ทริสเรทติ้งคงเครดิตองค์กร “บล. เคจีไอ (ประเทศไทย)” ที่ระดับ “BBB+/Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 07:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถด้วยผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดตราสารอนุพันธ์ สภาพคล่องที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และรายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจจัดการกองทุน อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งจากความไม่แน่นอนของตลาดหลักทรัพย์และความเสี่ยงทางการตลาดที่ไม่อาจคาดเดาได้จากการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารหนี้ของบริษัท ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความไม่แน่นอนที่เกิดจากความเสี่ยงด้านนโยบายการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่า บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และยังคงมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากการบริหารกองทุนของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด ต่อไปแม้ว่าสภาพคล่องและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีความผันผวนเป็นอย่างมากก็ตาม นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ การให้สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ โดยคาดว่าการขยายธุรกิจจะทำได้โดยไม่ทำให้ฐานเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ทริสเรทติ้งรายงานว่า บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ให้บริการครอบคลุมทั้งธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ วาณิชธนกิจ ตลอดจนธุรกิจการค้าและการลงทุนในหลักทรัพย์ บริษัทยังให้บริการบริหารกองทุนผ่านทางบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 97% คือ บลจ. วรรณ ด้วย บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ในอันดับที่ 13 จากจำนวนผู้ประกอบการ 35 รายในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ซึ่งตกจากอันดับที่ 9 ในปี 2552 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจดังกล่าวปรับลดลงจาก 4.18% ในปี 2550 เป็น 3.75% ในปี 2551 จากผลของการที่ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงและปริมาณการซื้อขายจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยในประเทศและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่ลดลง นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังได้เปลี่ยนวิธีการคำนวณส่วนแบ่งทางการตลาดของปริมาณซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์โดยไม่นำปริมาณซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์มาคำนวณส่วนแบ่งทางการตลาดซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2551 ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์คิดเป็น 13% ในปี 2552 และ 14% สำหรับ 5 เดือนแรกของปี 2553 โดยบริษัทมีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทเองที่ค่อนข้างสูง (ประมาณ 25%-32% ในช่วงปี 2550-2552) ซึ่งผลของการปรับวิธีการคำนวณทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงจาก 3.88% ในปี 2552 เป็น 3.34% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 หลังจากการก่อตั้ง บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในปี 2549 บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ก็เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจตัวแทนซื้อขายสัญญาล่วงหน้ามาโดยตลอด โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 16.53% ในปี 2549 และ 13.55% ในปี 2550 แม้บริษัทจะสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดกลับลดลงเรื่อยๆ จาก 8.95% ในปี 2551 เป็น 7.78% ในปี 2552 และ 5.42% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ทั้งนี้ หลังจากการริเริ่มซื้อขายสัญญาทองคำล่วงหน้าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ประสบความ สำเร็จ บริษัทรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ ก็เสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้นำในธุรกิจซื้อขายสัญญาทองคำล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจดังกล่าวจะปรับลดลง แต่บริษัทก็ยังสามารถทำรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายสัญญาล่วงหน้าได้ในระดับ 80 ล้านบาทในปี 2552 ซึ่งใกล้เคียงกับรายได้ 82 ล้านบาทในปี 2551 โดยปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจตราสารอนุพันธ์เติบโตอย่างยั่งยืนนั้นมาจากความสามารถในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ การขยายตัวของตลาด ปริมาณการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า และการมีนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของรายได้จากค่าธรรมเนียมนั้น แม้บริษัทได้ขยายงานด้านวาณิชธนกิจมาตั้งแต่ปี 2546 แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่มากพอจากธุรกิจนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการรับรู้รายได้ในระดับที่ดีและสม่ำเสมอจาก บลจ. วรรณ ซึ่งเป็นบริษัทลูก โดยบริษัทมีรายได้จากธุรกิจจัดการกองทุนในสัดส่วน 14.89% และ 14.18% ของรายได้รวมในปี 2551 และปี 2552 ตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในหลักทรัพย์ด้วย ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ในรูปของกำไรจากเงินลงทุน ดอกเบี้ย และเงินปันผลแล้ว บริษัทยังสามารถใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์ที่บริษัทลงทุนบางส่วนด้วยการออกผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ชนิดใหม่ๆ รวมทั้งการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงทางการตลาดเพิ่มขึ้นด้วย ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) มีสินทรัพย์รวมเป็นอันดับ 2 ในบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ในตลาดทั้งสิ้น 35 แห่ง โดยเพิ่มขึ้นจาก 6,655 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 8,059 ล้านบาทในปี 2552 และ 10,272 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสินทรัพย์มีสาเหตุหลักมาจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น โดยการลงทุนบางส่วนเป็นการลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงจากการขายใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ในหุ้นสามัญ อย่างไรก็ตาม เกือบ 90% ของการลงทุนของบริษัทเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง อาทิ พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นสามัญจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทริสเรทติ้งยังกล่าวด้วยว่า ผลกำไรของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ยังได้รับแรงกระทบจากการแข่งขันที่ยังคงสูงในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์และจากความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ โดยผลกำไรสุทธิของบริษัทลดลงประมาณเกือบครึ่งจาก 335 ล้านบาทในปี 2550 เหลือ 189 ล้านบาทในปี 2551 เนื่องจากรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงและการขาดทุนจำนวนมากจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ผลจากภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่ฟื้นตัวทำให้บริษัทมีกำไร 243 ล้านบาทในปี 2552 และ 32 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ซึ่งเป็นผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาสแรกของปี 2552 ซึ่งบริษัทมีผลขาดทุนถึง 60 ล้านบาทซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากผลขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์รายวันโดยเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 16,118 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 18,226 ล้านบาทในปี 2552 และ 21,311 ล้านบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ซึ่งปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์รายวันโดยเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้น 17% ในปี 2553 มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการประกาศบังคับใช้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์แบบขั้นบันได ซึ่งนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายหลักทรัพย์สามารถต่อรองค่าธรรมเนียมโดยเสรีในส่วนของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อวันที่เกิน 20 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้อยู่ในระดับต่ำโดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมประมาณ 58% ในปี 2551 และ 63% ในปี 2552 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 64% ของบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ทั้ง 38 แห่งในปี 2551 และ 67% ในปี 2552 ในแง่ของอัตราการก่อหนี้นั้น บริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ค่อนข้างแข็งแกร่งที่ระดับ 1.78 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ที่ 2.49 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจในอนาคตได้หาก ต้องการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ