กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) ได้นำผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและธุรกิจท่องเที่ยวไทย เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาหารือทางออกของวิกฤตการณ์ท่องเที่ยวไทย ณ ห้องประชุม ชั้น 3 ตึกเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553
นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอสรุปมาตรการหลักในการเยียวยาและฟื้นฟูกู้วิกฤตด้านการท่องเที่ยว อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ใน 3 มาตรการหลักคือ 1)มาตรการเสริมสร้างสภาพคล่องของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว 2)มาตรการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว 3)มาตรการส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยว เสนอผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และครม.ได้อนุมัติหลักการในบางประเด็นที่เสนอเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและธุรกิจท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ ค่อยข้างไม่พึงพอใจกับมติครม. เพราะไม่เป็นไปตามความต้องการที่ได้เสนอผ่านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดังนั้นอยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น ตามที่ได้เสนอต่อที่ประชุมครม. และต้องการพบปรึกษาหารือ และนำเสนอปัญหาด้านการท่องเที่ยวไทยที่เร่งด่วน กับนายกรัฐมนตรีโดยตรง ดังนั้นจึงได้แจ้งให้ผู้ว่าการการท่อง เที่ยวแห่งประเทศไทย ทำหนังสือเชิญประชุมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนำเข้าพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำเที่ยวไทย-จีน สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย และสมาคมสปาแห่งประเทศไทย
นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและธุรกิจท่องเที่ยวไทย ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรี ดังนี้ สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว เสนอให้อนุมัติให้วงเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก 10,000 ล้านบาท ขอให้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติลง 50% และขอให้นายกรัฐมนตรี เป็น Presenter การท่องเที่ยวของประเทศไทยผ่านทางสื่อต่างๆของ ททท. สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เสนอให้จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์มัคคุเทศก์อาชีพ โดยให้รัฐประเดิมทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป และขอให้จัดตั้งสภามัคคุเทศก์อาชีพ สมาคมโรงแรมไทย เสนอให้อนุมัติให้วงเงินกู้แก่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 10,000 ล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท ขอให้ชะลอการเก็บเงินกู้/สินเชื่อในระยะเวลา 6 เดือน ทั้งผู้ประกอบการและพนักงานลูกจ้างด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบฯ ขอให้ผ่อนผันการชำระภาษีโรงเรือนจนถึงสิ้นปี 2553 ส่วนในปี 2554 ขอให้ลดหย่อนค่าภาษีโรงเรือนให้ด้วย ขอให้มีการเร่งสร้างแบรนด์ไทยแลนด์ให้มีภาพลักษณ์ที่ดี(Thailand…Land of Smile) ขอให้ยกเลิกพรก.ฉุกเฉินโดยเร็ว และขอให้จัดอบรมต้นกล้าอาชีพโดยด่วน สมาคมสปาแห่งประเทศไทย เสนอให้มาตรการเยียวยาและมาตรการพลิกฟื้นต้องมีความสัมพันธ์กันและกระทำการโดยรวดเร็วที่สุด ขอให้ยกเว้นภาษีแก่ผู้ใช้บริการสปา ท่องเที่ยวและที่พักต่างๆ และขอให้ตั้งศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้ว่างงานด้านการท่องเที่ยว สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำเที่ยวไทย-จีน เสนอให้สร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวฯว่า ยอมรับว่าธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่หวังว่าเหตุการณ์ที่เป็นจริง หากสงบ สันติ และปรองดองกันได้ การท่องเที่ยวไทยน่าจะมีแนวโน้มที่ดีวันดีคืนต่อไป แต่สำหรับการแก้ไขปัญหาท่องเที่ยวไทยอยากให้เรียงลำดับความสำคัญของความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการท่องเที่ยว จำกัดพื้นที่ เป้าหมายที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ลักษณะใดควรจะเข้าหลักเกณฑ์ ลักษณะใดไม่เข้าหลักเกณฑ์ มีเหตุมีผลในการนำเสนอเหมือนการช่วยเหลือพื้นที่ราชประสงค์ ตามความจำเป็นและเร่งด่วน ในการดำรงชีพ ต่ออายุ ต่อชีวิต และสามารถตอบโจทย์แก่สังคมรอบข้างได้ อยากให้แบบฮาร์ดเซลล์(Hard Sales )มากกว่าซอล์ฟเซลล์(Soft Sales)โดยลงทุนไปน่าจะได้ผลตอบแทนมาให้เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในช่วงนี้ หรือโรดโชว์(Road Show) อาจจะสูญเงินเปล่าๆหากเหตุการณ์ในพื้นที่ยังไม่สงบ ดังนั้นการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน สามารถทำได้ หากพื้นที่ใด มีความพร้อมสามารถชี้แจงกับมวลชนในพื้นที่และ ออกมาประกาศว่าพื้นที่ของตนไม่มีการชุมนุม ทำลายบ้านเมืองอีก แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นอีก ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องรับผิดชอบในกรณีดังกล่าวในทุกประการ ซึ่งขอให้คนไทยช่วยกันชี้แจงถึงแผนปรองดอง และความสงบ สันติ ของประเทศไทยในขณะนี้ ควบคู่กับการใช้ พรก.ฉุกเฉิน ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยอย่าง Safety & Security ส่วนแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวในระยะยาว เป็นหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะต้องดำเนินการต่อไป
นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปิดท้ายว่า จากขอเสนอของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยดังกล่าว ได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ทำการรวบรวมเสนอรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ตรงเป้าตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีผ่านตนเอง เพื่อจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมครม.อย่างเป็นทางการ และหากสิ่งใด ที่เอกชนสามารถประสานงานระหว่างเอกชนได้ ในสายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน อาทิ ธุรกิจการบิน ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจนำเที่ยว ควรจะได้ดำเนินการโดยเร่งด่วน และน่าจะสามารถทำได้รวดเร็วกว่าภาครัฐด้วย เป็นไปในลักษณะของภาพไมโครของธุรกิจท่องเที่ยว(Micro Economic) แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะทำหน้าที่ลักษณะภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว(Macro Economic) ที่จะประสานสอดรับกันอย่างเป็นระบบต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 023560724 เปิ้ล