กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--ดาวิน ชอยส์
การฝังเข็มเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สัตวแพทย์ใช้ในการรักษาสัตว์ โดยใช้เข็มในการกระตุ้นจุดเฉพาะบนร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้จุดต่างๆมีการเปลี่ยนสภาพทางเคมีและกระตุ้นระบบต่างๆ ให้ร่างกายมีการเยียวยาตัวมันเองจนหายและทำงานได้ปกติ ทั้งนี้การฝังเข็มได้มีการรับรองจากสัตวแพทย์สมาคมแห่งอเมริกา (AVMA) ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาสัตว์ (Alternative Treatment)
การบำบัดด้วยการฝังเข็มจะช่วยปรับสมดุลของพลังงาน เพื่อที่จะไปแก้ไขการไหลเวียนของพลังงานให้ราบรื่นและเยียวยาตัวเองได้ในเวลาต่อมา ปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าการฝังเข็มมีผลต่อระบบร่างกายที่สำคัญทั้งหมด โดยจะทำงานผ่านระบบประสาทส่วนกลางซึ่งจะไปมีผลต่อกระดูกกล้ามเนื้อ ฮอร์โมนหัวใจ และระบบไหลเวียนเลือด
การฝังเข็มเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการรักษาทางยา และการผ่าตัด ในโลกตะวันตกจะเลือกการฝังเข็มเป็นทางเลือกในกรณีที่ยาอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือสัตว์ป่วยไม่สามารถกินยาได้ ส่วนในประเทศจีนจะเลือกใช้วิธีฝังเข็มเป็นอันดับแรกก่อนการรักษาตามแบบแผนทั่วๆไป หรือการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยถือหลักการรักษาทั่วตัวไม่ใช่แค่การรักษาเฉพาะส่วน
โรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม
การรักษาด้วยการฝังเข็มจะช่วยแก้ปัญหาระบบกระดูก กล้ามเนื้อ เช่น ข้อสะโพกเสื่อม ข้ออักเสบ โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม การบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ช่วยในการแก้ปัญหา เช่น lick granuloma หรือผิวหนังอักเสบที่เกิดจากเส้นประสาทรับความรู้สึกไม่ทำงาน ช่วยแก้ไขระบบประสาทผิดปกติ เช่น การบาดเจ็บที่ทำให้ตัวสัตว์ไม่มีความรู้สึก อัมพาต ลดปวด (ร่วมกันและอาจใช้ก่อนหรือหลังการผ่าตัด ในกรณีไม่ต้องการใช้ยา) โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจมีปัญหา เช่น โรคหอบหืดในแมว นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือบกพร่อง และสภาพอื่นๆที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน เช่น โรคต่อมไร้ท่อ นิ่วหรือ ทางเดินปัสสาวะต่างๆ โรคตา เป็นต้น
ขั้นตอนการฝังเข็ม
การฝังเข็ม โดยส่วนมากจะฝังในสัตว์เลี้ยงที่มีอาการทางระบบประสาท เพราะการฝังเข็มจะช่วยในการไหลเวียนของเลือด และกระตุ้นระบบเส้นประสาท ทำให้มีสารและฮอร์โมนออกจากปมประสาท เช่น เอนโดฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยระงับความเจ็บปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ กระตุ้นระบบประสาท และกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย หลังจากที่มีการฝังเข็มลงบนตัวสัตว์เลี้ยงแล้ว จะต้องรอเวลาประมาณ 10 นาทีเพื่อให้ร่างกายมีการรับรู้ว่ากำลังมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา และเป็นการกระตุ้นระบบความรู้สึกด้วย ทั้งนี้จุดที่มีการฝังเข็มจะฝังตรงจุดที่ระบบเส้นประสาทมีการเชื่อมโยงกัน
ขั้นตอนต่อไปหลังจากฝังเข็มเรียบร้อยแล้ว จะมีการทำ Aquapuncture ซึ่งเป็นการฉีดสารน้ำ เพื่อไปกระตุ้นให้ร่างกายมีการซ่อมแซมตัวมันเอง อาทิเช่น วิตามิน ยาชา น้ำเกลือ หรือ น้ำกลั่น โดยส่วนมากจะใช้น้ำกลั่นเนื่องจากจะไม่มีตะกอนของสารตกค้างอยู่ หากฉีดด้วยวิตามิน จะทำให้เหลือตะกอนของยาตกค้างอยู่ ซึ่งจะทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการปวดได้ แต่สามารถแก้อาการปวดได้ด้วยการนวดเพื่อให้สารตกค้างกระจายตัว
กระบวนการทำงานของการฝังเข็ม
การฝังเข็มจะเพิ่มไหลเวียนทำให้มีสารและฮอร์โมนออกจากปมประสาท เช่น เอนโดฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากร่างกายที่ใช้ระงับความเจ็บปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อกระตุ้นระบบประสาท และกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายรวมถึงผลอื่นๆ ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจตามหลักปรัชญาของจีนที่ว่า “โลกเกิดจากความไม่สมดุลของพลังงานในร่างกาย” พลังงานของชีวิต (live energy) จะหมุนเวียนตามช่องทางหมุนเวียน (Meridian or Channel) โดยมีอวัยวะสำคัญต่างๆเป็นตัวสร้างพลังงาน เรียกว่า ฉี่ หรือ ชี่ (Chi/Qi) ให้ไหลเวียนไปถ้า Qi ไหลเวียนได้อย่างราบรื่นสัตว์จะมีสุขภาพดี การบำบัดด้วยการฝังเข็มจะช่วยปรับสมดุลของพลังงาน เพื่อที่จะไปแก้ไขการไหลเวียนของพลังงานให้ราบรื่นและเยียวยาตัวเองได้ในเวลาต่อมา
การฝังเข็มไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
การฝังเข็มเป็นหนึ่งในการบำบัดที่มีความปลอดภัยที่สุด มีผลข้างเคียงน้อยมากเพราะไม่มีการทำลายเนื้อเยื่อ อาจมีบ้างที่สัตว์มีอาการเลวลงชั่วคราวก่อนที่จะดีขึ้น เพราะการฝังเข็มจะทำให้เกิดสมดุลระหว่างระบบร่างกายที่จะเยียวยาตัวเองโดยไม่ใส่สารเคมี หรือยาเข้าไปในร่างกาย ทำให้มีโอกาสน้อยมากที่เกิดผลแทรกซ้อนจากสารเหล่านี้ การฝังเข็มมักจะใช้เข็มที่เล็กมากและฆ่าเชื้อแล้ว เมื่อเข็มเข้าที่แล้วสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะรู้สึกผ่อนคลายและมักจะรู้สึกง่วงนอนระหว่างทำการรักษา นอกจากนี้ จะมีการลดการใช้กลุ่มยาสเตียรอยด์ เพราะหากในร่างกายมีสารสเตียรอยด์อยู่ แล้วทำการฝังเข็มจะไม่เป็นผลดีต่อร่างกายของสัตว์เลี้ยง อาจจะทำให้อาการกำเริบได้
การเตรียมตัวก่อนการฝังเข็มและระยะเวลาที่ใช้ในการรักษา
ก่อนที่จะมีการฝังเข็ม สัตว์เลี้ยงควรได้รับการตรวจเรื่องโรคหัวใจ กระดูกสันหลัง กระดูกหรือสะโพกว่ามีการแตกหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันโรคแอบแฝง ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจ และพบว่าสัตว์เลี้ยงมีโรค การฝังเข็มก็จะเป็นอันตรายได้ เนื่องจากการฝังเข็มอาจจะไปกระตุ้นให้อาการเลวร้ายขึ้น
โดยปกติสัตวแพทย์จะนัดสัตว์ป่วยมาทำการฝังเข็มสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ ซึ่งปฏิกิริยาหลังการฝังเข็มที่เห็นผลว่าดีขึ้นมักจะพบภายในการรักษาครั้งที่ 3-4 หรืออาจดีขึ้นก่อนหน้านั้นขึ้นอยู่กับสภาพและอาการของสัตว์เลี้ยงที่มารักษา สัตวแพทย์จึงแนะนำให้สัตว์ป่วยเข้าพบหมอให้ได้อย่างน้อย 3 ครั้ง และถึงแม้ว่าการฝังเข็มจะไม่ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายเหมือนกับการรักษาประเภทอื่นๆ แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้จากโรคทุกชนิดเช่นกัน
ประโยชน์ของการฝังเข็ม
การฝังเข็มในสัตวเลี้ยง ทำให้ลดการใช้ยาหลายประเภทและกระตุ้นให้ร่างกายมีการซ่อมแซมตัวเอง ทำให้ไม่ต้องได้รับปริมาณยาที่เกินความจำเป็น ใช้ยาน้อย ลดกลุ่มยาสเตียรอยด์ ซึ่งมีผลทำให้ทานน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย กินจุ ทำให้ตัวบวม นอกจากนี้การฝังเข็มสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมาก จะช่วยทำให้กระชุ่มกระชวยขึ้น เนื่องจากเข็มจะไปช่วยกระตุ้นระบบประสาทให้มีการตื่นตัว ทำให้สัตว์เลี้ยงกลับมากระชุ่มกระชวยเหมือนวัยหนุ่มสาวอีกด้วย
คุณสุพรรณี วราศิริกุล เจ้าของ คาโต้ สุนัขพันธุ์ เฟรนซ์ บูลด็อก อายุ 2 ปี เพศเมีย
คุณสุพรรณี เปิดเผยว่า หลังจากที่เจ้าคาโต้อายุได้ 3 เดือน เจ้าคาโต้มีอาการเดินขาปัด จนถึงขั้นเดินลากขา จึงพาเจ้าคาโต้ไปปรึกษากับสัตวแพทย์ และทราบผลว่าเจ้าคาโต้มีโครงกระดูกผิดรูป และไม่สามารถรักษาให้หายได้เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ เมื่อเห็นว่าการรักษาด้วยแผนปัจจุบันไม่สามารถทำให้เจ้าคาโต้หายได้ ประกอบกับคุณสุพรรณีมีความคิดที่ว่าคนยังรักษาด้วยการฝังเข็มได้สุนัขก็น่าจะรักษาด้วยการฝังเข็มได้เช่นกัน จึงได้เข้ามาปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ และเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มเรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งผลของการรักษาเป็นที่น่าพอใจ และเจ้าคาโต้ก็สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้คุณสุพรรณีต้องให้ความร่วมมือกับคุณหมออย่างเคร่งครัดในการดูแลเจ้าคาโต้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย
คุณอัจฉรา หวังชูเชิดกุล เจ้าของ นาร่า สุนัขพันธุ์ เชาว์ เชาว์ อายุ 13 ปี
หลังจากที่คุณอัจฉรา เลี้ยงเจ้านาร่าจนอายุครบ 6 เดือน ก็สังเกตพบว่าเจ้านาร่ามีอาการปวดและไม่ยอมเดิน จึงพาไปพบสัตวแพท์และได้ทราบผลว่าเจ้านาร่าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม หลังจากที่พบสัตว์แพทย์ เจ้านาร่าได้รับการผ่าตัด 2 ครั้งแต่อาการของเจ้านาร่าไม่ดีขึ้นเลย ทั้งนี้ทางบ้านของคุณอัจฉราเดิมมีความเชื่อในเรื่องของการฝังเข็มอยู่แล้ว และได้ทราบว่าที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อมีสัตวแพทย์ทางต้านการฝังเข็มจึงพามารักษา ก่อนที่เจ้านาร่าจะเข้ารับการฝังเข็ม เจ้านาร่าจะขี้ระแวง ไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ เจ้าของเองก็ไม่สามารถอุ้มได้ มีอาการขี้หงุดหงิด เอาแต่ใจ แต่หลังจากที่ได้ฝังเข็มแล้ว เค้าสามารถเดินได้ถึงแม้จะไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่อารมณ์ของนาร่าดีขึ้น และสามารถเล่นกับเจ้าของ เป็นที่รักของคนทั้งบ้านจนถึงปัจจุบัน
การฝังเข็มจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาสัตว์เลี้ยงให้หายจากโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท สำหรับท่านใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยการฝังเข็ม สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ซอยทองหล่อ โทร. 0-2712-6301-4 สาขาลาดพร้าว โทร. 0-2934-1407-9 สาขาสิรินทร-ปิ่นเกล้า โทร.0-2433-7550-1 หรือติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่ www.thonglorpet.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณอรณัฐา สื่อมวลชนสัมพันธ์ บริษัท ดาวิน ชอยส์ จำกัด (ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์)
โทรศัพท์. 02 9600852-4, 081 351 5296 โทรสาร 02 9600853
e-mail: medias@darwinchoice.co.th , darwinchoice@yahoo.com
website: http://www.darwinchoice.co.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net