คนแพรกหนามแดงปลื้ม กรมชลฯ ยก “บานหับ-เผย” เป็นแบบมาตรฐาน

ข่าวทั่วไป Wednesday April 18, 2007 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--สกว.
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชาวบ้านชุมชนแพรกหนามแดงปลื้ม เลขาฯ คณะกรรมการพิจารณาแบบมาตรฐาน กรมชลฯ เตรียมผลักดัน “บานหับ-เผย” แบบประตูระบายน้ำจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นแบบมาตรฐาน
นายชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการที่ชาวบ้านชุมชนแพรกหนามแดง ได้ทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในการปิด-เปิดประตูระบายน้ำของชุมชน เมื่อปี พ.ศ.2545 และชาวบ้านได้คิดค้นแบบจำลองประตูระบายน้ำจากภูมิปัญญาชาวบ้านเดิมซึ่งเรียกว่า “บานหับ-เผย” ขึ้น โดยมีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำที่มี บานสวิง เปิดเองอัตโนมัติเมื่อน้ำสูงเกินกว่าระดับ และปิดเองเมื่อน้ำเค็มขึ้น มีบานเลื่อน ปรับระดับความสูงต่ำ ของระดับน้ำในฝั่งน้ำจืด และมีบานทึบ ลักษณะคล้ายบานประตู ระบายน้ำแบบเดิมอยู่ด้านล่างเพื่อกักตะกอนของเสียก้นคลอง
โดยต่อมา ทางรองผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณมีการออกแบบประตูตามแนวคิดของชาวบ้าน พร้อมทำการทดลองติดตั้งเพื่อติดตามประเมินผลในเบื้องต้น 2 ประตู ซึ่งพบว่ากลไกการทำงานของประตูน้ำสามารถแก้ไขปัญหาของชาวบ้านได้พื้นที่ได้จริง ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานกรมชลประทานได้ขานรับแนวคิดของชุมชนไปออกแบบในการประตูระบายน้ำในคลองแพรกหนามแดงเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง แต่กลับพบว่าประตูระบายน้ำที่สร้างขึ้นใหม่มีปัญหาในเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก ทางศูนย์ประสานงานฯ จึงได้ประสานไปยัง เลขาฯ คณะกรรมการพิจารณาแบบมาตรฐาน กรมชลฯ ให้รับทราบปัญหาของพื้นที่ เพื่อหาแนวทางแก้ไขแบบประตูร่วมกับทางชุมชน
นายปัญญา โตกทอง หัวหน้าโครงการวิจัย รูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง กล่าวถึงสภาพปัญหาของประตูระบายน้ำที่ชุมชนจัดเก็บข้อมูลว่า ปัญหาหลัก การทำงานของบานประตูไม่สามารถแก้ปัญหาของพื้นที่ได้ โดยแต่ละประตูมีรายละเอียดแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ประตูระบายน้ำคลองกำนันสมบูรณ์ มีการออแบบบานสวิง 2 ชั้น และขนาดหูช้างของประตูมีขนาดใหญ่ ทำให้บานประตูไม่สามารถปิดสนิท ทำให้น้ำเค็มไหลย้อนกลับไปฝั่งน้ำจืดได้ ในขณะที่บางแห่งขอบบานประตูด้านล่างที่กั้นน้ำไหลผ่านอยู่ในระดับต่ำ และบานประตูไม่สามารถปรับเลื่อนระดับบานได้ ทำให้ปริมาณน้ำจืดถูกระบายออกไปฝั่งน้ำเค็มปริมาณมาก ทำให้คลองฝั่งน้ำเค็มน้ำไม่แห้งคลองทำให้คนน้ำเค็มเปิดกุ้งไม่ได้ ในทางกลับกันปริมาณน้ำจืดเหนือประตูมีน้อย ไม่พอใช้ในหน้าแล้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีปัญหาปลีกย่อยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้กลไกการทำงานของประตูมีปัญหา อาทิ การใช้ยางรองขอบบานสวิงชำรุดเสียหายง่ายทำให้บานประตูปิดไม่สนิทจึงป้องกันน้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่น้ำจืดไม่ได้ ตัวปรับระดับบานประตูใช้งานไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถยกบานประตูขึ้นเพื่อระบายน้ำช่วงหน้าน้ำได้ ทำให้น้ำท่วมฝั่งน้ำจืด บานประตูเหล็กขึ้นสนิมทำให้บานประตูไม่ปิด-เปิดเองได้ ชาวบ้านต้องปีนลงไปใช้เท้าถีบ สำหรับบานประตูที่คลองสัมงา ซึ่งเป็นประตูที่สร้างตรงตามแนวคิดของชาวบ้านมากที่สุดนั้น มีปัญหาในการปรับระดับบานประตู ซึ่งทำด้วยไม้ เมื่อไม้แช่น้ำจะบวมดึงออกไม่ได้ หรือดึงออกอย่างยากลำบาก ที่สำคัญคือ ในการลงไปดึงไม้กระดานเพื่อปรับระดับน้ำ ชาวบ้านต้องลงไปดึงออกด้วยมือในขณะที่แรงดันน้ำแรงมาก จึงเสี่ยงต่อการพลัดตก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ทางด้าน นายสาธิต มณีผาย เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาแบบมาตรฐาน กรมชลประทาน กล่าวหลังจากการเดินทางลงมาดูสภาพปัญหาของประตูระบายน้ำในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดงว่า โดย รูปแบบบานประตูระบายน้ำที่สร้างใหม่มีแนวคิดที่ตรงกับชาวบ้านแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ ขนาดบานประตูระบายน้ำไม่สอดคล้องกับสภาพคลอง การใช้วัสดุไม่เหมาะสม รวมทั้งกลไกการทำงานของประตูไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สะดวกต่อการใช้งาน การลงมาเห็นสภาพพื้นที่ รวมทั้งข้อมูลจากชาวบ้านนับว่ามีประโยชน์ต่อคณะทำงานอย่างมาก โดยหลังจากนี้ ทางคณะทำงานจะนำแบบประตูน้ำของชุมชนแพรกหนามแดงไปดำเนินการจัดทำให้เป็นแบบมาตรฐาน และนำเสนอให้อธิบดีกรมชลประทานลงนามเพื่อประกาศให้เป็นแบบประตูระบายน้ำมาตรฐานสำหรับพื้นที่ต่อไป
เลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาแบบมาตรฐาน กรมชลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำแบบประตูระบายน้ำมาตรฐาน ต่อไปจะต้องมีลักษณะตรงกับความต้องการของพื้นที่ ประการแรก ต้องปิด-เปิด เองได้ ประการที่สอง บานประตูต้องสามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ ประการที่สาม คือ การเลือกใช้วัสดุที่สามารถแช่อยู่ในเค็มและน้ำจืดได้เป็นเวลานาน ซึ่งถึงแม้จะมีราคาสูงก็ตาม เพราะประตูแต่ละแห่งใช้งบประมาณจำนวนมาก ถ้าสร้างแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ก็เท่ากับสูญเปล่า อีกทั้งในส่วนของกลไกการทำงานของประตูต้องคำนึงถึงความสะดวก และความปลอดภัยของชาวบ้านผู้ดูแล และใช้ประโยชน์จากประตู เป็นสำคัญ ซึ่งการออกแบบประตูระบายน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้จริง จำเป็นต้องมีความเข้าใจสภาพพื้นที่ และมีข้อมูลที่ครบถ้วนมากพอสมควร เช่น ระดับน้ำในคลองทั้งในฤดูแล้ง ฤดูฝน ปริมาณการใช้ของชาวบ้านแต่ละฝั่ง เป็นต้น
“สิ่งที่ชาวบ้านพยายามทำ ก็คือ การรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาของประตูน้ำแต่ละคลองว่ามีปัญหาอะไรบ้าง รวมทั้งข้อเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ไขของชุมชน นำเสนอต่อสำนักงานชลประทานจังหวัดสมุทรสงคราม รวมทั้งประสานหน่วยงานออกแบบกรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบการออกแบบประตูระบายน้ำเพื่อเปลี่ยนแปลงแบบร่างการก่อสร้างประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ทั้งที่มีอยู่เดิม และกำลังจะก่อสร้างต่อไปในอนาคต ดังนั้นการที่ท่านเลขานุการฯ คณะกรรมการพิจารณาแบบมาตรฐาน กรมชลฯ ลงมารับรู้ปัญหา และนำข้อเสนอแนะของชาวบ้านไปพิจารณา และผลักดันให้เป็นแบบมาตรฐาน ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบการทำงานแนวใหม่อันเป็นการบูรณาการความรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชน จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี” นายชิษณุวัฒน์ กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค 0-2270-1350-4 ต่อ 109
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ