กรมการค้าต่างประเทศ จัดสัมมนาเรื่อง “มาตรฐาน EurepGAP: โอกาสและความท้าทายในตลาดอียู”

ข่าวทั่วไป Tuesday June 19, 2007 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าปัจจุบันภาคเอกชนในต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการกำหนดมาตรการหรือระเบียบเฉพาะของตนเอง นอกเหนือจากระเบียบกลางของภาครัฐ เช่น มาตรฐาน Euro — Retailer Produce Working Group for Good Agricultural Practices (EurepGAP) ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ที่กำหนดขึ้นโดยกลุ่มผู้ค้าปลีกในยุโรป ครอบคลุมสินค้าพืชผัก ผลไม้สด ปศุสัตว์ และไม้ตัดดอก หรือมาตรฐาน British Retail Consortium (BRC) ซึ่งกำหนดขึ้นโดยสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งประเทศอังกฤษ ครอบคลุมสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากพืช ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่ไม่ได้มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์
ปัจจุบันผู้ค้าปลีกในอียูส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสินค้าอาหารที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน EurepGAP โดยเฉพาะผู้นำเข้าเข้าผัก และผลไม้ในอียูส่วนใหญ่จะขายสินค้าของตนให้ผู้ค้าปลีกโดยตรง ในสัดส่วนร้อยละ 75 - 80 โดยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถปฎิบัติตามข้อกำหนดเฉพาะของผู้ค้าปลีกในด้านการผลิต การจัดการ และการบรรจุหีบห่อ การกำหนดมาตรฐาน Eurep GAP ของภาคเอกชนในอียู จึงมีผลอย่างมากต่อการการส่งออกของไทย
กรมการค้าต่างประเทศ เล็งเห็นความสำคัญของมาตรฐานเอกชนดังกล่าว จึงกำหนดการจัดสัมมนา เรื่อง “มาตรฐาน EurepGAP : โอกาสและความท้าทายในตลาดอียู” ในวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2550 เวลา 08.30 — 16.00 น. ณ ห้องจามจุรี บอลรูม โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปอียู และผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายตลาดไปยังอียู ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐาน EurepGAP
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังอียู เฉลี่ยปีละ 50,000 ล้านบาท (ปี 2546 — 2549) โดยในปี 2549 ส่งออกมูลค่า 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 20 ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน EurepGAP ได้ ก็จะเป็นการเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดกำหนดการสัมมนาพร้อมแบบตอบรับการเข้าร่วมสัมมนาได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.moc.go.th หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักมาตรการทางการค้า โทร. 0-2547-4734

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ