กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านอุบัติเหตุทางถนนจากการขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตราย ระดับจังหวัด ประจำปีพ.ศ.2553 เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ซักซ้อมขั้นตอนการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนจากการขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมถึงสามารถประสานกับหน่วยงานต่างๆเข้าระงับเหตุและควบคุมสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
นางสาวงามพิศ แก้วประดิษฐ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นทางผ่านในการขนส่งสินค้าภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมถึงการขนส่ง
สารเคมีและวัตถุอันตราย ทำให้เส้นทางสายต่างๆมีปริมาณรถจำนวนมาก จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะหากเกิดอุบัติเหตุกับรถบรรทุกสารเคมีและวัตถุอันตรายจะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฉะเชิงเทรา
จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านอุบัติเหตุทางถนน
จากการขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตราย ระดับจังหวัด ประจำปี พ.ศ.2553 โดยแบ่งการฝึกซ้อมแผนเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
การฝึกซ้อมแผนในที่บังคับการ (Command Post Exercise:CPX) เพื่อซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการระงับอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย การฝึกซ้อมแผนรูปแบบปฏิบัติการจริง (Field Training Exercise : FTX)
ในวันอังคารที่ 22 มิถุนายน 2553 ณ ถนนสายบางปะกง-ชลบุรี (ขาออกชลบุรี) กิโลเมตรที่ 3 ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจำลองสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะชนกับรถบรรทุกน้ำมัน ทำให้น้ำมันรั่วไหลและเกิดไฟไหม้รถบรรทุกน้ำมันจนไฟลุกลามไหม้รถโดยสารสาธารณะ ส่งผลให้ผู้โดยสารรถสาธารณะได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จึงต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าระงับเหตุและช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งการฝึกซ้อมแผนฯในครั้งนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ได้ซักซ้อมขั้นตอนการช่วยเหลือ อพยพ และการปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุ รวมถึงสามารถประสานกับหน่วยงานต่างๆเข้าระงับเหตุและควบคุมสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบ
และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนยังเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงอันตรายของอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย และสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปภ.