กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--กรมทะเล
นายสมเกียรติ ขอเกียรติวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสมุทรศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า อุณหภูมิสูงสุดปกติของน้ำทะเลจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม — เมษายน ประมาณ 30 องศาเซลเซียส จากนั้นอุณหภูมิจะลดลงจนถึง 27 องศาเซลเซียสในช่วงปลายปี แต่จากเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 32 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ทะเลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเกิดปะการังฟอกขาว แพลงก์ตอนบลูม การสะพรั่งของสาหร่าย การตายของตัวอ่อนสัตว์ทะเล เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากอุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มลดลงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ได้มีการสำรวจทางทะเลและชายฝั่ง และได้รับรายงานว่าพบปะการังตายจำนวนหนึ่งแล้วบริเวณน้ำตื้นของเกาะภูเก็ต จึงพอจะสรุปได้ว่าบริเวณที่ปะการังตายก็จะทำให้ตัวอ่อนของสัตว์น้ำตายเช่นกัน เนื่องจากแนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนสัตว์น้ำและเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ระบบนิเวศใต้ทะเล
“อุณหภูมิของน้ำที่สูงอย่างผิดปกติและกินเวลานานหลายอาทิตย์ย่อมทำให้ปะการังในระดับความลึกไม่เกิน 15 เมตรได้รับความเสียหายจนถึงขั้นตายได้ และจะทำให้ตัวอ่อนสัตว์น้ำ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตหลากชนิดที่อาศัยตามแนวปะการังตายไปด้วย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชากรสัตว์น้ำที่จะเติบโตมาทดแทนในอนาคต และแน่นอนว่าอาชีพประมงก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน”
นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า การศึกษาติดตามปัจจัยสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของทรัพยากรชายฝั่ง จะทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่ช่วยให้เข้าใจสถานะสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง และเป็นข้อมูลที่จะใช้เป็นแนวทางประกอบการจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งหลายพื้นที่เป็นแหล่งทำการประมง หรือบางพื้นที่มีทรัพยากรหญ้าทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางด้านฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบใด ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของชาวบ้านที่ทำมาหาเลี้ยงชีพกับทรัพยากรชายฝั่งและการท่องเที่ยวได้ จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้มีการรับมือกับสถานการณ์สัตว์น้ำที่อาจลดลงในอนาคต
ทั้งนี้ จากรายงานที่มีการสำรวจทั่วโลก พบว่าพื้นที่ชายฝั่งที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หรือหลาย ๆ พื้นที่ที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลักนั้น มักพบปัญหาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณสารอาหารตามแนวชายฝั่งอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดปัญหาการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชหรือสาหร่ายตามมา ซึ่งการสะพรั่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล เช่น ปะการังและหญ้าทะเลด้วยเช่นกัน