กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--เจ ดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
อุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติไทยเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2554
หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยเติบโตถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อุตสาหกรรม MICE มีอัตราการเติบโตโดยรวมอยู่ที่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ และมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน รายได้และปริมาณผู้เข้าร่วมงานที่เดินทางมายังประเทศไทยจากการจัดงานแสดงสินค้าเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า ซึ่งจุดแข็งของไทยที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อภูมิภาคในเชิงธุรกิจ ได้แก่ การบริการ เศรษฐกิจ สังคม ศิลปะวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการขนส่งคมนาคม ส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติประจำภูมิภาคอาเซียน” ภายในปีพ.ศ. 2554
นายนิพัทธ์ ดิถีเพ็ญ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
(สสปน.) หน่วยงานของรัฐที่ให้การสนับสนุน และส่งเสริมการตลาดให้แก่อุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าไทย กล่าวว่า “จากกระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องปรับตัวให้ทันต่อการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นโอกาสที่ดีของไทยจากความได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ ที่จะแสดงให้ผู้บริโภคทั่วโลกกว่าสามพันล้านคนเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในตลาดโลก”
ประเทศไทยนับว่าเป็นประตูสู่โอกาสทางธุรกิจของภูมิภาค โดยมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง การเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคอาเซียนและประตูสู่อินโดจีน ศูนย์จัดงานแสดงสินค้านานาชาติที่ทันสมัยและสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อม ความแข็งแกร่งของภาคเอกชนในอุตสาหกรรม และการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ โดยมีประชากรกว่า 567 ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวม 1.1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,880 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคน และมีปริมาณการค้ารวม 1.4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ในแต่ละปีเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศในวันที่ 4 มิถุนายน 2007 ว่าเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะเติบโตอยู่ระหว่าง 4 ถึง 4.5 เปอร์เซ็นต์ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมไตรมาสแรกของปีนี้จะสูงขึ้นเป็น 4.3 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่โตเพียง 4.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการส่งออกและการใช้จ่ายของรัฐบาลทำให้ไตรมาสแรกมีการเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
“นับว่าประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้า เนื่องจากได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากรัฐบาล ทั้งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานแสดงสินค้าระดับมืออาชีพ และเป็นประเทศที่มีสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีบุคลากรที่มีความชำนาญ รวมทั้งชื่อเสียงในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก และมีปัจจัยในการเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้าระดับชั้นนำของโลก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าไทยให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทยสามารถดึงดูดธุรกิจที่หลากหลาย และผู้เข้าร่วมงานจากหลายอุตสาหกรรมในหลายประเทศทั่วโลก” คุณนิพัทธ์กล่าว
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานที่จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับโลกรวมทั้งสิ้น 6 แห่ง รวมพื้นที่จัดแสดงกว่า 260,000 ตารางเมตร เป็นอันดับสองรองจากประเทศจีนในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ศูนย์การแสดงสินค้าอิมแพค ศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติกรุงเทพ (BITEC) ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ศูนย์ประชุมเซ็นทรัลเวิร์ล รอยัลพารากอนฮอลล์ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน และศูนย์การประชุมและการจัดนิทรรศการพัทยา (PEACH)
นายวิทยา สินทราพรรณทร ผู้อำนวยการฝ่ายจัดแสดงสินค้านานาชาติ สสปน. กล่าวว่า
ผู้เดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 76,000 คน ในปีพ.ศ. 2546 เป็น 250,000 คนในปีพ.ศ. 2550 โดยประมาณ ซึ่งรายได้จากอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าเช่นกัน จาก 6.25 พันล้านบาท (มากกว่า190 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) เป็น 17.5 พันล้านบาท (มากกว่า 534 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยยังเป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับนานาชาติสำคัญๆ อีกหลายงาน เช่น VIV Asia, Asia Fruit Logistica, ProPak Asia, International Fashion Fair, และ Automechanika เป็นต้น.
นายพรรธระพี ชินะโชติ ประธานสมาคมการแสดงสินค้าไทย องค์กรภาคเอกชนที่รวบรวมผู้เกี่ยวข้องกับการจัดงานแสดงสินค้า กล่าวว่า “สมาคมการแสดงสินค้าไทย หรือ TEA ทำงานร่วมกับ
สสปน. กรมส่งเสริมการส่งออก และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ในนามของ “ไทยทีม” และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายระบบขนส่งมวลชนทั่วกรุงเทพฯ การเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถรองรับแขกผู้มาเยือนได้มากขึ้นหลายเท่า โดยมีการเปิดเที่ยวบินจากหลายประเทศทั่วโลกตรงสู่ประเทศไทย ทำให้การเดินทางมายังประเทศไทยสะดวกขึ้นกว่าเดิมมาก”
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) คือองค์กรของภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ออกโดยพระราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2545 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการได้เริ่มเปิดทำการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมา
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนและประสานงานด้านการจัดการประชุม การจัดงานเพื่อเป็นรางวัล การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่งมักเรียกโดยรวมเป็นคำย่อว่า ‘MICE’ มีที่มาจากการจัดประชุม การจัดงานเพื่อเป็นรางวัล การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการในประเทศไทย การจัดตั้งสสปน.ขึ้นมานี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเติบโตของไทยในการเป็นตัวเลือกหนึ่งของสถานที่จัดงานประชุม งานแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ
สมาคมการแสดงสินค้าไทย (TEA)
สมาคมการแสดงสินค้าไทย หรือ TEA เป็นตัวแทนของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านการจัดงานประชุม งานแสดงสินค้าและนิทรรศการของไทย สมาชิกทั้ง 66 ราย ของสมาคมประกอบไปด้วย ผู้จัดงาน เจ้าของสถานที่ ผู้ประสานงาน และบริษัทขนส่งสินค้า เป้าหมายหลักของสมาคมคือการสนับสนุนอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าของไทยสู่ระดับโลก ยกระดับอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าของไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล และสร้างให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่น่าพึงพอใจในการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
คุณ ปาริฉัตร เศวตเศรนีโทร: 662 694 6000 Ext. 6091 มือถือ: 6681 840 4701อีเมล์: parichat_s@tceb.or.th
JWT (Thailand), JWT Public Relations
คุณ วงศ์จันทร์ ตั้งทรงศักดิ์
โทร: 662 204 8221 มือถือ: 6689 127 2089อีเมล์: wongchan.tangsongsak@jwt.com
คุณ รัตติกาล ตะโกเมืองโทร: 0-2204-8214 มือถือ: 6681 986 6733อีเมล์: rattikan.takomuang@jwt.com