กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--สสวท.
ผู้แทนประเทศไทยที่จะเดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ หรือ โอลิมปิกวิชาการ ประจำปี พ. ศ. 2553 จำนวน 5 สาขาวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ กำลังจะออกเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการกันแล้ว โดยก่อนออกเดินทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้นำผู้แทนประเทศไทยไปเข้าคารวะฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีววะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 ณ ทำเนียบรัฐบาล
นอกจากนั้นวันที่ 24 มิถุนายน 2553 สสวท. ยังได้จัดงานเลี้ยงส่งคณะผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ โดยมี นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน
งานนี้ นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวแสดงความยินดี ต่อคณะผู้แทนประเทศไทย ฯ ว่า “รู้สึกยินดีมากที่ได้ทราบว่า มีนักเรียนสมัครสอบคัดเลือกเข้าโครงการนี้หลายหมื่นคน เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่สนใจเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์มีอยู่เป็นจำนวนมาก และขอแสดงความชื่นชม ยินดี กับผู้แทนประเทศไทยทั้ง 23 คน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ใช้ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และประสบการณ์ในการแก้ปัยหาทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และในฐานะเยาวชนไทย ขอให้ทุกคน ได้แสดงเอกลักษณืความเป็นไทย มีความสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจ อดทน ซื่อสัตย์ และรู้จักให้เกียรติผู้อื่น ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกชาติ ทุกภาษา และสิ่งนี้จะเป็นการส้รางชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยได้อย่างดียิ่ง”
ผู้แทนประเทศไทยทีมแรก ใน 5 สาขาวิชา ที่เดินทางไปชิงชัย ได้แก่ คณิตศาสตร์โอลิมปิก จำนวน 6 คน ณ เมืองแอสตานา ประเทศคาซัคสถาน ในวันที่ 2 — 15 กรกฎาคม 2553 ต่อมาเป็นชีววิทยาโอลิมปิก จำนวน 4 คน แข่งขันที่ ณ เมืองชางวอน ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 11 — 18 กรกฎาคม 2553 ฟิสิกส์โอลิมปิก จำนวน 5 คน แข่งขัน ณ กรุงซาเกรบ ประเทศโครเอเชีย ในวันที่ 17 — 25 กรกฎาคม 2553 เคมีโอลิมปิก จำนวน 4 คน แข่งขัน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 19 — 28 กรกฎาคม 2553 และสุดท้าย คือ คอมพิวเตอร์โอลิมปิก จำนวน 4 คน แข่งขัน ณ เมืองออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ในวันที่ 14 — 21 สิงหาคม 2553
นายภควุฒิ จิรดิลก หรือ “โปร” ผู้แทนประเทศไทยวิชาคณิตศาสตร์ กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า บอกว่า การแข่งขันทำให้เขา และเด็กคนอื่นๆ เกิดความคิดที่อยากจะพัฒนาตนเองเพิ่มมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ส่วนสำหรับตัวเองนั้นได้ตั้งเป้าหมายในอนาคต อยากจะกลับมาเป็นอาจารย์คนหนึ่งในโครงการโอลิมปิกวิชาการฯของประเทศไทย เพื่อนำความรู้ และประสบการณ์มาถ่ายทอดพัฒนาเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป
นายอิสระพงศ์ เอกสินชล หรือ “ปริ๊นซ์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เคยนำชื่อเสียงและความภูมิใจมาให้ชาวไทยด้วยการคว้ารางวัลเหรียญเงิน จากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2552 ที่ประเทศเม็กซิโกมาแล้ว และปีนี้ “ปริ๊นซ์” ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยวิชาฟิสิกส์ อีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกฯ นั้นมีผลต่อการเรียนของเขา รวมถึงเด็กอีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะทำให้มีจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้มากขึ้น และทุนการศึกษาของโครงการโอลิมปิกวิชาการ ในการศึกษาต่อต่างประเทศเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่การจะเรียนให้ได้ดีนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องค้นหาตัวเองให้พบว่า ชอบหรือถนัดด้านใดมากที่สุด จากนั้นจึงมุ่งมั่นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
นายอลิฟ น้อยคำ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม หนึ่งในคณะผู้แทนประเทศไทยที่เคยสร้างชื่อเมื่อปีที่แล้วใน การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่ประเทศอังกฤษ ด้วยการคว้าเหรียญเงินมาครอง สำหรับปีนี้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งเคมีโอลิมปิกอีกครั้ง กล่าวว่า “ดีใจที่มีโอกาสอีกครั้งหนึ่งครับ การเตรียมตัวครั้งนี้ได้พยายามอ่านหนังสือ ทำโจทย์ให้มากๆ เพื่อจะได้มีความพร้อมในการแข่งขัน” และเล่าว่าวิชาเคมีเป็นวิชาที่เหมาะสมกับความชอบตนเอง เพราะต้องใช้ทั้งความเข้าใจ และความจำ ดังนั้นจึงพยายามค้นคว้าหาความรู้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ก้าวไปสู่ในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังชอบวิชาชีววิทยา เพราะว่าพื้นฐานทางเคมีบางส่วนสามารถนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ หรือกลไกลต่างๆในชีววิทยาได้
ธนัท โชติจารุมณีวงศ์ หรือ “ต้น” คือหนึ่งในสี่ของผู้แทนประเทศไทยชีววิทยาโอลิมปิกปีนี้ ช่วงที่ได้รับการคัดเลือก ธนัท เรียนอยู่ที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แต่ขณะนี้เขาก้าวเข้าสู่รั้วของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในวิชาชีววิทยาเป็นพิเศษ เพราะเป็นคนที่ชอบในการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ชอบการทดลองที่มีการประยุกต์วิชาต่างๆเข้ามาใช้ โดยเฉพาะในการผ่าตัดสัตว์ ทำให้มีโอกาสได้เห็นของจริง ช่วยในการเรียนรู้ และเกิดเข้าใจในวิชาชีววิทยา ทำให้ ธนัท เรียนชีววิทยาได้ดีจนได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยปีนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนัท เคยสร้างความภาคภูมิใจบนเวทีแข่งขันนานาชาติมาแล้ว จากการคว้ารางวัลเหรียญเงิน จากการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 3 ที่ประเทศบราซิล
นางสาวพิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ หรือ “น้องพินพิน” สาวน้อยคนเดียวของทีมผู้แทนประเทศไทยคอมพิวเตอร์โอลิมปิก เพิ่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เคยเป็นผู้แทนประเทศไทย วิชาเคมี และคว้ารางวัลเหรียญเงิน ในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการที่ประเทศอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว สำหรับปีนี้ พินพิน บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับโอกาสนี้อีกครั้ง ความกดดันมีบ้าง แต่พยายามไม่ให้มีผลกระทบต่อการใช้ศักยภาพของตัวเราให้เต็มที่ ก่อนการแข่งขันมีการเตรียมตัวทั้งด้านวิชาการ การดูแลรักษาสุขภาพ และการเตรียมจิตใจให้มั่นคง มีสมาธิอยู่เสมอด้วย
ช่วงที่เวทีชิงชัยโอลิมปิกวิชาการ กำลังจะเริ่มต้นขึ้นจึงขอเชิญชาวไทยทุกท่าน ส่งแรงใจ เชียร์เด็กไทย ชิงชัยโอลิมปิกวิชาการครั้งนี้กัน