กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้
งานแสดงจิตรกรรมร่วมสมัยไทยล้านนาในครั้งนี้เป็นการรวบรวมผลงานอันทรงคุณค่ากว่า 30 ชิ้นงานของเหล่าศิลปินแถวหน้าของเมืองไทยทั้ง 8 ท่าน อาทิเช่น ทรงเดช ทิพย์ทอง พรชัย ใจมา อานันท์ ราชวังอินทร์ ศรีใจ กันทะวัง ชัยวัฒน์ คำฝั้น พานทอง แสนจันทร์ เสงี่ยม ยารังษี และสรพงษ์ สีชมภู เพื่อเผยแพร่งานศิลปะประเภทจิตรกรรมศิลปะไทยร่วมสมัย พร้อมสนับสนุนการทำงานของศิลปินไทยในการแสดงผลงาน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้เล็งเห็นคุณค่าของงานศิลปะไทยร่วมสมัยที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทย และรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดงานในครั้งนี้จะนำไปสนับสนุนกองทุนศิลปะกับเด็กเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสามารถชมนิทรรศการแสดงจิตรกรรมร่วมสมัยไทยล้านนาได้ตั้งแต่บัดนี้ — 15 กรกฎาคม 2553 เวลา 10.00 — 20.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ 213 และ215 ชั้น 2 ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ เจริญกรุง 24
นิทรรศการนี้ได้จัดแสดงผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยไทยล้านนาได้พร่ำพรรณาถึงความเชื่อความศรัทธาในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีไทย โดยใช้เทคนิคที่หลากหลาย อาทิเช่น สีอะคริลิคบนผ้าใบ ทองคำเปลวบนผ้าใบ สีฝุ่นบนผ้าใบ Woodcut และสีน้ำมันบนผ้าใบ นอกจากนี้เหล่าศิลปินยังบอกเล่าถึงแนวความคิดที่ต่างกัน เช่น พรชัย ใจมา ศิลปินที่ได้รับเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อปีพ.ศ.2551 มีแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานที่ได้จัดแสดงในนิทรรศการนี้ว่า “ประเพณี สิ่งที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ในแต่ละท้องถิ่นมีหลากหลายประเพณีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน ทั้งที่เกิดจากความศรัทธาทางศาสนาและความเชื่อส่วนท้องถิ่น สิ่งที่ทำและเห็นว่าเป็นประโยชน์ สร้างความสุขสนุกสนานจนกระทั่งนำไปสู่การปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมของชุมชน เช่น วัดวาอาราม บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ต้นไม้ ภูเขา ท้องฟ้า กลุ่มคนและบุคคลหรือแม้แต่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนสร้างความประทับใจให้ข้าพเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นล้านนาซึ่งเป็นถิ่นที่ข้าพเจ้าเกิดและใช้ชีวิตอยู่นั้น ก็มีหลากหลายประเพณี หลากหลายเรื่องราวและหลากหลายมุมมองให้ได้เห็นได้จดจำ จนเกิดความประทับใจในที่สุด และได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาถ่ายทอด ผ่านงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว สร้างความงามทางองค์ประกอบศิลป์จากสภาพแวดล้อม กลุ่มคน และบุคคล ฯลฯ ให้ประสานกลมกลืนกัน เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกที่หลากหลาย เช่น ความสุข ความสงบ ความศรัทธา ความสนุกสนาน หรือแม้แต่ความเรียบง่าย สบายๆ ด้วยการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ที่เน้นความสดใสของสี ความเคลื่อนไหวของเส้น การเลื่อนไหลของกลุ่มรูปทรงและความมีเอกภาพในการประกอบกันของทัศนธาตุทางศิลปะทั้งหมด
ชัยวัฒน์ คำฝั้น ได้รับการการันตีคุณภาพด้วยรางวัลที่ 1 ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 ซึ่งเป็นรางวัลสนับสนุนโดยธนาคารกรุงไทย มีแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานจากการได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมประเพณีที่ซึมซับมาจากอดีต และความเชื่อความศรัทธาในพุทธศาสนา ก่อให้เกิดการสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังไทยที่บรมครูช่างไทยได้สืบต่อมาเป็นประเพณี เป็นต้นแบบที่มีอิทธิพลในการสร้างสรรค์งาน โดยเฉพาะภาพที่แสดงพลังความเคลื่อนไหวของรูปทรงในงานจิตรกรรมไทย
การถ่ายทอดความรู้สึกในงานแบบจิตรกรรมไทยร่วมสมัยที่นำโครงสร้างของจิตรกรรมไทยประเพณีมาผสมผสานความรู้สึกความรู้สึกส่วนตัวเข้าร่วมในภาพ ทั้งยังรวมไปถึงอิทธิพลจากปรากฏการณ์ของธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังความเคลื่อนไหวของธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังความเคลื่อนไหว โดยใช้ลักษณะโครงสร้างภาพการซ้ำพื้นที่ว่าง ทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก เคลื่อนไหวต่อเนื่องกันไปอย่างทรงพลัง จะเห็นได้จากผลงาน “เหราอมนาค”, “พลังความเคลื่อนไหวจากรูปทรงในจิตรกรรมไทยประเพณี”, “ครุฑยุดนาค” และ “พญานาค”
อานันท์ ราชวังอินทร์ ได้รับเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ศิลปกรรมพระประวัติ และพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อปีพ.ศ.2551 เล่าว่า ผลงานในระยะแรกได้นำเสนอภาพของแม่กับลูก เพื่อแสดงถึงความรัก ความอบอุ่น ความผูกพัน ในระยะต่อมาได้แสดงถึงความรัก ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผ่านภาพบุคคล และกลุ่มบุคคลในกิจกรรมทางศาสนพิธี วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นล้านนา กล่าวโดยรวมแล้วผลงานเกือบทั้งหมด นำเสนอด้วยภาพบุคคล (Figurative) เป็นหลักในการแสดงออก สำหรับผลงานชุดนี้ แม้แตกต่างในเรื่องราวและเนื้อหา แต่เป็นการนำเสนอด้วยภาพบุคคล (Figurative) โดยเสนอภาพเปลือยของหญิงสาวในหลายๆ กริยา เพื่อสื่อถึงความงามของสรีระ รูปร่าง รูปทรง และท่าทางของผู้หญิงผ่านเรื่องราวของลูกสาวพญามาร
ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินที่ได้รับเลือกจากมูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ ให้นำผลงานจิตรกรรมทูลเกล้าถวายพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เมื่อปีพ.ศ.2544 มีแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการนี้จากการได้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางขุนเขา และธรรมชาติอันงดงามที่โอบล้อมทั้งชีวิตและจิตวิญญาณ อีกทั้งยังได้สัมผัสกับวิถีของวัฒนธรรมที่เปี่ยมไปด้วยความสงบร่มเย็นแห่งพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังเยาว์วัย เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม อันมีที่มาจากงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณีโดยการสร้างรูปแบบขึ้นใหม่ในลักษณะองค์ประกอบภาพที่เรียบง่าย และใช้โครงสร้างสีเอกรงค์ เป็นการใช้สีสีเดียว หรือสีใดสีหนึ่งในวงล้อสี (Colors Wheel) โดยสีที่ใช้นั้น มีทั้ง น้ำหนักอ่อน-แก่ (Lightness Darkness) สด สีหม่น (Brightness-Dullness) การใช้สีวิธีนี้ จะมีความ กลมกลืนเป็นสีใดสีหนึ่ง อย่างชัดเจน และมีประสิทธิภาพ ในการสร้างอารมณ์โดยรวมได้ง่าย ด้วยการใช้สีเพียงสีเดียว โดยการใช้พู่กันชนิดเล็กพิเศษขีดเป็นเส้นเล็กๆ ทั่วทั้งภาพด้วยความพากเพียรเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก “ปิติ” อันเกิดจากสมาธิและพลังแห่งความศรัทธา เป็นต้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-2370077-8 หรือ คลิกดูรายละเอียดที่ www.rivercity.co.th
พิเศษสำหรับผู้เข้าชมงานสามารถใช้บริการ River City Shuttle Boat จากสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสินมายังศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ ฟรี