ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘AA+(tha)’

ข่าวทั่วไป Tuesday March 6, 2007 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (ปัจจุบัน ฟิทช์จัดอันดับเครดิตปตท. ที่ระดับ “AA+(tha)” แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ครั้งที่ 1/2550 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2558 มูลค่า 6.0 พันล้านบาทที่ระดับ “AA+(tha)”
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของปตท.ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศไทย ความสำคัญของปตท.ในการสนองนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านพลังงานในประเทศไทย รวมถึงการกำหนดทิศทางการพัฒนากิจการพลังงานของประเทศ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การสนับสนุนจากรัฐบาล คณะผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดี และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ปตท.ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การจัดหาและการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศไทย เนื่องจากปตท.มีเครือข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศ และมีสัญญาการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ทุกรายในประเทศ นอกจากนี้การลงทุนที่สูงในการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้มีส่วนช่วยจำกัดการแข่งขันจากผู้ลงทุนรายใหม่อีกด้วย ปตท.ยังเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยโดยผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมากที่สุด และมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมสูงเป็นอันดับที่สองในประเทศไทย ปตท.ยังเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด และเป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ในธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็นธุรกิจที่สำคัญสำหรับปตท.ในการสร้างกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) และยังสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างคงที่ โดยเป็นผลมาจากสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าและความผันผวนที่น้อยกว่าของราคาก๊าซธรรมชาติเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน
ในปี 2549 ปตท. มีอัตราการการเติบโตของ EBITDA ที่แข็งแกร่ง เพิ่มขึ้น 25.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.42 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและการควบรวมบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในขณะที่ EBITDA margin ของปตท. ลดลงมาที่ 11.8% ในปี 2549 จาก 12.3% ในปี 2548 อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้อัตราส่วนกำไรต่อราคาขายลดลง อัตราส่วนหนี้สินของปตท.ยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งโดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (Net Adjusted Debt/EBITDAR) อยู่ที่ 0.9 เท่าในปี 2549 (เทียบกับ 1.3 เท่าในปี 2548) และมีอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ 10.3 เท่า (เทียบกับ 11.1 เท่า ในปี 2548)
การเปิดใช้ท่อส่งก๊าซเส้นที่สามได้ล่าช้าออกไปเป็นในไตรมาสแรกของปี 2550 ในขณะที่กำหนดการเริ่มดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอาทิตย์ได้เลื่อนออกไปเป็นไตรมาสแรกของปี 2551 ความล่าช้าของแหล่งอาทิตย์ส่งผลต่ออัตราการเติบโตของรายได้ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในขณะที่การเลื่อนการเปิดใช้ท่อส่งก๊าซเส้นที่สาม รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการเลื่อนการปรับขึ้นค่าผ่านท่อออกไปน่าจะส่งผลให้ประมาณการอัตราการเติบโตของรายได้ของธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติลดลงจากประมาณการที่ทำไว้เมื่อปีที่ผ่านมา
อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงแผนการลงทุนในอนาคตของปตท.ที่มีขนาดใหญ่ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบและทางด้านการเมือง ปตท. ประกาศแผนการลงทุน 5 ปีในโครงการต่างๆ มูลค่า 2.1 แสนล้านบาทในช่วงปี 2550 ถึง 2554 โดยได้มีการปรับเพิ่มการลงทุนในช่วงปี 2550 ถึง 2553 จากแผนเดิมประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มการลงทุนในการก่อสร้างโรงแยกก๊าซโรงที่เจ็ด การปรับเพิ่มเงินลงทุนในโครงการต่างๆ และการเลื่อนการใช้จ่ายเงินในโครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่สามเนื่องจากความล่าช้า การลงทุนที่สูงอย่างต่อเนื่องน่าจะทำให้ภาระหนี้สินสุทธิของปตท.เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของบริษัทน่าจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2.0 เท่าของ EBITDA
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, วสันต์ ผลเจริญ, Vincent Milton +662 655 4755

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ