สถาบันปรีดี พนมยงค์ สรุปผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง“ข้อเสนอในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองเนื่องในโอกาสวันอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน”

ข่าวทั่วไป Friday June 18, 2010 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สถาบันปรีดี พนมยงค์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สรุปผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ข้อเสนอในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองเนื่องในโอกาส วันอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน” ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต และ กรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ คุณสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ แถลงข่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “ข้อเสนอในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองเนื่องในโอกาสวันอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน” ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ออกแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างประชาชน นักศึกษา นักธุรกิจและนักวิชาการ จำนวน 1,181 คน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และได้วิเคราะห์ผลสำรวจความคิดเห็นโดยแบ่งประชากรที่ทำสำรวจออกเป็น 4 กลุ่มได้ดังนี้ กลุ่มที่ 1 : กลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี กลุ่มที่ 2 : กลุ่มอายุน้อยกว่า 50 ปี กลุ่มที่ 3 : กลุ่มระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี กลุ่มที่ 4 : กลุ่มระดับการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรี และสูงกว่าขึ้นไป จากการสำรวจหัวข้อ ความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน พบว่า กลุ่มที่ 1 (100% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) ทราบถึงความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายนว่า เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ กลุ่มที่ 2 รับรู้เพียง (65 % ของแบบสอบถาม) แสดงให้เห็นว่า กลุ่มประชากรอายุมากกว่า 50 ปี มีการรับรู้เรื่องราวของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยมากกว่าอย่างมีนัยยสำคัญ นอกจากนี้ยังสะท้อนว่า การจัดการศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยยังไม่ครอบคลุมและดีพอ จึงทำให้กลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยไม่รับทราบถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการก่อกำเนิดประชาธิปไตยเมื่อ ๗๘ ปีที่แล้ว กลุ่มที่ 3 ( 58.29% ของแบบสอบถาม) กลุ่มที่ 4 (65.88%) จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ระดับการศึกษาไม่มีนัยยสำคัญมากนักต่อการรับรู้เรื่อง การอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย. กลุ่มที่ 1 (98.58%) รองลงมาคือกลุ่มที่ 4 (84.88%) ทราบว่าวันที่ 24 มิถุนายน เคยเป็นวันชาติของประเทศไทย ในขณะที่ กลุ่มที่ 3 (63.41%) ไม่ทราบว่าวันที่ 24 มิถุนายน เคยเป็นวันชาติของไทย กลุ่มที่ 4 (73.51%) เห็นว่าคณะราษฎรมีความสำคัญต่อพัฒนาการประชาธิปไตย รองลงมาคือ กลุ่มที่ 1 (48.82%) กลุ่มที่ 3 (48.05%) และ กลุ่มที่ 2 (45.99%) กลุ่มที่ 1 (95.26%) รองลงมาคือกลุ่มที่ 4 (82.11%) เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยมีส่วนช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะประชาธิปไตยมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ กลุ่มที่ 4 (76.84%) เห็นว่าการชุมนุมและเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คำถาม ทางออกของประเทศไทยจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (เรียงจาก 3 ลำดับแรก) กลุ่มที่ 1 1. บทบาทที่สร้างสรรค์ของสื่อมวลชน/ไม่เผยแพร่ข้อความยั่วยุ 2. ทำให้สังคมไทยเกิดความยุติธรรม 3. แก้ไขความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มที่ 2 1. แก้ไขความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม 2. ทำให้สังคมไทยเกิดความยุติธรรม 3. ทำให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คำถาม ท่านคิดว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจในเรื่องใดที่มีความสำคัญมากที่สุดในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองและสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม (เรียงจาก 3 ลำดับแรก) กลุ่มที่ 3 1. การกระจายรายได้และความมั่นคง 2. ระบบการจ้างงานและระบบสวัสดิการ 3. ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ กลุ่มที่ 4 1. การเข้าถึงปัจจุบันการผลิต (ที่ดิน/เงินทุน) 2. การกระจายรายได้และความมั่นคง 3. ระบบการจ้างงานและระบบสวัสดิการ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต และ กรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวสรุปและเสนอแนะในช่วงท้าย ดังมีประเด็นดังต่อไปนี้ ๑. รัฐบาลควรประกาศให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน กลับมาเป็นวันชาติอีกครั้งหนึ่งสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้มีวันชาติของไทย หรือ หากเห็นว่าควรเป็นวันอื่นก็สามารถร่วมกันพิจารณาได้จากหลายๆฝ่าย เพื่อกำหนดวันที่เหมาะสมและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศและของคนไทยทั้งประเทศ ให้เป็น วันชาติ ประเทศไทยจะได้มีวันชาติเหมือนประเทศอื่นๆ หลังจากถูกยกเลิกไปเมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว ๒. ต้องมีการปลูกฝังความรักชาติที่ถูกต้องและหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนผ่านบทเรียนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งการศึกษาในห้องเรียนและนอกห้องเรียน (ผ่านสื่อมวลชน) ๓. สนับสนุนแนวทางการดำเนินการให้เกิดสันติสุขและเสถียรภาพการเมืองโดยร่วมกันทุกภาคส่วนในสังคม ๔. การสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้มั่นคงจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายความมั่งคั่งให้ดีขึ้น ๕. การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติได้นั้น รัฐบาลต้องสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นก่อน เพราะความยุติธรรมจะเป็นพื้นฐานสำคัญของสันติสุข ขณะเดียวกัน ต้องจำกัดการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมและละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตยก่อน มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ขณะเดียวกัน ต้องแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและการเลือกปฏิบัติสองมาตรฐานให้ลดลง ๖. การปฏิรูปประเทศจะเกิดผลเป็นจริงได้ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วนทุกระดับ จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง สภาปฏิรูปประเทศไทย โดยให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงร้อยละ ๘๐ อีกร้อยละ ๒๐ ให้มาจากผู้แทนวิชาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิ ๗. ให้ สภาปฏิรูปประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในการพลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศและสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง โดยที่รัฐบาลอาจจะจุดกระแสเริ่มต้นในการปฏิรูปตัวเองก่อน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในหมู่นักการเมืองและข้าราชการระดับสูง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ