‘มีดตัดอ้อยต้นแบบ’เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว ผลวิจัยจาก “มิตรผลวิจัยฯ ร่วมกับ สวทช.”

ข่าวทั่วไป Thursday May 10, 2007 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--iTAP
สวทช. ร่วมกับ บ.มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด พัฒนา ‘มีดตัดอ้อย’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือสำหรับเก็บเกี่ยวอ้อยแก่คนตัดอ้อย หวังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนตัดอ้อย และลดความเหนื่อยล้าจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพดีขึ้นเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำตาลในโรงงาน ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ ‘น้ำตาลที่มีคุณภาพ’ เพิ่มมากขึ้น
“อ้อย”เป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาล แต่ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยจากไร่ ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคนในการตัด ดังนั้น อุปกรณ์ในการตัดอ้อยจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญ และยังมีผลต่อคุณภาพของอ้อยที่ตัดด้วย ผลจากการวิจัยของบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ในกลุ่มมิตรผล พบว่า เครื่องมือการเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะ“มีดตัดอ้อย” มีความสัมพันธ์กับคุณภาพอ้อยและต้นทุนในการเก็บเกี่ยวอ้อยอย่างมาก
ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด กล่าวว่า เครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงที่สำคัญที่สุดสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยจากไร่ คือ มีด และจากผลการศึกษาคุณภาพน้ำตาลที่ผลิตได้ พบว่า อ้อยที่ส่งเข้าสู่โรงงานผลิตยังมีคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ สาเหตุมาจากวัตถุดิบต้นทางที่ไม่ได้คุณภาพ เป็นผลมาจากลักษณะการเก็บเกี่ยวอ้อยของแรงงานหรือคนตัดอ้อย และจากการศึกษาถึงวีถีชีวิตของคนตัดอ้อย ทำให้ได้พบว่า อุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยวอ้อยที่ใช้กันอยู่มีข้อจำกัดในเรื่องของอายุการใช้งานสั้น อีกทั้งยังใช้กันมานานจนเสื่อมสภาพ ขาดความคม ประกอบกับด้ามจับที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ประสิทธิภาพการตัดอ้อยลดลง จึงมีผลต่อคุณภาพของอ้อยที่เข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาล
ในเบื้องต้นบริษัทฯ ได้ทดลองนำมีดตัดอ้อยใหม่ที่ยังไม่ผ่านการวิจัยให้กับกลุ่มคนตัดอ้อยในเครือบริษัททดสอบ พบว่า มีดตัดอ้อยอันใหม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดอ้อยได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาของตัวมีดและด้ามจับมีดยังมีอยู่ คือ ปัญหาใบมีดสึก ด้ามจับขาดและเสื่อม แต่สามารถลดระยะเวลาในการลับมีดลงไปครึ่งหนึ่งจากเดิมที่ต้องคอยลับมีดวันละหลายครั้ง อีกทั้งการลับมีดบ่อยๆ จะส่งผลเสียทำให้อายุการใช้งานของมีดลดลง เพราะความคมและความแข็งของเหล็กที่ชุบไว้จะค่อยๆ หายไป หากมีการลับมีดน้อยลง อายุการใช้งานก็จะนานขึ้น นอกจากนี้ จากการทดสอบเบื้องต้น ยังพบว่าการใช้มีดแบบใหม่ทำให้รายได้ของแรงงานหรือคนตัดอ้อยเพิ่มขึ้น
ดังนั้น บริษัทฯ ได้นำโจทย์ดังกล่าวมาขอรับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2 โครงการ คือ “โครงการพัฒนาต้นแบบมีดตัดอ้อยด้วยการปรับเปลี่ยนชนิดวัสดุ” โดยมีนายธนาภรณ์ โกราษฎ์ วิศวกรโปรแกรมเทคโนโลยีโลหะ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เป็นที่ปรึกษาโครงการ และ “โครงการพัฒนาสูตรของชิ้นส่วนยางด้ามมีดตัดอ้อย” โดยจัดส่ง ดร.ชูเดช ดีประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยเทคโนโลยียาง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษา
โดยในการพัฒนาต้นแบบมีดตัดอ้อยนั้น ได้ทำการปรับเปลี่ยนชนิดวัสดุจากเนื้อเหล็กแบบเดิม มาเป็นเหล็กแบบใหม่ที่มีคุณสมบัติและคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติเบื้องต้นที่ควบคุมได้ โดยสามารถกำหนดเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนและโลหะผสมได้ และเหมาะในการขึ้นรูปและชุบแข็งในขบวนการแบบปัจจุบัน ลดเวลาในการลับมีดลง ทำให้ได้มีดตัดอ้อยที่มีความแข็งแรง ทนทาน และมีระยะเวลาในการใช้งานนานขึ้น ลดเวลาในการลับมีดลง ทำให้แรงงานมีรายได้จากการตัดอ้อยเพิ่มขึ้น
ส่วนโครงการพัฒนาสูตรยางในด้ามมีดตัดอ้อยนั้น สามารถพัฒนาจนได้สูตรยางใหม่ที่มีคุณสมบัติและคุณภาพสูงกว่าเดิม โดยการนำเอาเทคโนโลยียางเข้ามาช่วย ทำให้ยางที่ใช้ทำด้ามมีดทนต่อสภาวะอากาศและการใช้งาน และมีอายุการใช้งานนานกว่าด้ามจับมีดตัดอ้อยที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีการปรับเปลี่ยนสีและสูตรยางจากยางสีดา มาเป็นยางสีฟ้าและยางสีเหลือง เพื่อให้เป็นไปตามคอนเซ็ปท์ของบริษัทฯ โดยสูตรที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ ใช้ “ซิลิก้า” เข้ามาเป็นตัวเสริมในยางด้ามจับมีด ซึ่งนอกจากจะทำให้ยางด้ามมีดสีสันสวยงามแล้ว ยังทำให้มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความคงทนต่อสภาวะอากาศ และลดรอยแตก โดยบริษัทฯ คาดว่า เมื่อได้สูตรยางที่พัฒนาขึ้นใหม่มาใช้ทดแทนสูตรยางเดิมจะทำให้การใช้งานได้นานขึ้นถึง 50-100%
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้นำ “มีดตัดอ้อย” ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ ไปทดลองกับสถานที่จริงในฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อยตั้งแต่ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2549 ถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ด้าน ดร. นันทิยา วิริยบัณฑร ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สวทช. กล่าวว่า โครงการฯ นี้ ถือเป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นโครงการที่ริเริ่มมาจากความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาเครื่องมือสำคัญในการตัดอ้อยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ดังนั้น โครงการปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพของมีดตัดอ้อยทั้งส่วนตัวมีด และด้ามมีด ทำให้เราได้เห็นภาพรวมได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ส่วนของงานวิจัย และการนำไปใช้จริงในภาคสนาม จากนั้นก็จะนำไปสู่ผู้ใช้ที่แท้จริง ก็คือ ชาวไร่อ้อย และคนตัดอ้อย ที่จะได้ใช้มีดตัดอ้อยที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้และลดความเหนื่อยล้าให้กับคนตัดอ้อยและชาวไร่อ้อยได้ทางหนึ่ง
“จากเดิมที่ชาวบ้านต้องลองผิดลองถูก ใช้ความรู้สึกและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยนำวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่นหรือในพื้นที่ราคาถูกมาผลิต โดยไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการ แต่ครั้งนี้เป็นการนำหลักวิชาการเข้ามาประยุกต์ใช้กับงานจริง อีกทั้ง 2โครงการดังกล่าว ยังถือเป็นการนำงานวิจัย เข้าไปตอบโจทย์ ให้กับความต้องการของตลาดหรือผู้ใช้ได้จริง ซึ่งผลที่ได้ออกมาก็ค่อนข้างน่าพอใจ เพราะได้คุณภาพของเครื่องมือที่ดีขึ้น ทั้งลักษณะความคงทนของมีด และในส่วนของด้ามจับมีดที่เป็นยาง ขณะที่ต้นทุนราคาไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก” ดร.นันทิยา กล่าวและว่า
ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ก็คือ ต้องการให้แรงงานหนึ่งคน สามารถตัดอ้อยได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้มากขึ้น และลดความเหนื่อยล้าจากการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการตัดอ้อยที่มีประสิทธิภาพต่ำ นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาเพิ่มเติมในเรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปทรง และดีไซน์ของมีดตัดอ้อยให้มีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมกับสรีระของผู้ใช้มากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่เพียงขนาดเดียว ซึ่งไม่เหมาะกับแรงงานตัดอ้อยที่เป็นผู้หญิงและเด็ก โดยจะเป็นการพัฒนาให้มีดตัดอ้อยมีขนาดและน้ำหนักที่เบาลง เพื่อความเหมาะสมของผู้ใช้ต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
โทร.0-2270-1350-54 ต่อ 115
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

แท็ก สวทช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ