กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กรมสรรพสามิต
วันนี้ (24 มิถุนายน 2553) ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาเยี่ยมกรมสรรพสามิต พร้อมมอบนโยบายการจัดเก็บภาษีของกระทรวงการคลังให้แก่ คณะผู้บริหารและข้าราชการกรมสรรพสามิต และให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการใช้ระบบสายด่วน สรรพสามิต 1713 โดยมี ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อธิบดีกรมสรรพสามิต คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตให้การต้อนรับ
ดร.มั่น พัธโนทัย เปิดเผยถึงการดำเนินงานของกรมสรรพสามิตที่ผ่านมาว่าเป็นหน่วยงาน ที่มีศักยภาพทางด้านการจัดเก็บภาษีค่อนข้างสูง และให้ความสำคัญกับการบริการภาคประชาชน ดังจะ เห็นได้จากมีการจัดทำสำนักงาน Smart office ซึ่งเป็นสำนักงานที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ โดยได้ดำเนินการไปแล้วในเขตกรุงเทพมหานคร และจะขยายการบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2553 นี้ ซึ่งในวันนี้นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของกรมสรรพสามิตที่จะยกระดับการให้บริการประชาชนเพิ่มขึ้น ด้วยการเปิดช่องทางในการติดต่อสื่อสารของประชาชนผ่าน “สายด่วน สรรพสามิต 1713”
ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม กล่าวว่ากรมสรรพสามิตได้ปรับปรุงการบริหารงานในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความชัดเจนและมาตรฐานในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่ ผู้เสียภาษีและประชาชน อาทิ
1. ด้านนโยบาย
1) จัดทำแผนแม่บทภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาภาษีสรรพสามิต โดยมีการศึกษาร่วมกับภาคเอกชน
2) ปรับปรุงกฎหมาย 4 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 โดยปัจจุบันได้เสนอร่างพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 ให้กระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี
3) สร้างความชัดเจนในเรื่องการจัดเก็บภาษี ซึ่งได้ดำเนินการหารือร่วมกับภาคเอกชน โดยได้ดำเนินการยกเลิกการจัดเก็บภาษีเครื่องปรับอากาศ เฉพาะที่ใช้กับอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย ที่มีขนาดต่ำกว่า 72,000 บีทียู ทั้งนี้ เพื่อให้มีการแข่งขันขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และมีการยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้แก่ธุรกิจสปา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของชาวต่างชาติ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสร้างความชัดเจนในอีกหลายประการ ได้แก่ ลดภาระการยื่นเอกสารต่างๆ ของสินค้าประเภทเครื่องดื่มประเภทน้ำพืชผักผลไม้ของผู้ประกอบการทางอินเตอร์เน็ต การพิจารณายกเว้นแก้วเลดคริสตัลที่นำมาเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิตสินค้า เช่น เครื่องประดับ และการพิจารณายกเว้นภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ที่ใช้เป็นแบตเตอรี่วัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิตสินค้าหรือสิ่งของอื่นเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร เป็นต้น
2 ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
1) นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดเก็บภาษีไม่ให้รั่วไหล อาทิ
* ระบบควบคุมและติดตามการขนส่งน้ำมันทางบก (GPS) และติดตั้งเครื่องชั่งน้ำหนักตามแนวตะเข็บชายแดน การพัฒนาระบบแผนที่ภาษี (Tax Map) และแผนที่ผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต
* การติดตั้งมาตรวัด และคอมพิวเตอร์สื่อสารทางไกลมาใช้ในการควบคุมการผลิตและเสียภาษีเครื่องดื่ม
* การพัฒนาเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี โดยทบทวนแสตมป์เพื่อให้ปลอมแปลงยาก และลดจำนวนรูปแบบแสตมป์ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะนำไปใช้กับสินค้าสุราและยาสูบ
2) ปรับปรุงด้านการปราบปรามและป้องปรามให้มีการดำเนินการในเชิงบูรณาการทั่วประเทศโดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้
3) ปรับปรุงขบวนงานและลดจำนวนรายงานในระบบ เพื่อลดภาระและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่
* ปรับลดจำนวนรายงานที่ซ้ำซ้อนและปรับปรุงการรายงานของสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศที่ต้องรายงานกรมสรรพสามิตทุกเดือน
* ลดภาระการรายงานผลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีแบบรายงาน จำนวนน้อยลง
* เพิ่มประสิทธิภาพการรายงานงบเดือนแสตมป์ของสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศจากเดิมรายงานเป็นเอกสาร ให้เป็นรายงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Web-based Application
3. ด้านการปรับปรุงการบริการประชาชน โดยยกระดับการให้บริการประชาชน ดังนี้
1) จัดตั้ง Smart Office และปรับปรุงภาพลักษณ์สำนักงานสรรพสามิต โดยจัดทำต้นแบบ Smart Office ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 และมีแผนปรับปรุง Smart Office ให้ครบ 85 แห่ง ภายในปี 2553 ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีสามารถทำธุรกรรมชำระภาษีที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย
2) มอบอำนาจให้สรรพสามิตภาคมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น (Decentralization) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการผู้ประกอบการให้มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น
3) การใช้เทคโนโลยีในการรายงาน โดยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถรายงานข้อมูลโดยตรงมายังกรมสรรพสามิต
5) ปรับปรุงขั้นตอนการให้บริการแก่ผู้เสียภาษี
* ลดหลักฐานในการขออนุมัติการยกเว้นหรือคืนภาษีสำหรับการส่งออกของผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 โดยเฉพาะธุรกิจการส่งออกรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่ม และแบตเตอรี่
* ผ่อนผันให้ไม่ต้องยื่นงบเดือนในธุรกิจโทรคมนาคมที่มีมากกว่า 12 บริษัท และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศสำหรับบ้านที่มีมากกว่า 85 บริษัท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตตามมติคณะรัฐมนตรี
* สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่งงบเดือนผ่าน web-based application ทำให้ลดภาระผู้ประกอบการในการจัดทำงบเดือนส่งกรมสรรพสามิตทุกเดือน
4. ด้านการพัฒนาองค์กร
1) การพัฒนาบุคลากรให้มีมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
* จัดการอบรม/สัมมนาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศในด้านการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ด้านป้องกันและปราบปราม และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
* โครงการเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้บริหาร รวมทั้งสิ้น 26 รุ่น ผู้เข้าอบรมประมาณ 1,900 คน
2) การปรับปรุงอาคารสำนักงาน/ศูนย์ และบ้านพักข้าราชการ จำนวน 15 แห่ง ประกอบด้วย อาคารสำนักงานจำนวน 5 แห่ง และบ้านพักข้าราชการ 10 แห่ง
3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ อาทิ
* โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร (e-Office)
* โครงการปรับปรุงระบบเครือข่ายหลักของกรมสรรพสามิต
* โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
* การวางแผนแม่บท IT เพื่อมุ่งสู่การนำ IT มาใช้ในการทำงานทุกจุด
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังตระหนักถึงการติดต่อกับประชาชน จึงได้พัฒนาระบบโทรศัพท์จากตัวเลข 9 หลัก เปลี่ยนเป็นเลข 4 หลัก หรือ “สายด่วน สรรพสามิต 1713” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียภาษีและประชาชนทั่วไป ซึ่งหมายเลขดังกล่าว เดิมเป็นหมายเลขสำหรับการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกฎหมายสรรพสามิต ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและสามารถให้บริการครอบคลุมถึงการติดต่อสอบถามข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต การแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต และการร้องเรียนผ่านโทรศัพท์ 30 คู่สาย ประชาชนสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลของกรมสรรพสามิตได้ทุกเรื่อง โดยเปิดให้บริการสอบถามข้อมูล หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. และแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม
กรมสรรพสามิต โทร./โทรสาร 02 241 4778
www.excise.go.th