กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สสวท.
นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า ผู้แทนประเทศไทยจำนวน 4 คน คว้า 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน จากการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ วันที่ 15-24 กรกฎาคม 2550 ณ กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย ได้แก่
นายบวร หงษ์ศรีจินดา โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ได้เหรียญทอง
นายธนธรณ์ ขอทวีวัฒนา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้เหรียญเงิน
นายพรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เหรียญเงิน
นายเตชินท์ จุลเทศ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เหรียญเงิน
คณะอาจารย์ที่ร่วมเดินทาง ประกอบด้วย หัวหน้าทีม รศ. ดร. วุฒิชัย พาราสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองหัวหน้าทีม ผศ. ดร. ยงศักดิ์ ศรีธนาอนันต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยหัวหน้าทีม ดร. อมราวรรณ อินทศิริ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ดร. เอกสิทธิ์ สมสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้จัดการทีม นายณรงค์ศิลป์ ธูปพนม หัวหน้าสาขาเคมี สสวท.
นายบวร หงษ์ศรีจินดา (บ๊วย) ซึ่งก่อนไปบอกเราไว้ว่า จะต้องคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งติดมือมาจริง ๆ แล้วตั้งใจคว้าเหรียญเงิน แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็เหรียญทอง ค่อนข้างมั่นใจ เพราะพยายามเต็มที่แล้ว และในที่สุดก็คว้าเหรียญทองมาได้จริง ๆ น้องบ๊วยชอบทำแล็ปเคมี เพราะรู้สึกว่าแล็ปเป็นเหมือนศิลปะ ต้องใช้ความประณีตอย่างสูง ครอบครัวมีส่วนส่งเสริมความสำเร็จ แต่ส่วนใหญ่ความสำเร็จมาจากตัวเอง เพราะครอบครัวเลี้ยงลูกแบบให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งย่อมแข็งแกร่งกว่า คนที่ถูกป้อนให้แน่นอน หนุ่มน้อยคนนี้บอกว่าการเรียนของตัวเองจะต้องอาศัยความขยันขันแข็งแลกกับไอคิวที่น้อยกว่าคนอื่น ถ้าจะให้สนุกต้องมีเพื่อนช่วยเรียน เพราะเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ความฝันในอนาคตก็คือการเป็นแพทย์นักวิจัยที่จะต้องเอาชนะโรคมะเร็งให้ได้
นายธนธรณ์ ขอทวีวัฒนา (พลัม) บอกว่า คุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ชอบเคมี เพราะเป็นอาจารย์สอนคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม. เกษตรศาสตร์ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางเคมีอินทรีย์อย่างมาก จึงได้มีโอกาสอ่านหนังสือของคุณพ่อและสนใจวิชาเคมี อนาคตอยากพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอยากเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยที่คิดว่าเด็กเก่งทุกคนต้องเข้าคณะแพทยศาสตร์ให้กลายเป็นว่าเราชอบอะไรก็เข้าเรียนคณะนั้น ไม่ต้องกลัวกระแสของสังคม หลังจากนี้คาดว่าจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการเรียนต่อคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนจบปริญญาเอกที่ต่างประเทศ
นายพรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ (ชัย) เล่าว่า หลังจากนี้ได้รับทุนโอลิมปิกวิชาการ ไปต่อยอดความรู้ด้าน เคมีที่ต่างประเทศ ตามเป้าหมายที่อยากจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาเคมี เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์และทำวิจัยด้านเคมีต่อไป
นายเตชินท์ จุลเทศ (เติ้ง) เล่าถึงวิธีเรียนว่าจะต้องเอาใจใส่กับเรื่องที่เรียน และรักวิชานั้น ๆ จากใจจริง ถ้าคิดว่ามันสนุก ก็จะสนุก และเรียนได้ดี การแข่งขันครั้งนี้ได้ทั้งความรู้ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ เพราะต้องจัดการกับความเครียด และความกดดันให้ได้
รศ. ดร. วุฒิชัย พาราสุข ซึ่งเป็นหัวหน้าทีม กล่าวว่า โครงการโอลิมปิกวิชาการอาจดูเหมือนเกี่ยวข้องกับคนเพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วโครงการนี้จะสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ต่อวงการวิชาการของไทยและต่อประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง ประการแรกผู้แทนประเทศไทยจะเป็นแบบอย่างให้นักเรียน คนอื่น ๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความสนใจที่จะเข้าร่วมรับการอบรมพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และเป็น การพัฒนาการเรียน การสอนวิทยาศาสตร์โดยทางอ้อม การกระตุ้นความสนใจของคนจำนวนมากเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่รักจะเป็นนักวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้นโครงการโอลิมปิกวิชาการยังช่วยให้นักเรียนหลายคนได้ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร และมองเห็นว่าทางเลือกของคนเก่งไม่ได้มีเพียงการเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์เท่านั้น ซึ่งเห็นได้จากจำนวนผู้แทนประเทศไทยที่สนใจรับทุนโอลิมปิกวิชาการ จาก สสวท. เพิ่มขึ้น และตอนนี้ก็เริ่มมีนักเรียนที่เคยเข้า ค่ายโอลิมปิกวิชาการและนักเรียนที่เคยเป็นผู้แทนประเทศไทยที่เรียนต่อจนจบปริญญาเอก เริ่มทยอยกลับมาประเทศไทย ซึ่งคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาและการอบรมที่ดี ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ผู้แทนประเทศไทย จะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเที่ยวบิน TG 975 ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2550 เวลา 06.45 น. ซึ่ง สสวท. จะมีพิธีต้อนรับคณะผู้แทนประเทศไทยฯ ที่สนามบินสุวรรณภูมิตามกำหนดเบื้องต้น จึงขอเชิญชวนชาวไทยร่วมต้อนรับและเป็นกำลังใจโดยพร้อมกัน