กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สนช.
คณะกรรมาธิการ สนช. 2 คณะ เยี่ยมชมการดำเนินงาน กฟผ. แม่เมาะพร้อมรับฟังข้อเท็จจริง ด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน
วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2550) คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมาธิการฯ และคณะกรรมาธิการพลังงาน สนช. นำโดยนายสมโภชน์ กาญจนาภรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน และพลโทจิรเดช คชรัตน์ แม่ทัพภาค 3 ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการฯ เพื่อเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ โดยมีนายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. และผู้บริหารระดับสูงให้การต้อนรับ
นายไกรสีห์ กรรณสูต กล่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความสนใจ ในการดำเนินงานด้านต่างๆ ทั้งด้านการทำเหมือง การผลิตไฟฟ้า ตลอดจนด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ของ กฟผ. แม่เมาะ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีต้นทุนต่ำ ช่วยให้รักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี ซึ่ง กฟผ. พร้อมนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการเยี่ยมชมครั้งนี้มาปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง กล่าวว่า เป็นการมารับทราบข้อมูลและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ เพื่อประกอบการนำเสนอรัฐบาล รวมทั้งในการพิจารณากฎหมายและประเด็นปัญหาต่างๆ ของ สนช. ซึ่งจากข้อมูลเห็นว่า ในภาพรวม กฟผ. มีการบริหารจัดการและสภาพแวดล้อมที่ดี โรงไฟฟ้าและเหมืองสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้
“ในด้านชุมชน กฟผ. ให้ความสำคัญและแบกรับภาระหน้าที่ไว้มาก ทำให้ประชาชนอำเภอแม่เมาะมีสวัสดิการที่ดี แต่ปัญหาเรื่องการอพยพราษฎรมีความซับซ้อน ต้องดูผลกระทบรอบด้าน ซึ่งจะต้องรับฟังจากทุกฝ่าย และมีการชี้แจงอย่างเปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไป”
ด้านนายสมโภชน์ กาญจนาภรณ์ กล่าวว่า การมาเยี่ยมชมครั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้ข้อมูลที่ชัดเจน และเห็นว่าโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่น และสามารถอยู่ด้วยกันได้กับชุมชน ซึ่งในต่างประเทศที่เจริญแล้ว ชุมชนกับโรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทำให้มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ประชาชนก็จะมีรายได้ตามมา พร้อมทั้งเชื่อมั่นในขีดความสามารถของ กฟผ. ต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้ดีตลอดไปได้
กฟผ. แม่เมาะ มีกำลังผลิต 2,400 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 12 ของกำลังการผลิตของประเทศ มีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำ หรือ 1 ใน 3 ของการผลิตด้วยก๊าซธรรมชาติ และ 1 ใน 8 ของการผลิตด้วยน้ำมันเตา ทำให้ประเทศสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ปีละกว่า 58,650 ล้านบาท
ในด้านการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้มีการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งด้านฝุ่น ก๊าซ เสียง และน้ำจากโรงไฟฟ้าและเหมือง ตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ โดยติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และระบบเผาไหม้ควบคุมไนโตรเจนออกไซด์ โดยค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่วัดได้เฉลี่ยรายปีต่ำกว่า 2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในกรุงเทพฯ วัดได้ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยที่มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษไม่เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร