กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สำนักงานทรัพย์สินฯ
ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยืนยัน ”ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” สามารถใช้ได้กับกระแสเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน รวมทั้งการบริหารจัดการในธุรกิจต่าง ๆ ที่สามารถทำกำไรสูงสุดอย่างยืนยาว อยู่รอด และมีความสามารถในการแข่งขันด้วยปรัชญาดังกล่าว ยกตัวอย่างองค์กรใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) อยู่รอดได้ยาวนานด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ และนายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวในงานเสวนา ”การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง” โดยระบุว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คนไทยมาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งเป็นปรัชญาที่สามารถใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และไม่ขัดกับกระแสเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโลกาภิวัตน์ หรือการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะเรื่องของการทำกำไรสูงสุด เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้พูดถึงการทำกำไรสูงสุดที่อยู่อย่างยืนยาว
นายจิรายุ กล่าวว่า ในฐานะนายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ และในฐานะ ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ทั้ง 2 บริษัท อยู่ได้ยาวนาน เพราะใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาบริหารจัดการเช่นกัน ซึ่งหลักดังกล่าวได้มองถึงการลงทุนที่ไม่เกินตัว แต่สามารถลงทุนใหม่ได้ควบคู่กับการมีคุณธรรม จึงเป็นปรัชญาที่สามารถใช้ได้ทั้งบริษัททั่วไป และการพัฒนาประเทศ เป็นหลักการที่ไม่ขัดกับกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะเป็นการดำเนินการที่ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดย บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ได้ว่าจ้างบริษัท แม็คเคนซี แอนด์ คัมปานี ระดับโลก มาดูแลองค์กรว่าจะแข่งขันได้อย่างไร โดยวางแผนวิสัยทัศน์ถึงปี 2558 จะเป็นแผนที่นำไปสู่การมีความรู้ให้แข่งขันได้กับตลาดโลก และธนาคารไทยพาณิชย์ได้ว่าจ้าง บริษัท แกลลอป คอนซัลติ้ง มาศึกษา และเห็นว่าระดับการบริการลูกค้าของธนาคารในอดีตอยู่ในระดับที่ 4 ดังนั้น เมื่อธนาคารมีการสำรวจความเห็นของลูกค้า และนำมาปรับปรุงการบริการของสาขาต่าง ๆ ทำให้ระดับการบริการในหลายสาขาขยับดีขึ้น“การที่นิตยสารอีโคโนมิสต์ ระบุว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการถอยหลังเข้าคลอง อาจจะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าปรัชญานี้หมายถึงอะไร ซึ่งขณะนี้สหประชาชาติได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่ เพราะเป็นหลักที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอด มีกำไร ลงทุนไม่เกินตัว และมีธรรมาภิบาล ดูแลธุรกิจ พนักงาน ผู้ถือหุ้น และดูแลสังคมควบคู่กันไป ซึ่งที่ผ่านมา จากผลสำรวจความเห็นของสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) ที่สำรวจนักธุรกิจ 100 คน ต่างเห็นว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถส่งเสริมได้ทั้งการทำกำไรสูงสุด ความสามารถในการแข่งขัน และการก้าวทันโลกาภิวัตน์ การระดมทุนของบริษัท และทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทดีขึ้นด้วย” นายจิรายุ กล่าว
ด้านนายวรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยเรทติ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส หรือ ทริส กล่าวว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ขัดกับธุรกิจโลกปัจจุบัน และยังทำให้คุณภาพของบริษัทและการลงทุนดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังใช้ได้กับสังคมทุนนิยม เพราะการดำเนินธุรกิจต้องมีความสามารถในการแข่งขัน การปรับตัว และมีการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งจะต้องบริหารควบคู่กับการมีคุณธรรม เป็นภูมิคุ้มกันต่อองค์กร นั้น ๆ