ก.ไอซีที เร่งผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวทั่วไป Thursday June 24, 2010 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ก.ไอซีที นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 3/2553 วันที่ 18 มิถุนายน 2553 ซึ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการครั้งแรกหลังการเข้ารับตำแหน่ง ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงมาก เฉพาะมูลค่าการให้บริการรับชำระเงินแทน (Bill Payment) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทธุรกิจบริการภายใต้การกำกับดูแลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำมารายงานให้คณะกรรมการฯ ทราบเฉพาะในไตรมาส 4 ของปี 2552 ก็มีจำนวนถึงกว่า 1,345,500 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงได้เสนอให้ ธปท. พิจารณาปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ลดลงจากเดิมภายในสิ้นปี 2553 แนวทางนี้จะช่วยให้ปริมาณการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในบริการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินการถูกลง และธุรกิจต่างๆ ก็จะหันมาใช้การโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เช็คที่มีต้นทุนสูงกว่า นอกจากนี้ยังจะเร่งผลักดันเรื่องการโอนเงินผ่านเช็คให้สามารถเคลียริ่งได้ภายใน 1 วัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับประโยชน์จากจำนวนวันในการคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยแนวทางดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปีนี้ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ก่อน และจะทยอยดำเนินการได้ครบ ทุกจังหวัดประมาณสิ้นปี 2555 ขณะที่การผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาคธุรกิจ ได้มีนโยบายในการจัดทำโครงการนำร่องร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำสินค้า OTOP มาจำหน่ายผ่านระบบ อี-คอมเมิร์ซ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารกรุงไทยฯ และบจ.ไปรษณีย์ไทยจะรับหน้าที่ในการขนส่งสินค้า “อย่างไรก็ตาม การผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ยังติดปัญหาหลายๆ เรื่อง ซึ่งเรื่องที่สำคัญเร่งด่วน คือ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ โดยตามกฎหมายได้ระบุให้เป็นส่วนราชการ จึงอาจทำให้การปฏิบัติงานไม่คล่องตัวเท่าการเป็นองค์การมหาชน และแม้ว่าการจัดตั้งสำนักงานฯ จะยังไม่แล้วเสร็จ ก็จะพยายามหาแนวทาง วิธีการ และงบประมาณมาส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในทุกภาคส่วนให้เพิ่มมากขึ้นให้ได้“ นายจุติกล่าว ส่วนการประชุมฯ ครั้งนี้ คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างการเร่งพิจารณาร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และร่างหลักเกณฑ์การพิจารณาหน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก ที่สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการรองรับและผลักดันให้เกิดการใช้งานระบบ e-Document และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบต่อไป นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้มีการพิจารณาออกใบอนุญาตตามพระราชกฤษฎีกาฯ เพิ่มเติมให้กับผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามบัญชี ค ประเภทการให้บริการ รับชำระเงินแทน จำนวน 2 ราย คือ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด และบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการเติบโตของธุรกิจในด้านนี้ และเป็นการเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ใช้บริการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ