มทร.พระนคร ไอเดียเจ๋ง สร้างกระดาษจากมูลช้าง ลดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Tuesday June 22, 2010 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--โอเค แมส ในอดีตช้างป่าในประเทศไทยมีอยู่แทบทุกจังหวัดที่เป็นป่าสูงในแหล่งที่มีหญ้า น้ำอุดมสมบูรณ์ และชาวบ้านได้คล้องช้างมาเลี้ยงเพื่อทำงานต่างๆ ต่อมาในปัจจุบันช้างได้ถูกนำมาเลี้ยงในพื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น เมื่อช้างต้องมาอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น อาหาร, สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ, การขับถ่ายของเสีย เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการและควาญช้างต้องเป็นผู้ดูแล โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการขับถ่ายของเสียที่มีจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางธรรมชาติ จากปัญหาดังกล่าว ทำให้กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) ประกอบด้วย อาจารย์มยุรี เรืองสมบัติ, อาจารย์ยุวดี พรธาราพงศ์, อาจารย์ทินวงษ์ รักอิสสระกุล และอาจารย์มัณฑนา ทองสุพล ได้ร่วมมือกันทำวิจัย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องมูลช้าง โดยอาจารย์มยุรี เรืองสมบัติ กล่าวว่า เมื่อทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว จึงได้หาแนวทางในการจัดการกับมูลช้างเหล่านี้ ด้วยการนำมูลช้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าให้กับมูลช้าง โดยการนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ, กระดาษมูลช้าง, ปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นต้น เพื่อเป็นการนำมูลช้างกลับมาสร้างประโยชน์และมาตรฐานให้แก่ชุมชน และผู้ประกอบการเกี่ยวกับช้างทั่วประเทศ เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น รวมถึงเป็นการช่วยลดมลภาวะและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยได้ศึกษาพื้นที่ของวังช้างอยุธยา แล เพนียด ริมถนนป่าโทน ข้างคุ้มขุนแผน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่ในการศึกษาวิจัย ซึ่งปัจจุบันที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด ได้มีการผลิตกระดาษจากมูลช้าง พร้อมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากกระดาษมูลช้าง โดยไม่มีกลิ่นเหม็น ประกอบด้วย การทำสมุดบันทึก, อัลบั้มรูป, โปสการ์ด, แผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็น, แผ่นกระดาษมีสีและไม่มีสี ลักษณะของกระดาษจะคล้ายๆ กับกระดาษสาที่คนส่วนใหญ่มักนำมาใช้ห่อของ ทำกระดาษลอกลาย บัตรอวยพร นามบัตร เป็นต้น อาจารย์มยุรี กล่าวอีกว่า “มูลช้างที่จะนำมาทำกระดาษให้มีคุณภาพดีจะต้องมีเส้นใยสูง ฉะนั้น อาหารที่ช้างกินจะต้องเป็นอาหารที่มีเส้นใยสูง อย่างเช่น ใบสับปะรด ที่ซื้อมาจากไร่สับปะรด จังหวัดระยอง ที่หักหัวสับปะรดแล้วเกษตรกรจะไถทิ้ง ผู้รับเหมาจัดหาต้นสับปะรดจะไปเหมาสวนไว้ แล้วตัดต้น ขนส่งมาที่หมู่บ้าน เฉลี่ยวันละ 10 ตัน และในขั้นตอนการผลิตกระดาษมูลช้างยังสามารถเติมน้ำหอมลงไปก่อนนำไปตากแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์” สำหรับขั้นตอนในการทำกระดาษจากมูลช้าง เพียงนำมูลช้างที่ได้มาหมักในบ่อ โดยการใส่มูลช้างลง 5 บ่อซีเมนต์ในปริมาณน้ำต่อมูลช้าง คือ น้ำ 1,000 ลิตร ต่อมูลช้าง 700 กิโลกรัม หลังจากนั้นใส่กากน้ำตาลหรือโมลาส ประมาณ 1 ? ก.ก. ต่อ 1 บ่อ และใส่น้ำยา E.M.( Effective Microorganisms) ที่ผสมแล้วใส่ลงในบ่อในอัตราส่วน 40 ลิตร ต่อ 1 บ่อ หลังจากนั้นคนให้น้ำยาและมูลช้างเข้ากันแล้วทิ้งไว้ ประมาณ 3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้นำมูลช้างมาทำการล้าง เพื่อให้เศษกรวด เศษหินต่าง ๆ ตกตะกอน จากนั้นนำมูลช้างที่ได้ จากการล้างไปต้มในอัตราส่วน 70 ลิตร : 40 ก.ก. ใช้เวลาต้มประมาณ 1 — 2 ช.ม. จนเปื่อยยุ่ย นำเส้นใยที่ได้ใส่เครื่องปั่น โดยใช้เวลาปั่นประมาณ 1 ช.ม. เมื่อทำการปั่นเสร็จแล้ว หลังจากนั้นเอาเส้นใยที่ได้ใส่ลงในตะแกรงเพื่อให้สะเด็ดน้ำต่อมานำไปแตะลงในแฟรม หรือตัวแบบกระดาษเพื่อนำไปตากให้แห้งแล้วลอกออก นำมาเรียงให้เป็นระเบียบ เมื่อกระดาษที่นำไปตากนั้นแห้งแล้ว เอามาแกะแล้วเรียงเป็นแถวให้เรียบร้อยพร้อมนำไปใช้ เมื่อได้กระดาษแล้ว ก็นำกระดาษมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึก อาทิ สมุดบันทึก, ที่คั่นหนังสือ, สมุดสะสมภาพ และกระดาษมูลช้างนำมาให้ช้างวาดรูปเพื่อจำหน่าย ฯลฯ ซึ่งมีวางจำหน่ายที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด แต่ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านยังไม่เป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจนัก ทางกลุ่มวิจัย จึงได้ช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ในแนวทางต่างๆ ให้มีความสวยงาม และมีความน่าสนใจมากขึ้น รูปแบบแปลกใหม่ สะดุดตา มีการบรรจุหีบห่อยากต่อการชำรุด และได้มีการทำโลโก้ตราสัญลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักและจดจำของนักท่องเที่ยว โดยปัจจุบันมีวางจำหน่ายที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด แห่งเดียว ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการวางจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในวังช้างอยุธยา แล เพนียดด้วย นับว่าเป็นงานวิจัยที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการลดการทำลายไม้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษได้อีกทางหนึ่งด้วย และที่สำคัญยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และเป็นการช่วยช้างได้อีกด้วย ปัจจุบันได้พัฒนาคุณภาพของกระดาษมูลช้างและได้ให้กลุ่มแม่บ้านทำกระดาษมูลช้างเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กลับกลุ่มแม่บ้าน และได้มีการนำกระดาษมูลช้างมาทำของที่ระลึกขายเพื่อรายได้ให้กลุ่มคนเลี้ยงช้าง และสถานที่จำหน่ายที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด สำหรับกระดาษมูลช้างนี้จะนำไปโชว์ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 The 2nd RMUTP International Conference: Green Technology and Productivity ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ระหว่างวันที่ 29 — 30 มิถุนายน 2553 เวลา 09.00 — 16.00 น. ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ ผู้ที่สนใจผลงานวิจัยกระดาษมูลช้าง สามารถเข้าร่วมงานสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โทร.0-2280-7918 หรือ www.rmutp.ac.th สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทโอเค แมส จำกัด คุณปัจฉิมา พรมวงษ์ (นิก) โทร.0-2618-7781-4 ต่อ 109

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ