กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
ดัชนีอุตฯ พ.ค.ยังพุ่ง 15.9% กำลังการผลิต 64% การผลิตกลุ่มน้ำดื่ม ยานยนต์ Hard disk drive การแปรรูปสัตว์น้ำ การผลิตเหล็ก ยอดผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น
ดร.สมชาย หาญหิรัญ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2553 ขยายตัว 15.9% มีอัตรากการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลต่อการขยายตัวที่สำคัญ ประกอบด้วย การผลิตน้ำดื่ม ยานยนต์ Hard disk drive การแปรรูปสัตว์น้ำ การผลิตเหล็ก เป็นต้น
ดร.สมชาย กล่าวว่า การผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น 17.2%และ10.2% ตามลำดับ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าการดื่มน้ำบริสุทธิ์บรรจุขวดที่ผลิตจากโรงงานมีความสะอาด ผู้ผลิตจึงมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหลากหลายรูปแบบ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวผู้บริโภคมีกำลังจับจ่ายสินค้ามากขึ้น และเดือนพ.ค.ยังอยู่ในช่วงฤดูร้อน จึงมีความต้องการบริโภคน้ำดื่มในปริมาณที่สูง ส่งผลต่อการขยายตัวทั้งการผลิตและจำหน่ายดังกล่าว
การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตและจำหน่ายขยายตัวถึง 90.6%และ 78.9% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวของทุกรถยนต์ทุกประเภท เนื่องจากผู้ผลิตเร่งผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและส่งออก โดยในเดือนพ.ค.การส่งออกรถยนต์สูงขึ้นกว่า 135.25% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปีปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ จาก 1.4 ล้านคัน เป็น 1.5-1.6 ล้านคัน โดยจำหน่ายในประเทศประมาณ 7 แสนคัน และส่งออกประมาณ 9 แสนคัน
การผลิต Hard disk drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 14.5% และ 6.4% ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และการปรับตัวของผู้ผลิตที่สามารถผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดต่างประเทศที่สำคัญคือ จีน และสหรัฐอเมริกา โดยตลอดปี 2553 มีทิศทางการขยายตัวที่ดี เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อการส่งออกที่แข็งแกร่ง สามารถรับคำสั่งซื้อได้เป็นจำนวนมากและส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนด ผู้นำเข้าทั่วโลกจึงให้ความไว้วางใจ ส่งผลต่อการขยายตัว ทั้งปีคาดว่าจะอยู่ประมาณ 10%
การผลิตอาหารแปรรูปจากสัตว์น้ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.6% และ 14.7% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสินค้าหลัก เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง และเนื้อปลาแช่แข็ง ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าจากทั่วโลกเนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และช่วงเดือนพ.ค.นี้มีปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวแม็กซิโกทำให้สหรัฐอเมริกาสั่งนำเข้ากุ้งจากไทยมากขึ้น
การผลิตเหล็ก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 42.0% และ 27.6% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นไปตามทิศทางการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้าง และโครงการใหญ่ของรัฐบาลในด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในด้านต่างๆมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และราคาเหล็กในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการปรับตัวให้สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบแรเหล็กมากนัก
นอกจากนี้ ดร.สมชาย ยังได้สรุปภาพรวมภาพรวม MPI เดือนพฤษภาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้
ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 184.94 เพิ่มขึ้น 15.9% จากระดับ 159.57 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 186.29 เพิ่มขึ้น 18.4% จากระดับ 157.39 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 189.17 เพิ่มขึ้น 5.4% จากระดับ 179.54 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 117.30 เพิ่มขึ้น 8.3% จากระดับ 108.32 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 139.53 เพิ่มขึ้น 2.9% จากระดับ 135.65 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 64.0%
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
Index 2552 2553
พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค.
ดัชนีผลผลิต 159.24 170.14 167.78 169.36 186.59 180.19 180.37 194.66 179.62 183.31 211.73 179.34 184.94
อุตสาหกรรม
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % 9.2 6.6 -1.3 0.8 10.1 -3.3 0.03 8.0 -7.9 2.0 15.6 -15.6 2.8
อัตราการ -12.4 -6.8 -9.0 -8.6 1.0 -0.5 7.5 30.7 29.1 31.1 32.6 23.0 15.9
เปลี่ยนแปลง (YOY) %
อัตราการใช้ 55.0 55.7 57.0 57.2 60.1 61.0 60.3 61.8 60.4 60.6 67.9 57.9 64.0
กำลังการผลิต %
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม