กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาฯ จัดการประชุมสภาที่ปรึกษาฯ ครั้งที่ 7/2553 และการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ร่างทิศทางและยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11” โดย ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กล่าวถึงกระบวนการในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ว่า ได้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างทิศทางและยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 โดยประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ คือ 1.เน้นการใช้จุดแข็งเพื่อขยายโอกาส ได้แก่ สร้างความเชื่อมโยงการค้าการลงทุนและการเงินกับขั้วเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวสูงและประเทศเพื่อนบ้าน ขยายภาคธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ การแพทย์และสุขภาพ 2.ใช้โอกาสเพื่อช่วยแก้ไขจุดอ่อน ได้แก่ การพัฒนามูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงานทดแทน มุ่งสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.การบรรเทาจุดอ่อนและเลี่ยงภาวะคุกคาม ได้แก่การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ขยายการลงุทนด้านการวิจัยพื้นฐานและวิทยาศาสตร์ ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP การสร้างความเข้มแข็งของทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากการเป็นภาคีในประชาคมอาเซียน
สำหรับแนวคิดในการจัดทำแผนฯ ได้มีการนำกรอบแนวคิดและหลักการในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ทั้งฉบับที่ 8,9,10 มาใช้ด้วย โดยกำหนดกรอบแนวและหลักการได้ดังนี้ “พัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม พัฒนาประเทศสู่ความสมดุลในทุกมิติอย่างบูรณาการและเป็นองค์รวม”
วิสัยทัศน์ คือ “ประเทศมีความมั่นคงเป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”
วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลัก ได้แก่ โครงสร้างเศรษฐกิจสมดุล เข้มแข็ง พึ่งตนเอง, ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น, หลักประกันทางสังคมมีคุณภาพครอบคลุมประชากรไทยทุกคน, สังคมไทยสงบสุข มีธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ จากการรับฟังความเห็นที่ผ่านมาในหลายๆ พื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมเป็นอันดับหนึ่ง ต่อด้วยเรื่องเศรษฐกิจ และสุดท้ายคือสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ดร.ปรเมธี กล่าวอีกว่า คงต้องมีการศึกษา รวบรวมความเห็น กำหนดทิศทางและประเด็นยุทธศาสตร์ ในการยกร่างและปรับปรุงแผนพัฒนาฯ อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง และเสนอให้สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณา ก่อนเสนต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในการอนุมัติและประกาศใช้ต่อไป