กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เนื่องจากในปัจจุบันการใช้บัตรเครดิตเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการบริโภคของประชาชนจำนวนมาก ในขณะเดียวกันการใช้บัตรเครดิตได้ถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำทุจริตหลอกลวงหรือฉ้อโกงในหลายรูปแบบจนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการต่างๆ ตลอดจนประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเป็นเหตุให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับปัจจุบัน กฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันกล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่เป็นสถาบันการเงินจะถูกกำกับดูแลโดยพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ส่วนผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงินหรือที่เรียกว่า “Non-Bank” จะถูกกำกับดูแลโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในบางประเด็น เช่น การกำหนดหน้าที่แก่ร้านค้าผู้รับบัตรเครดิตและข้อจำกัดของบทกำหนดโทษของกฎหมายทั้งสองฉบับที่ยังกำหนดฐานความผิดและอัตราโทษไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. .... สรุปได้ ดังนี้
กำหนดให้การประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเป็นกิจการที่ต้องขอรับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย
กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดรายละเอียดในการกำกับดูแล เช่น อัตราวิธีการคิดดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ
กำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจ เช่น รูปแบบของเอกสารชี้ชวน สัญญาบัตรเครดิตการกำหนดประเภทของบัตรเครดิต คุณสมบัติของผู้ถือบัตร การกำหนดวิธีการคิดดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นใด อาทิ กำหนดข้อปฏิบัติอื่นๆ อาทิ หลักเกณฑ์การ รับเรื่องราวร้องทุกข์ของลูกค้า การรักษาความลับของลูกค้า
กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ถือบัตรและผู้รับบัตร เช่น ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ผู้ถือบัตรเกี่ยวกับการทุจริต ผู้ถือบัตรมีหน้าที่ชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจภายในเวลาที่กำหนด ผู้รับบัตรมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของบัตรเครดิต เป็นต้น
กำหนดการคุ้มครองผู้ถือบัตร เช่น ห้ามผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บเงินก่อนวันครบกำหนดชำระตามสัญญา และผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ในการป้องกันมิให้ผู้อื่นนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือบัตรไปใช้โดยฉ้อฉล เป็นต้น
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่เสนอจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและสร้างมาตรฐานในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่เหมาะสมและเป็นธรรม มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ร้านค้าสถานบริการผู้รับบัตรเครดิต ตลอดจนผู้ถือบัตรเครดิตให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมต่อไป
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02-273-9020 ต่อ 3268