ฟิทช์คงอันดับเครดิตบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร หลังจากการประกาศแผนการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2010 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term rating) ที่ ‘F2(tha)’ ของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ ภัทร หลังจากที่บริษัทได้ประกาศแผนการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัท ซึ่งอาจทำให้มีการโอนกลุ่มธุรกิจด้านการลงทุนของภัทรไปยังบริษัทโฮลดิ้งที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ อันดับเครดิตของภัทรสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจวานิชธนกิจและในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลัก-ทรัพย์ สำหรับกลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนบุคคลรายใหญ่ (high net worth clients) รวมทั้งระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง สภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงของบริษัท และการที่บริษัทไม่มีหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน แม้ว่าการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัทอาจส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงเนื่องจากรายได้จากธุรกิจด้านการลงทุนจะไม่ถูกนำมารวมเป็นรายได้ของบริษัท แต่ปัจจัยดังกล่าวจะได้รับการชดเชยในรูปของความเสี่ยงที่ลดลง อย่างไรก็ตามหากพิจารณาโดยรวมทั้งกลุ่ม ความเสี่ยงยังคงอยู่ในระดับเดิม ตามแผนการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัท บริษัทโฮลดิ้งซึ่งเป็นบริษัทมหาชนได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำการเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของภัทร โดยจะเป็นการแลกเปลี่ยนหุ้นสามัญเดิมของภัทรกับหุ้นสามัญที่ออกใหม่โดยบริษัทโฮลดิ้งในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ในกรณีที่บริษัทโฮลดิ้งสามารถซื้อหุ้นของภัทรได้อย่างน้อย 75% ของหุ้นสามัญทั้งหมดของภัทรหุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้งจะถูกนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) แทนหุ้นสามัญของภัทร ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตาม การทำรายการดังกล่าวจะถูกยกเลิกหากบริษัทโฮลดิ้งซื้อหุ้นสามัญได้ต่ำกว่า 75% ของหุ้นสามัญทั้งหมดของภัทร ภายหลังเสร็จสิ้นการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 หลักทรัพย์ภายใต้กลุ่มธุรกิจด้านการลงทุนของภัทร ซึ่งมีมูลค่า 1.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 จะถูกโอนขายให้กับบริษัทโฮลดิ้ง แต่ทั้งนี้แหล่งเงินทุนที่ใช้ในการซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวจะมาจากเงินกู้จากภัทร แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของภัทร สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเงินกองทุนและสภาพคล่องที่สูงของบริษัท อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทอาจผันผวนตามสภาวะและมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้น ทั้งนี้ยังมีความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่อาจอ่อนแออย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงอย่างมาก นอกจากนั้นหากบริษัทมีการขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ธุรกิจตราสารอนุพันธ์ และธุรกิจการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อผลกำไรของบริษัท (Proprietary trading) อาจส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามภายหลังจากการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัท ความเสี่ยงที่เกิดจากธุรกิจการลงทุนในหลักทรัพย์ระยะยาวเพื่อผลกำไรของบริษัทจะถูกโอนไปยังบริษัทโฮลดิ้ง นอกจากนี้ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาการให้บริการทางธุรกิจระหว่างบริษัทกับ เมอร์ริล ลินช์ (หรือในปัจจุบัน คือ Banc of America Securities — Merrill Lynch (BAS-ML)) ก็อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน ภัทรประกาศกำไรสุทธิ 425.9 ล้านบาท (207.3 ล้านบาทในปี 2551) ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกำไรจากเงินลงทุน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2552 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นปรับตัวดีขึ้นเช่นกันเป็น 8.5% และ 13.7% ตามลำดับ ในปี 2552 (4.2% และ 6.8% ในปี 2551) อย่างไรก็ตามรายได้หลักจากธุรกิจหลักทรัพย์ของภัทร (51% ของรายได้รวม) ลดลงเป็น 700.2 ล้านบาท ในปี 2552 (ลดลง 22% จากปี 2551) เนื่องจากปริมาณการซื้อขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของภัทรปรับตัวลดลงเป็น 4.6% ในปี 2552 (อันดับที่ 6 ในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์) จาก 6% ในปี 2551 (อันดับที่ 2 ในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์) สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ผลการดำเนินงานของภัทรยังคงแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ 126.5 ล้านบาท (กำไรสุทธิ 35.7 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2552) ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากและกำไรจากเงินลงทุนที่สูงขึ้น หนี้สินส่วนใหญ่ของภัทรเป็นเจ้าหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งคิดเป็น 23% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2552 อัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio หรือ NCR) ของภัทร ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 145% ณ สิ้นปี 2552 เทียบกับเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยต้องดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิไว้ไม่น้อยกว่า 7% แม้ว่าเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของภัทรอาจปรับตัวลดลงประมาณ 50 จุดจากร้อยละของอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ เนื่องจากการให้เงินกู้แก่บริษัทโฮลดิ้ง แต่ก็คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของภัทรไม่น่าจะได้รับผลกระทบ โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับ 58.4% ณ สิ้นปี 2552 ภัทรดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2517 แต่บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการแยกเฉพาะธุรกิจหลักทรัพย์ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในปี 2540 ปัจจุบันกลุ่มผู้บริหารของบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 36.7% โดยเป็นการถือหุ้นผ่านบริษัทโฮลดิ้ง ทั้งนี้ภัทรเป็นบริษัทชั้นนำในด้านวานิชธนกิจในประเทศไทย หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทนี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institutions Rating Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 Rating Criteria For Securities Firms ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ติดต่อ พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4761/4759

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ