ศาลสระบุรีสั่งยกฟ้อง BWG คดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่

ข่าวทั่วไป Wednesday June 30, 2010 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--IR PLUS ผู้ถือหุ้น BWG ได้เฮ! หลังศาลสระบุรีมีคำสั่งยกฟ้องในคดีบริษัทฯ และกรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในคดีหมายเลขดำที่ 2754/2550 "สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ" เผยเป็นเพราะสามารถพิสูจน์ได้ว่าที่ผ่านมา บริษัทฯปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด มีการรายงานผลสม่ำเสมอตามที่กฎหมายกำหนด และไม่เคยได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลจึงมีคำสั่งยกฟ้องดังกล่าว นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG แจ้งว่า ตามที่ได้มีกลุ่มบุคคลยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดสระบุรี โดยกล่าวหาบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้มีอำนาจในข้อหาร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในคดีหมายเลขดำที่ 2754/2550 ซึ่งบริษัทฯ ได้แจ้งไว้ในรายงานประจำปี 2552 เรื่องปัจจัยความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงแล้วนั้น เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ศาลจังหวัดสระบุรีได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าวแล้ว หลังจากที่บริษัทฯ พิสูจน์ได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการประกอบกิจการ ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด มีการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นประจำและสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และไม่เคยปรากฏว่า บริษัทฯ จะได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด จึงทำให้ศาลจังหวัดสระบุรีได้มีคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งไว้ในรายงานประจำปี 2552 เรื่องปัจจัยความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยง ว่าเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลจังหวัดสระบุรีได้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ และกรรมการผู้มีอำนาจ ในข้อหาร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยศาลจังหวัดสระบุรี ได้มีคำสั่งให้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในวันอังคารที่ 1 กันยายน 2552 และ นัดสืบพยานโจทก์ต่อเนื่องทุกวันอังคาร รวมทั้งสิ้น 11 วันในปี 2552 แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อเนื่องในปี 2553 รวม 5 วัน ในการนี้ ที่ปรึกษาทางกฎหมายของบริษัทฯ มีความเห็นทางคดีดังกล่าวว่า ข้อกล่าวหาของโจทก์ที่กล่าวหาบริษัทฯ ไม่น่าจะรับฟังได้เนื่องจากตลอดระยะเวลาในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น ไม่ปรากฎว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ จะได้ออกคำสั่งด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดเลย ดังนั้น จึงน่าเชื่อได้ว่า เมื่อบริษัทฯได้นำพยานหลักฐานต่างๆ ประกอบการพิจารณาและนำเสนอต่อศาลแล้ว ศาลน่าจะพิจารณาและมีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากผลคดีนี้ถึงที่สุดว่า บริษัทฯ หรือกรรมการบริษัท ได้กระทำผิดตามคำฟ้องผลทางคดี โดยหลักการแล้วมีเพียงการเสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบปรับ และให้ถือว่าคดีเลิกกันตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นายสุวัฒน์ กล่าวต่อถึงปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่เข้ามาใช้บริการ BWG ว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปริมาณขยะเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10 - 20 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และภาครัฐมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการขยะของเหลือมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณขยะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นผลดีต่อบริษัทฯ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจบำบัดขยะอุตสาหกรรมรายใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศ โดยลูกค้าของบริษัทฯ จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่าแสนราย ในขณะที่มีโรงงานที่เข้ากระบวนการบำบัดขยะกับบริษัทประมาณกว่าพันรายเท่านั้น จึงทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก นอกจากนั้น ยังเดินหน้าขยายธุรกิจเข้าสู่การบริหารจัดการขยะชุมชน เพิ่มเติมด้วย หลังจากที่ในปีที่ผ่านมาได้งานโครงการขยะชุมชนที่นครราชสีมามูลค่าประมาณ 412 ล้านบาทเข้ามาเป็นโครงการแรก ข้อมูลบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด (มหาชน) บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจการบริหารและจัดการสิ่งปฏิกูลฯอย่างครบวงจร (One Stop Service) โดยธุรกิจหลักที่ให้บริการมาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ และบริษัทสามารถดำเนินการได้เอง คือ การกำจัด (Disposal) ซึ่งในช่วงเริ่มแรก ปี 2541 เป็นการกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล และต่อมาในปี 2548 ได้ขยายไปสู่การกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบอย่างปลอดภัย (รวมทั้งการฝังกลบอย่างปลอดภัยเมื่อทำการปรับเสถียร หรือทำให้เป็นก้อนแข็งแล้ว) โดยมีศูนย์บริหารและจัดการฯ อยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งภายในศูนย์บริหารและจัดการฯ บริษัทยังสามารถให้บริการบำบัด (Treatment) สำหรับการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางเคมีกายภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทใช้ในการบำบัดน้ำเสียภายในศูนย์บริหารและจัดการฯ ของบริษัทเป็นส่วนใหญ่ แต่หากในอนาคตบริษัทมีกำลังการผลิตเหลือ บริษัทมีนโยบายให้บริการบำบัดน้ำเสียแก่ลูกค้าภายนอกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2550 บริษัทได้มีการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติมในการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) ด้วยการทำเชื้อเพลิงผสม (Fuel Blending) โดยสามารถเริ่มให้บริการในธุรกิจนี้ได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 และนอกจากนี้บริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่การบำบัด (Treatment) ด้วยวิธีเผาทำลายในเตาเผาเฉพาะสำหรับของเสียอันตราย ผ่านบริษัท อัคคีปราการ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย นอกจากนั้น บริษัทมีรายได้ค่าบริการจากการจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ด้วยวิธีการอื่นซึ่งบริษัทมิได้เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองอีกส่วนหนึ่งด้วย อาทิ การส่งไปเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือเผาทำลายร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ และการส่งไปยังโรงงาน เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ (Recycle) เป็นต้น ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ IR PLUS : คุณจุฬารัตน์ เจริญภักดี(ฟ้า) Tel. 02-554-9395 Mobile 089-4888337 E-mail : jurarat@irplus.in.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ