ปภ.เตือนระวังอันตรายจากฟ้าผ่าขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

ข่าวทั่วไป Thursday June 24, 2010 08:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ปภ. ฟ้าผ่าเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่มักเกิดขึ้นช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนองในช่วงรอยต่อของฤดูกาลเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนและกันยายน-ตุลาคม โดยทุกบริเวณใต้เงาเมฆฝนฟ้าคะนองในรัศมี 30 เมตร ที่โล่งแจ้งและที่สูงมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่ามากที่สุด โดยเฉพาะภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ระนอง พังงา ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดฟ้าผ่า เนื่องจากอยู่ในแนวพาดผ่านของลมมรสุม และมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา รวมถึงความชื้นจากน้ำทะเลเป็นตัวนำที่เอื้อต่อการเกิดฟ้าผ่า ซึ่งจากสถิติ พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ถูกฟ้าผ่ามักเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ส่วนผู้ที่รอดชีวิตส่วนใหญ่จะพิการถาวร เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอแนะวิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าในช่วงที่เกิดฝนฟ้าคะนอง ดังนี้ กรณีอยู่กลางแจ้ง หากอยู่กลางแจ้งในบริเวณที่อาจเกิดฟ้าผ่า และไม่สามารถหาที่หลบได้ ให้นั่งยองๆ เก็บมือทั้ง 2 ข้างแนบติดกับเข่า ซุกศีรษะเข้าไประหว่างขาให้ร่างกายมีลักษณะกลม และเขย่งปลายเท้า เพื่อให้ร่างกายสัมผัสกับพื้นดินน้อยที่สุด ห้ามหมอบหรือนอนราบไปกับพื้น เพราะหากเกิดฟ้าผ่าในบริเวณใกล้เคียง น้ำบนพื้นจะเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าห้ามเข้าไปหลบพายุฝนใกล้วัตถุที่มีความสูงโดดเด่น เช่น ป้ายโฆษณา ต้นไม้สูง เป็นต้น ไม่สวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน ทองคำ นาก ทองแดง หรือสัมผัสกับวัตถุที่เป็นโลหะ ไม่ใช้ร่มที่มีด้ามด้านบนเป็นเหล็กแหลม เนื่องจากเป็นสื่อนำที่ทำให้เกิดฟ้าผ่าได้ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์สาธารณะ แม้โทรศัพท์จะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือ ทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรและระเบิด ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญ ให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ทุ่งนา สนามกีฬา สระน้ำ ชายหาด เป็นต้น เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า กรณีอยู่ในอาคาร ให้หลบในอาคารที่มีสายล่อฟ้า ไม่ขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้า มุมตึก ระเบียงด้านนอกอาคารหรืออยู่ใกล้หน้าต่างที่เป็นโลหะ งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดทั้งโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ท คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์แบบมีสาย เครื่องทำน้ำอุ่น รวมถึงถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาภายนอกอาคาร ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระชากและวิ่งมาตามสายไฟ สายโทรศัพท์ เสาอากาศ ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย และผู้ที่กำลังใช้งานอยู่ได้รับอันตราย กรณีอยู่ในรถ ปิดประตูและกระจกหน้าต่างรถให้มิดชิด ถ้าฟ้าผ่าบริเวณรอบรถ ห้ามออกจากรถเด็ดขาด เนื่องจากห้องโดยสารรถเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด เพราะกระแสไฟฟ้าจะไหลไปตามผิวโลหะของตัวถังรถลงสู่พื้นดิน ไม่จอดรถใต้ต้นไม้ใหญ่เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า นอกจากนี้ หากเห็นฟ้าแลบแล้วได้ยินเสียงฟ้าร้องตามมาไม่เกิน 30 วินาที หรือรู้สึกว่าเส้นขนลุกชัน ผิวหนังกระตุก แสดงว่า อยู่ในพื้นที่ที่ฟ้ากำลังจะผ่าลงมา ให้รีบหลบในที่ปลอดภัยทันที และหลังจากที่พายุฝนฟ้าคะนองสงบแล้ว ให้รออย่างน้อย 30 วินาทีก่อนออกจากที่หลบ เพื่อให้มั่นใจว่าเมฆฝนฟ้าคะนองที่จะทำให้เกิดฟ้าผ่าได้สลายตัวไปแล้ว ท้ายนี้ แม้มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปรากฎการณ์ฟ้าผ่าได้ แต่การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างถูกต้องจะช่วยให้ปลอดภัยจากฟ้าผ่าในช่วงฤดูฝนนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ