เอ็นจีโอแนะปฏิรูปประเทศต้องแยกออกจากแผนปรองดอง

ข่าวทั่วไป Tuesday June 22, 2010 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เอ็นจีโอมองว่าการปฏิรูปเป็นการทำเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ภารกิจระยะยาวที่ต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ไขฟื้นฟูเร่งด่วน ขณะที่รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต มองสังคมแตกแยกมาก ปล่อยไว้ อนาคตคนไทยจะตายเร็วขึ้นเพราะความเครียด การแก้ปัญหาอาจใช้โมเดลจากส่วนภูมิภาค หรือชุมชน เสวนาราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 7/2553 หัวข้อ “กระบวนการเยียวยาและความเป็นธรรม” ในโครงการ “ร่วมปฏิรูปประเทศไทย” ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน ในฐานะหัวหน้าศูนย์เยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้สรุปการช่วยเหลือว่า ที่ผ่านมามีผู้ขอรับความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม — 18 มิถุนายน 2553 แล้ว 1,656 ราย ในจำนวนนี้ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 1,086 ราย ที่เหลือรอดำเนินการด้านเอกสาร ซึ่งในวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมจากเดิมอีก 33 ราย และบาดเจ็บอีก 402 ราย รวมเป็น 435 ราย ทั้งนี้ญาติผู้เสียชีวิตได้เงินช่วยเหลือ 400,000 บาท และบุคคลทุกขพลภาพ 200,000 บาท นอกจากนี้จะมีเงินช่วยเหลืออีกเดือนละ 1,000-3,000 บาท รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่บุตรของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กล่าวว่า ช่วงเดือนเมษาที่ผ่านมา มีคดีที่เกี่ยวข้อง กับ นปช. ฟ้องร้องหลายราย ส่วนใหญ่ฟ้องทางแพ่ง ด้านคดีอาญา เกี่ยวเนื่องกับการประกาศขอศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ). เช่น ออกจากเคหะสถานในช่วงเวลาประกาศเคอร์ฟิว เป็นต้น ทั้งนี้ การออกหมายจับคดีก่อการร้าย คิดว่ายังเก็บรวมรวมหลักฐานยังไม่เพียงพอ ก็ต้องไปหาหลักฐาน เพิ่มแต่สิทธิ์ขาด สำหรับการยื่นฟ้องอยู่ที่ เจ้าหน้าที่ ของดีเอสไอ แต่ทางเราเน้นสิทธิความเป็นมนุษย์ ที่ต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเต็มที่ และเน้นการปฏิบัติตามนิติธรรม ไม่ใช่นิติรัฐ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า“ประชาชนบางคนไม่มีอาการบาดเจ็บ แต่เสี่ยงต่อการเป็นโรคสุขภาพจิตมากกว่าผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ชุมนุม เพราะผลกระทบจากความรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นจากการสะสมและเกิดผลกระทบต่อพื้นฐานคุณธรรม โดยเฉพาะเมื่อชุมชนเกิดความไม่ไว้วางใจกัน สังคมมีความหวาดระแวง กลายเป็นปัญหาสำคัญคือเป็นผลกระทบต่อคุณธรรมประจำใจของทุกคนซึ่งจะจบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตรงนี้ด้วย” นพ.วชิระ กล่าวต่อไป “การเยียวยาเพื่อมุ่งสันติสุขมีความเป็นไปได้ แต่ควรทำด้านจิตใจมากกว่าป้องกันรักษา ซึ่งทำได้ง่ายมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าทุกคนเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งหรือไม่ว่ามีสาเหตุจาก อะไร เข้าถึงส่วนลึกของจิตใจมีองค์ความรู้ที่เหมาะสมและสามารถประยุกต์ได้กับ บริบทขอสังคมโยงสู่การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในมิติอื่น สังคมแตกแยกมากหากปล่อยไว้ อนาคตคนไทยจะตายเร็วขึ้นเพราะความเครียด การแก้ปัญหาควรใช้โมเดลจากส่วนภูมิภาค หรือชุมชน อย่างไรก็ตามจุดต่างสำคัญที่ต้องคิดให้ลึกมากขึ้นในกระบวนการเยียวยาคือ ปัญหาครั้งนี้ซับซ้อนและลึกซึ้งมาก หากเยียวยาไม่ทันเวลาสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความทุกข์ยากของประชาชนที่ไม่ได้รับการแก้ไข” นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีความแตกต่างด้านการจัดการ ภายหลังสถานการณ์สิ้นสุด คือมีมาตรการฟื้นฟูเยียวยา หากเปรียบเทียบกับวิกฤติหลายครั้ง เช่น 14 ตุลา สถานการณ์ภาคใต้ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง 4-5 ปีที่ก่อน ฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐมักถูกมองเป็นศัตรูทางการเมืองหรือมองแค่ผลแพ้-ชนะเท่านั้น “เราต้องสร้างความชัดเจนในการตรวจสอบความจริง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายฝ่ายหวั่นว่าจะไม่ปลอดจากอำนาจฝ่ายต่างๆ ทำอย่างไรให้ข้อมูลข่าวสารเชิงลึกและเปิดเผยแบบไม่มั่วกันไปหมด และทำอย่างไรให้ชาวบ้านรู้ว่าถึงสิทธิที่จะพิสูจน์ตัวเองอย่างบริสุทธิ์ อีกเรื่องที่สำคัญคือ การนิรโทษกรรม ตรงนี้ต้องแยกแยะให้ชัดว่าจะให้คนกลุ่มใด เป็นความผิดทางการเมืองแท้ๆ หรือข้อหาทางอาญา ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้สภาวะความตึงเครียดลดลง” นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ควรยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการให้อำนาจทหารเข้ามาควบคุมจัดการ เป็นเหตุให้ประชาชนหวาดระแวงและไม่กล้าเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือ เพราะกลัวข้อหา หากลดเงื่อนไขตรงนี้ได้ ความขัดแย้งจะลดลง นอกจากนั้นอาจต้องทบทวนมาตรการควบคุมสื่อมวลชนด้วย สุดท้ายคือการปฏิรูปประเทศอาจต้องแยกออกจากแผนปรองดอง เพราะการปฏิรูปเป็นการทำเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อม ล้ำในทุกมิติ เป็นภารกิจระยะยาวที่ต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ไขฟื้นฟูเร่งด่วน ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 081-8149942/086-9755914 น้ำเพ็ชร/เนตรชนก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ