กทม. จับมือประหยัดพลังงาน ร่วมกับ ก.พลังงาน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 3, 2007 11:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--กทม.
ก.พลังงาน ร่วมมือกทม. ในการประหยัดพลังงาน การจัดการพลังงานทดแทนจากขยะ การเปลี่ยนการใช้พลังงานรถเก็บขยะเป็น NGV และการร่วมกันดำเนินโครงการ BIOGAS
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าประชุมหารือร่วมกับ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมหารือ
สำหรับการหารือในครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการด้านพลังงาน โดยเฉพาะการอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนระหว่างกระทรวงพลังงาน กับกรุงเทพมหานคร ที่เคยได้มีการหารือกันเมื่อเดือน มี.ค. 50 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ติดตามงานด้านการประหยัดพลังงานในอาคารของกรุงเทพมหานคร โดยด้านของกระทรวงพลังงานได้ให้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติในเชิงวิชาการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้ติดตามการดำเนินการจัดซื้อรถขยะของกรุงเทพมหานครที่ใช้พลังงานก๊าซ NGV จำนวน 69 คัน ที่ได้เคยมีการประกวดราคาแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาที่ราคาสูงเกินจริง แต่มีความจำเป็น และทางคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก.พลังงานจะสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะขออนุมัติกระทรวงฯ หากกระทรวงฯ เห็นชอบก็จะได้ดำเนินการประกวดราคาต่อไป ส่วนรถขยะที่กรุงเทพมหานครเช่าจากเอกชนนั้น ในสัญญาฉบับใหม่จะทยอยเปลี่ยนเป็นรถใช้พลังงาน NGV ทั้งหมด ซึ่งจะทำการเปลี่ยนทั้งรถเช่าและรถของกรุงเทพมหานครเอง จำนวนกว่า 1,400 คัน โดยเป้าหมายดำเนินการแล้วเสร็จใน 7 ปี นอกนั้นยังได้มีการหารือเพื่อเร่งรัดการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้สามารถตั้งปั๊ม NGV ในพื้นที่บางแห่งของกรุงเทพฯ ได้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครจะมีความร่วมมือกันดำเนินโครงการ BIOGAS (ไบโอก๊าซ) ที่จะนำเอาขยะสดมาทำเป็นก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้ก่อไฟทำความร้อนหุงต้มอาหาร โดยเป้าหมายระยะสั้นจะดำเนินการในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครและตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งภายในปีนี้จะเห็นเป็นรูปธรรม ส่วนในการดำเนินการกับแหล่งขยะขนาดใหญ่นั้น จะเป็นรูปแบบโรงไฟฟ้าสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ซึ่งจะได้ศึกษาแนวทางกันต่อไป ทั้งนี้ขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่สามารถเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าได้นั้นมีปริมาณ 60% ของขยะทั่วกทม.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ