กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--กทม.
นายวสันต์ มีวงษ์ รองโฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 17/2553 ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เมื่อช่วงเดือนเมษายนต่อเนื่องเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือโดยเร็ว ซึ่งจากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบมาลงทะเบียนที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง” ณ สำนักงานเขตพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบและการชุมนุมทางการเมือง ทั้ง 7 เขต ปรากฎว่ามีผู้มาลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 61,746 ราย แบ่งเป็น เขตปทุมวัน 42,027 ราย เขตราชเทวี 9,536 ราย เขตบางรัก 6,411 ราย เขตคลองเตย 2,087 ราย เขตสาทร 653 ราย เขตวัฒนา 637 ราย และเขตดินแดง 395 ราย
รองโฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้ส่งคำร้องให้คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งคณะกรรมการได้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการ รายละ 50,000 บาท ตามงบประมาณของรัฐบาล โดยอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 2,009 ราย แบ่งจ่ายเป็น 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 2 - 20 มิถุนายน 2553 และอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ อีก 1,071 ราย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครทำหน้าที่ในการรับลงทะเบียนผู้ประสบภัยและคัดกรองข้อมูลเบื้องต้น เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลดำเนินการให้ความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นพบปัญหาข้อมูลซ้ำซ้อน และมีผู้ปลอมแปลงเอกสารมาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการตรวจสอบ จึงได้มีการให้ผู้รับผลกระทบแจ้งความ ณ สน.พื้นที่ ก่อนมาลงทะเบียนรับความช่วยเหลือ ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนจริงจะถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จต่อไป สำหรับกองทุน Together We Can รวมกัน เราทำได้ ซึ่งขณะนี้มียอดเงินบริจาครวม 13 ล้านบาท อยู่ระหว่างการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการจากบุคคลภายนอกเข้าทำหน้าที่กำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงิน
ขยายเวลารับเงินช่วยเหลือจากเหตุเพลิงไหม้ถึง 13 ก.ค.นี้
พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานครโดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ ตั้งแต่วันที่ 3 - 24 มิถุนายน 2553 รายละ 10,000 บาท จำนวน 992 ครอบครัว รวมวงเงินช่วยเหลือ 9,706,934 บาท และขยายเวลาให้ผู้ประกอบการฯ ที่ยังไม่ได้ติดต่อขอรับเงินช่วยเหลือสามารถติดต่อขอรับเงินช่วยเหลือได้ถึงวันที่ 13 ก.ค.53 นี้
จัดพื้นที่ขายสินค้าสำหรับผู้ค้ารายย่อย และหาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ
รองโฆษกกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพื้นที่ค้าขาย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดหาพื้นที่ขายสินค้าสำหรับผู้ค้ารายย่อย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อาคารซิตี้คอมเพล็กซ์ เมโทรแฟชั่นมอลล์ เซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่พลาซ่า จตุจักรสแควร์และจตุจักรเซ็น กรุงทองพลาซ่า และร่วมกับสำนักงานเขตบางรักจัดงานงานถนนคนเดิน Together We Can : Grand Sale @ สีลม เมื่อวันที่ 12 - 13 มิถุนายน 2553 ผู้ได้รับสิทธิ์ออกร้าน จำนวน 1,541 ร้าน มีเงินสะพัดกว่า 120 ล้านบาท และในพื้นที่ของสำนักงานเขตราชเทวี จัดงาน Together We Can : Grand Sale @ รางน้ำ เมื่อวันที่ 19 - 20 มิถุนายน 2553 ผู้ได้รับสิทธิ์ออกร้าน จำนวน 700 ร้าน มีเงินสะพัด 70 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังจัดโครงการ Together We Can “ยิ้มสู้...กู้สร้างอาชีพ 2” ซึ่งดำเนินการร่วมกับธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตกรุงเทพมหานคร โดยขยายวงเงินกู้จาก 1 แสน เป็น 2 แสนบาท และให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำด้วย