กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดลคัดเลือกผลงานของอาจารย์ นักวิชาการ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในปีนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกำหนดจะเสด็จฯ ในวันจันทร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ หอประชุมกองทัพเรือ ผู้ได้รับรางวัลมีทั้งหมด ๔ สาขา ได้แก่ ๑) สาขาความเป็นครู มีผู้ได้รับรางวัลจำนวน ๒ ราย คือ ศาสตราจารย์คลินิก ทันตแพทย์หญิง จิราภรณ์ ชัยวัฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ๒) สาขาการประดิษฐ์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ เรืออากาศเอก นายแพทย์ ชลเวช ชวศิริ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ๓) สาขาการแต่งตำรา ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล และ ๔) สาขาการบริการ ได้แก่ นางสาวสอาด พิมพ์ปติมา ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู
ศาสตราจารย์คลินิก ทันตแพทย์หญิง จิราภรณ์ ชัยวัฒน์ ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (เหรียญทอง) จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศนียบัตรฝึกอบรม สาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน จากมหาวิทยาลัยเบอร์เก้น นอร์เวย์ และอนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญ สาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน จากทันตแพทยสภา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนในสาขาทันตกรรมจัดฟันทั้งในระดับปริญญาตรี และหลังปริญญา และทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน ทั้งในระดับปริญญาตรีและหลังปริญญาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานทางวิชาการทันตกรรมจัดฟันให้มีคุณภาพในระดับมาตรฐาน ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในโครงการทันตกรรมจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร เพื่อการแก้ไขผู้ป่วยที่มีความพิการทางใบหน้าและขากรรไกร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์และประสาทวิทยา จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศนียบัตรฝึกอบรม สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ จาก มหาวิทยาลัยเคสเวสเทิร์นรีเสิร์ฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นกรรมการถวายการตรวจและรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแพทย์ศาสตร์ทั้งระดับก่อนและหลังปริญญาของภาควิชาอายุรศาสตร์และของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการเรียนการสอนวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ทั้งระดับแพทยศาสตรบัณฑิต และระดับหลังปริญญา ให้บริการทางการแพทย์ และทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งนิรันดร์ เป็นผู้มีบุคลิก จิตใจที่มีความเป็นครูอย่างแท้จริง และมีการปฏิบัติเป็นแบบอย่างด้านความเป็นครูอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์
รองศาสตราจารย์ เรืออากาศเอก นายแพทย์ ชลเวช ชวศิริ หัวหน้าศูนย์ผู้บาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศรีนวล ชวศิริ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูเด็ก ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประดิษฐ์รถเข็นนั่งปรับยืนได้ (Siriraj stand up wheelchair) ทำให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันในท่ายืนได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดแผลกดทับได้ดี ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดีขึ้นเพราะลดการพึ่งพาผู้อื่น ที่สำคัญคือมีราคาเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทย โดยมีราคาถูกกว่าของนำเข้าถึง ๑๐ เท่าหรือประมาณ ๒๐,๐๐๐ — ๓๐,๐๐๐ บาท จากสินค้าต่างประเทศที่มีราคาประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ — ๓๐๐,๐๐๐ บาท ขณะนี้โครงการ Siriraj stand up wheelchair ได้จดสิทธิบัตรไว้แล้ว พร้อมพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา
รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ ที่ปรึกษาอาวุโส คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลจากผลงานการแต่งตำรา เรื่อง “ระบบการจัดเก็บและการสืบค้นสารสนเทศด้วยคอมพิวเตอร์ (Information Storage and Retrieval Systems)” หรือชื่อย่อว่า IR เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงในการทำงานวิชาการ และจากการพัฒนาพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ฉบับแรกของโลก ซึ่งได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ และรางวัลจากมหาวิทยาลัย UC Berkeley สหรัฐอเมริกา หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกในวิชา IR ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย เป็นประโยชน์ใน ๒ แนวทาง แนวทางหนึ่งเพื่อใช้เป็นตำราเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และอีกแนวทางหนึ่งเพื่อใช้เป็นตำราในการพัฒนาระบบ IR เช่น สร้าง Search Engine เป็นต้น
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ
นางสาวสอาด พิมพ์ปติมา รองหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล ด้านบริการ โรงพยาบาลศิริราช รับผิดชอบหน่วยงานในกำกับดูแล ๑๑ สาขาการพยาบาล (จำนวน ๑๗๐ หอผู้ป่วย / หน่วย) รวมทั้งงานพัฒนาคุณภาพการพยาบาล มีผู้ร่วมงานกว่า ๕,๐๐๐ คน นางสาวสะอาดเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้นำพัฒนาคุณภาพด้านความปลอดภัยในการบริการพยาบาล ริเริ่มระบบป้องกันการลื่นตกหกล้มในงานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษ ปรับปรุงจัดทำสัญลักษณ์ และคู่มือปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช จัดทำโครงการ Patient Safety Walk Rally สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยแก่บุคลากร ร่วมบุกเบิกพัฒนางานบริการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ณ จุดดูแลผู้ป่วย (POCT glucose) สู่ระดับมาตรฐานสากล จนได้รับการรับรองสามารถมาตรฐาน ISO 22870 เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและในเอเชียอาคเนย์