กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ก.พลังงาน
ก.พลังงาน ย้ำความสำคัญ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน เพื่อแยกอำนาจการกำกับดูแล ออกจากผู้ประกอบการ สร้างความเป็นธรรมสูงสุด ชู Energy Tax จัดสรรเงินคุ้มครองชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า รองรับการใช้ไฟฟรี และพัฒนาท้องถิ่นได้เต็มที่
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ถือว่าเป็นร่างกฎหมายสำคัญของประเทศ เพื่อแยกอำนาจการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการประกอบการ ออกจากกัน รวมถึงทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่ออุดหนุนค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และจะมีการจัดสรรเงินพัฒนาชุมชนให้แก่ท้องถิ่นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า หรือ Energy Tax โดยให้ผู้ดำเนินโครงการเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินประมาณ 1-3 ส.ต.ต่อหน่วย ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ หากเสีย Energy Tax ในอัตราเพียง 1 ส.ต. ต่อหน่วย จะได้เงินประมาณ 52 ล้านบาทต่อปี หากมีประชาชนอยู่บริเวณรอบโรงไฟฟ้า 20,000 ครัวเรือน หรือประชาชนประมาณ 100,000 คน แต่ละครัวเรือนอาจใช้ไฟฟ้าได้ฟรี 200 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งจะใช้เงิน 48 ล้านบาทต่อปี โดยยังจะเหลือเงินจาก Energy Tax จำนวน 4 ล้านบาทต่อปี ที่สามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่นในด้านอื่น ๆ ได้อีก
ในกรณีที่ เป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,400 เมกะวัตต์ และเก็บ Energy Tax ในอัตรา 3 ส.ต. ต่อหน่วย จะได้เงินสูงถึง 312 ล้านบาทต่อปี ก็จะสามารถครอบคลุมจำนวนครัวเรือนได้มากขึ้น รวมทั้งอาจจะมีผลประโยชน์แก่ประชาชนโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าได้มากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน ฉบับนี้ จะรองรับแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า นี้อย่างชัดเจน และสามารถบังคับใช้ได้กับโรงไฟฟ้าทุกประเภท แต่หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ทัน ในการประมูลผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) รอบใหม่ ก็จะกำหนดเข้าเป็นเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ต่อไป
โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกเวนคืนที่ดิน หรือรอนสิทธิ์ เพื่อสร้างโครงข่ายพลังงาน การโอนสิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันอำนาจเหล่านี้ อยู่ที่ผู้ประกอบการ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่งต่อไป จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเข้ามาเป็นผู้ดูแล การ
“แต่เดิมอำนาจการรอนสิทธิ์ เวนคืนขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ เมื่อประชาชนร้องเรียนขึ้นมา ก็ต้องวิ่งไปหาผู้ประกอบการ ซึ่งในบางกรณีอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร โดยต่อไปจะมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแล และทำหน้าที่นี้แทน จึงนับว่าเป็นมิติใหม่ ที่จะทำให้เกิดการแยกการใช้อำนาจรัฐ การกำกับดูแล ออกจากผู้ประกอบการอย่างแท้จริง” นายปิยสวัสดิ์กล่าว