กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,149 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 94.7ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน 2553 ที่ระดับ 99.3 ทั้งนี้เป็นการปรับลดลงในองค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สาเหตุมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลประกาศวันหยุดราชการพิเศษหนึ่งสัปดาห์ ทำให้ภาคธุรกิจเอกชน และผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายย่อย มีการหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงานลง เป็นผลให้ปริมาณการผลิตลดลง ทั้งนี้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้กระทบกับธรุกิจภายในประเทศเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมขนาดย่อมปรับลดลงจากระดับ 94.0 มาอยู่ที่ระดับ 81.6 ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยองค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและยอดขายในต่างประเทศ ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นด้านการส่งออก
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง จากระดับ 107.4 ในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 105.0 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ดัชนีความเชื่อมั่นของ อุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรม ขนาดย่อม ปรับลดลงจากระดับ ระดับ 94.0 ในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 81.6 ในเดือนพฤษภาคม สาเหตุสำคัญมาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีทุกตัวปรับตัวลดลง ยกเว้น ดัชนีต้นทุนประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ แกรนิตและหินอ่อน หลังคาและอุปกรณ์ สมุนไพร และหัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจาก 98.5 ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ระดับ 93.5 ในเดือนพฤษภาคม โดยมีองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง รองเท้า การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อลูมิเนียม และพลาสติก
และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.4 ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ระดับ 114.0 มีองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ น้ำตาล เคมี และโรงกลั่น น้ำมันปิโตรเลียม
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาคปรับตัวลดลงในภาคภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในขณะที่ภาคกลางปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย ภาคเหนือ ปรับตัวลดลงจาก ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และผลประกอบการ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อนมียอดขายลดลงในเดือนนี้เนื่องจากการชะลอการของโครงการก่อสร้างต่างๆ อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรมมียอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้นักท่องเที่ยวลดลง และอุตสาหกรรมสำคัญในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เฟอร์นิเจอร์ อาหาร ก๊าซ และหัตถอุตสาหกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีปรับตัวปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยมีอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเซรามิกมียอดขายในประเทศลดลง อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เซรามิก หลังคาและอุปกรณ์ สิ่งทอ เยื่อและกระดาษ ส่วนภาคตะวันออก ปรับตัวลดลงเนื่องจาก ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและต้นทุนประกอบการ โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ปิโตรเคมี ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาคใต้ ปรับตัวปรับตัวลดลงจาก ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางมียอดขายในประเทศลดลง อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้, ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น, เทคโนโลยีชีวภาพ เฟอร์เนิเจอร์ ด้านภาคกลาง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น จากยอดขาย ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งพบว่ายอดขายกระจกแผ่นเรียบในอุตสาหกรรมแก้วและกระจกมียอดขายในประเทศญี่ปุ่นและจีนเพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์ประเภทแก้วเจียระไนและขวดคริสตัล มียอดขายในอเมริกาเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องประดับ มียอดการส่งออกในตลาดหลักคือ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี แก้วและกระจก เครื่องประดับ และผู้ผลิตไฟฟ้า
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลง และตลาดต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ลดลงจากระดับ 97.8 ในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 92.3 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งมาจากการปรับลดลงในทุกองค์ประกอบดัชนี ยกเว้นต้นทุนประกอบการ โดยอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ ก๊าซ แกรนิตและหินอ่อน เคมี เครื่องจักรกลการเกษตร การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ เทคโนโลยีชีวภาพ สมุนไพร และปูนซีเมนต์ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับเพิ่มจาก 106.0 ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ระดับ 112.8 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งมาจากการปรับเพิ่มในองค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ส่วนอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม และเคมี
สำหรับด?านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นทางการเมือง ที่เกิดความรุนแรงขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากความพยายามเข้าขอพื้นที่คืนของรัฐบาลจากกลุ่มผู้ชุมนุม และทำให้การชุมนุมสิ้นสุดลง โดยมีผู้ประกอบการมีความกังวลต่อปัจจัยการเมืองจากร้อยละ 76.0 ลดลงเป็นร้อยละ 71.7 ในเดือนพฤษภาคม ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่ลดลง แต่ระดับที่สูงกว่าร้อยละ 70 ก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ด้านความกังวลเรื่องระดับราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยลดลง ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับระดับราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลง ในขณะที่มีความกังวลในสภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากตลาดหุ้นปรับตัวลดลง สืบเนื่องมาจากความกังวลปัญหาหนี้สาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการหนี้สาธารณะไม่ให้ขยายตัวและลุกลามไปยังประเทศกลุ่มเงินสกุลยูโร ทั้งนี้นักวิเคราะห์ประเมินว่าแนวนโยบายในการช่วยเหลือทางการเงินที่ประกาศออกมานั้นเป็นการแก้ปัญหา สภาพคล่อง และมองว่าเป็นการแก้ปัญหาส่วนเดียว คือซื้อเวลาให้รัฐบาลที่มีปัญหา แต่ไม่แน่ใจว่าในระหว่างที่ซื้อเวลาอยู่นั้น ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวจะจัดการได้มากน้อยและเด็ดขาดเพียงใด ซึ่งทำให้นักลงทุนทั่วโลกยังคงมีความกังวลในปัญหาหนี้สินของกรีซอยู่
และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเร่งแก้ไขปัญหามาบตาพุด ให้การสนับสนุนการช่วยเหลือทางการเงินด้วยการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะธนาคารของภาครัฐ ควรมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และควรเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยสนับสนุนการพัฒนาแรงงานให้เพียงพอกับความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรมหรือสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าวด้วยการลดขั้นตอนการดำเนินการ