กรมการปกครอง เฟ้นหา “นายอำเภอน้อย รุ่นที่ 2” เป็นตัวแทนรณรงค์ “อำเภอนี้ลดโลกร้อน 100%”

ข่าวทั่วไป Monday June 28, 2010 13:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กรมการปกครอง กรมการปกครอง เปิดตัวโครงการ “นายอำเภอน้อย”ปี 2 ในหัวข้อ “อำเภอนี้ลดโลกร้อน 100%” เผยคัดเลือกแผนงานกว่า 1,000 แผนงาน จากเยาวชนทั่วประเทศกว่า 3,000 คน โดยมุ่งหวังให้เยาวชนนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาอำเภอของตนเอง และปลูกฝังให้เยาวชนให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมมือร่วมใจลดสภาวะโลกร้อน ช่วยกันพัฒนาอำเภอให้น่าอยู่ นายมงคล สุระสัจจะ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า “สำหรับปีนี้ทาง กรมการปกครองได้จัดทำโครงการ “นายอำเภอน้อย ปี 2” ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “อำเภอนี้ลดโลกร้อน 100%” โดยขณะนี้คณะกรรมการทำการคัดเลือกจาก 980 แผนงาน จากทั่วประเทศที่ได้ส่งเข้าประกวด และได้คัดเลือกเหลือเพียง 20 แผนงานสุดท้าย เพื่อให้เยาวชนเจ้าของโครงการมาเข้ารับการอบรมกับ “ค่ายนายอำเภอน้อย” ตั้งแต่วันที่ 1-4 ก.ค. นี้ ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก และในปีนี้ได้กำหนดแนวทางของแผนงานที่เข้าร่วมประกวด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งปลูกฝังให้เยาวชนให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอำเภอกับชาวบ้านในชุมชนในการสร้างสรรค์ชุมชนที่น่าอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนึ่งปัญหาที่หลายอำเภอส่วนใหญ่ทั่วประเทศกำลังประสบอยู่ คือ ปัญหาภัยแล้ง ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน นับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในกับนโยบาย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข“ ผ่านกิจกรรมที่เยาวชนทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการระดมความคิดในการเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาลดโลกร้อนให้อำเภอของตนน่าอยู่ สำหรับเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 60 คน จะได้รับการติวเข้มทั้งเรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ เทคนิคการสื่อสาร และการฝึกฝนการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อเฟ้นหานายอำเภอน้อย รุ่นที่ 2 จำนวน 30 คน เป็นตัวแทนของ กรมการปกครอง ไปร่วมทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาและพัฒนาอำเภอให้น่าอยู่” คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช คณะกรรมการกิติมศักดิ์ กล่าวว่า “ปัญหาภาวะโลกร้อน หรือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมทั่วโลก สำหรับประเทศไทยผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล การระบาดของโรคพืช ศัตรูพืชและวัชพืช การเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และที่สำคัญยังเกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนในประเทศด้วย ดิฉันรู้สึกดีใจที่กรมการปกครองได้เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และมุ่งสนับสนุนให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมแก้ไขและพัฒนาชุมชนของตนเอง เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้การวางแผนบริหารจัดการท้องถิ่น การดำเนินชีวิตที่คำนึงถึงวัฒนธรรม ประเพณี และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งดิฉันอยากให้เด็กๆ ได้เริ่มต้นที่ตนเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การลดปริมาณขยะ เลือกใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การประหยัดน้ำ ไฟ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเหมาะสมกับท้องถิ่น และยึดหลักพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งปฎิบัติให้เป็นตัวอย่างกับครอบครัวและเพื่อนๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำ หรือ “นายอำเภอ” ที่จะทำหน้าที่ดูแลชุมชนของตนต่อไป ดิฉันเชื่อว่าหลายๆ แผนงานที่คณะกรรมการได้ตัดสินให้ผ่านเข้ารอบ จะเป็นแผนงานที่สามารถนำไปรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมได้จริง จุดประกายให้คนในชุมชนเกิดความรัก หวงแหนในชุมชนของตน ส่งผลให้เกิดเป็นอำเภอน่าอยู่ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนทุกคน” คุณศุ บุญเลี้ยง วิยากรด้านความคิดสร้างสรรค์ กล่าวว่า “สำหรับการเข้าค่ายนายอำเภอน้อยที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ผมยังรับหน้าที่เป็นวิทยากรในค่ายครั้งนี้เป็นปีที่ 2 สำหรับหัวข้อในปีนี้ มนุษย์เป็นเป็นผู้กระทำ ดังนั้นวิธีแก้ที่ดีที่สุดกล่าวคือแก้ที่ตัวมนุษย์หรือตัวพวกเรานั่นเอง ถ้าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวได้ การปลูกต้นไม้ก็ส่งผลต่อดวงดาวได้เช่นกัน คนทำอะไรก็ย่อมส่งผลต่อจักรวาลทั้งดีหรือไม่ดี ถ้าความคิดดี จักรวาลนี้ก็จะดีตาม ดังนั้นจึงพยายามฝึกให้คิดกันมากๆ ก่อนลงมือทำ” สำหรับ 20 แผนงานที่จะผ่านเข้ารอบนี้ จะได้รับเลือกให้นำแผนงานไปลงพื้นปฏิบัติงานจริง โดยมีนายอำเภอเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ นายอำเภอน้อยทุกทีม สำหรับรางวัลแผนงานที่ได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษาจาก กรมการปกครอง รวม 15,000 บาท และใน 20 แผนงานที่เข้ารอบ จะได้เข้าร่วมรับการอบรม “ค่ายนายอำเภอน้อย” เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน และทีมที่เข้ารอบทุกทีมจะได้รับเงินทุนสนับสนุนการจัดกิจกรรมรณรงค์หรือผลิตสื่อเพื่อนำไปลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ทีมละ 5,000 บาท “ในปีนี้ทางคณะกรรมการตัดสินเองล้วนทึ่งในความคิด ความสามารถของเด็กไทย ที่เยาวชนสามารถนำเสนอความคิดเชิงสร้างสรรค์ของตนเอง ต่อการพัฒนาชุมชนได้อย่างหลากหลายและแปลกใหม่ ซึ่งบางโครงการก็สามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้จริงในทันที สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนไทยในหลายอำเภอมีความเข้าใจ ห่วงใย และใส่ใจคนในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ต้องการให้คนในชุมชนเกิดความรัก ความสามัคคี และเกิดความร่วมแรงร่วมใจที่จะช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นของตนให้พัฒนาน่าอยู่ยิ่งขึ้น และมีความพร้อมที่จะร่วมคิดร่วมทำกับผู้ใหญ่ กรมการปกครองจะได้นำแนวคิดดีๆ จากทีมที่ชนะเลิศและจากแผนงานทุกแผนที่ส่งเข้ามาประกวด ไปหารือกับนายอำเภอทั่วประเทศ และจะผลักดันให้กิจกรรมดีๆ ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี” อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวสรุปในที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ทีมงานประชาสัมพันธ์ ลภาพรรณ 086-3111428 หรือ วุฒิชัย 081-7509121 E-mail : nai_ampur_noi@hotmail.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ