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์)
พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 02-248-7967-8 ต่อ 118, 08-1929-8864
Email address : c_mastermind@hotmail.com