กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาทให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดำเนินโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 ระบุโครงการที่ผ่านมา ช่วยประหยัดเงินค่าพลังงานได้ 36,000 ล้านบาท
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม ให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ “โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยสถาบันการเงิน ระยะที่ 3” เพื่อให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ จากระยะที่ 2 จำนวน 11 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารยูไนเต็ด ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย นำไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนให้แก่โรงงาน อาคาร และบริษัทจัดการพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
โดยสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยคืนกองทุนฯ ในอัตราร้อยละ 0.5 ของเงินกองทุนฯ ที่สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ และต้องปล่อยกู้ภายในระยะเวลา 3 ปี รวมถึงต้องส่งเงินคืนกองทุนฯ ผ่าน พพ.ในเวลา 10 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุมัติ สำหรับโรงงาน อาคาร และบริษัทจัดการพลังงาน ที่ต้องการขอกู้ยืม สามารถยื่นความจำนง ขอใช้เงินกู้ โดยกรอกแบบขอรับการสนับสนุนทางการเงิน โดยผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ โดย พพ. จะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามกฎเกณฑ์ และเมื่อผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติให้สินเชื่อ ทั้งนี้ผลการดำเนินโครงการระยะที่ 1 และ 2 สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 6,329 ล้านหน่วย คิดเป็นเงิน 20,486 ล้านบาท ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 2,134 ล้านลิตร เทียบเท่าน้ำมันเตา คิดเป็นเงิน 15,608 ล้านบาท รวมประหยัดได้ 36,094 ล้านบาท หรือ 2,384 KTOE
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติงบประมาณให้ พพ. อีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ “สาธิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม” ในวงเงิน 119 ล้านบาท สำหรับดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคการติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าเทคโนโลยีแบบเกียร์ทด ขนาดกำลังผลิต 1.5 MW จำนวน 1 ชุด ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาพลังงานลม ขนาดใหญ่ ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2551 และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1.8 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นเงิน 5.5 ล้านบาท/ปี
โครงการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมโดยโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในวงเงิน 22 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมฯ จำนวน 100 แห่ง ให้ดำเนินการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้บุคลากรในโรงงานมีความรู้ความเข้าใจวิธีการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งทางด้านทฤษฎี และปฏิบัติรวมถึงการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีระบบ ทำให้เกิดผลประหยัดพลังงานที่เป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะมีผลการประหยัดพลังงานที่เป็นรูปธรรมเฉลี่ยต่อแห่งไม่ต่ำกว่า 5.0 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี หรือเมื่อจบโครงการแล้วมีผลประหยัดรวมไม่น้อยกว่า 500 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปีและมีระยะเวลาคืนทุน ไม่เกิน 2 ปี
และโครงการสุดท้ายได้อนุมัติงบประมาณ 18.8 ล้านบาท ให้ พพ. ดำเนินการทบทวนร่างกฎกระทรวงว่า ด้วยการกำหนดเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2 จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระจก ตู้แช่ เตารีดไฟฟ้า เครื่องซักผ้า เตาไฟฟ้า เตาอบไมโครเวฟ กาต้มน้ำร้อนไฟฟ้า ฉนวนใยแก้ว เครื่องอบผ้า เตาอบไฟฟ้า และเครื่องทำน้ำเย็น เพื่อทบทวนค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน เพื่อประกาศใช้ในการส่งเสริมการผลิตและจำหน่าย ตลอดจนจัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อส่งต่อให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกำหนดเป็นมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำต่อไป ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานได้ 90,000 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี หรือคิดเป็นเงิน 2,640 ล้านบาทต่อปี