กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--สสส.
จากสถานการณ์สุขภาพของคนไทยในภาคอีสาน โดยสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าประชากในภาคอีสานช่วง 20 ปีให้หลังนี้ติดอันดับป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานสูงสุดของประเทศ คือ 32.51 รายต่อประชากร 1 แสนคน จึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยที่น่าจะเกิดจากการบริโภคข้าวเหนียวสายพันธุ์เดียวคือ “กข.60”
ด้วยเหตุนี้ทาง เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงร่วมกับ สถานีอนามัยนากระเดา และ องค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดทำ “โครงการพันธุ์ข้าวต้านเบาหวาน” เพื่อหาคำตอบต่อข้อสงสัย โดยทดลองให้ผู้ป่วยเบาหวานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค “ข้าวหอมมะลิแดง” ซึ่งมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายหลากหลายมากกว่า
นายจรินทร์ คะโยธา ผู้ประสานงานเครือข่ายภูมินิเวศน์จังหวัดกาฬสินธุ์และนครพนม เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน และผู้ประสานงานโครงการพันธุ์ข้าวต้านเบาหวานเปิดเผยว่า งานของเครือข่ายฯ มุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและพันธุ์ผักพื้นถิ่น ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนแนวคิดของเกษตรกรให้หันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี โดยปัจจุบันในพื้นที่อำเภอนาคูมีเกษตรกรในเครือข่ายจำนวน 47 ครัวเรือน ซึ่งแต่ละบ้านจะแบ่งพื้นที่นาประมาณ 5 ไร่มาปลูกและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านหลายสายพันธุ์ และทำการเกษตรแบบผสมผสาน
“มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุตรงกันว่าพันธุ์ข้าวพื้นบ้านมีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวที่นิยมปลูกและบริโภคในปัจจุบันที่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ และเมื่อมองย้อนไปในอดีต พบว่าบรรพบุรุษของเรามีการปลูกและบริโภคข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์ ทำให้ไม่มีใครป่วยเป็นโรคเบาหวาน ประกอบกับเกษตรกรในเครือข่ายมีการปลูกข้าวหอมมะลิแดงอยู่แล้ว จึงร่วมกับสถานีอนามัยนากระเดา ทดลองให้กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานกินข้าวหอมละลิแดงของเครือข่ายที่ส่งไปตรวจที่สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีคุณสมบัติป้องกันโรคเบาหวานได้ เพื่อหาข้อสรุปที่จะนำไปสู่การขยายผลในการปลูกและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพราะข้าวเจ้าเป็นข้าวที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดและปลูกทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ” นายจรินทร์ระบุ
นายอำนาจ วิลาศรี ประธานเครือข่ายภูมินิเวศน์จังหวัดกาฬสินธุ์และนครพนมฯ เล่าว่าในตำบลสายนาวังมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านประมาณ 10 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบันเหลือยู่เพียง 4 พันธุ์เท่านั้นคือ ข้าวก่ำ ข้าวสันป่าตอง ข้าวกอเดียว และข้าวหอมมะลิแดง ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นบ้านเหล่านี้มีข้อดีคือทนต่อโรคและความแล้ง ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี แต่ให้ผลผลิตและน้ำหนักดีมีรสชาติอร่อย และจากการสอบถามคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ พบว่าสมัยก่อนมีการกินข้าวไม่น้อยกว่า 7 สายพันธุ์สลับกันไปทำให้ไม่มีใครป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะ “ข้าวก่ำ” นั้นถือได้ว่าเป็นพญาข้าว จึงมีการบอกต่อๆ กันมาว่าทำนาอย่าลืมนำข้าวก่ำให้เอาไปหุงต้มผสมกินจะเป็นยาเพราะเป็นข้าวที่ดีที่สุด
“สาเหตุที่ทางเครือข่ายเลือกใช้ข้าวหอมมะลิแดงให้ผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนทดลองกินนั้น เพราะมีผลการตรวจจากห้องทดลองถึงคุณประโยชน์ของข้าวชนิดนี้แล้ว จึงต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้จริง โดยประสานกับทาง อบต. และสถานีอนามัยให้มีการตรวจติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ หลังจากทดลองมา 6 เดือนก็พบว่าช่วยลดได้จริง แต่ปัญหาที่พบคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ชอบกินข้าวเจ้าบางคนกินไม่ครบทุกมื้อตามที่ต้องการทำให้ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งต่อไปทางเครือข่ายก็จะทดลองนำข้าวก่ำไปผสมกับข้าวเหนียวให้อาสาสมัครทดลองกินดูว่าจะมีผลอย่างไร” นายอำนาจกล่าว
นางดวงพร บุญธรรม หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านนากระเดา เปิดเผยว่าในพื้นที่ 4 หมู่บ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีอนามัยประกอบไปด้วยบ้านกุดตาใกล้ หมู่ 4 และหมู่ 7 บ้านนากระเดา หมู่ 5 และหมู่ 6 จากการสำรวจพบว่ามีประชากรป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงถึง 70 คน และอีก 20 คนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะน้ำตาลสูงที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งทั้งผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้คนในหมู่บ้านมีความเสี่ยงกับการเป็นโรคเบาหวานสูงมาก ประกอบกับทางเครือข่ายเกษตรทางเลือกฯ มีโครงการพันธุ์ข้าวต้านเบาหวาน จึงหาอาสาสมัครจำนวน 18 คนมาเข้าร่วมโครงการ โดยให้ข้าวไปทดลองคนละ 5 กิโลกรัม และขอความร่วมมือให้กินข้าวพันธุ์หอมมะลิแดงให้ได้ทุกวันๆ ละ 3 มื้อ
“ปัญหาก็คือบางคนกินบ้างไม่กินบ้าง ไม่ครบ 3 มื้อตามที่ขอ เกิดจากการใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิแดงซึ่งเป็นข้าวเจ้าที่ชาวบ้านไม่นิยมรับประทาน หลังจากนั้น 1 เดือนก็มาตรวจเลือดพบว่ามีผู้ป่วย 8 คนที่มีน้ำตาลลดลง แต่อีก 8 คนกลับมีน้ำตาลเพิ่มขึ้นและ 2 คนมีค่าคงที่ ก็เลยทดลองต่ออีก 3 เดือนซึ่งพบว่ามี 4 คนที่น้ำตาลลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลที่ได้อาจจะยังไม่มีความแน่นอน แต่ถือว่าเป็นการนำร่องให้เกิดมีการขยายผลการทดลองเพิ่มขึ้นกับชาวบ้านอีก 32 รายอย่างจริงจังมากขึ้นในขณะนี้ โดยจะมีการติดตามลึกไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคหรือปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อค่าน้ำตาลด้วย” นางดวงพรกล่าว
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สสส. เปิดเผยว่าการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ทำให้ต้องใช้ปัจจัยการผลิตเช่นปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากซึ่งมีต้นทุนสูง ซึ่งการที่จะลดหรือเลิกใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ลงได้ก็คือการหาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ผ่านพัฒนาและรักษาสืบทอดกันมาอย่างยาวนานจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกและได้ผลผลิตที่ดี
“ข้าวพันธุ์พื้นบ้านสายพันธุ์ต่างๆ จะมีคุณค่าของสารอาหารในสัดส่วนที่สูงกว่าข้าวทั่วไปที่นิยมกันในปัจจุบัน อย่างเช่นข้าวหอมมะลิแดงหรือข้าวก่ำ ที่มีเปอร์เซ็นต์ของสารต้านอนุมูลอิสระและมีวิตามินเอในอัตราส่วนที่มาก บางสายพันธุ์มีวิตามินอีสูงมากกว่าถึง 26 เท่าของข้าวทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก” นายวิฑูรย์กล่าวสรุป.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 086-3689419 bb