การอภิปรายหัวข้อ “ทิศทางการค้าข้าวโลกปี 2007”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 15, 2007 08:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--คต.
การประชุมThailand Rice Convention 2007 ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 เป็นการอภิปรายในหัวข้อ “สถานการณ์ และแนวโน้มการค้าข้าวโลกปี 2007” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ และประสบการณ์ทางการค้าข้าวจากทั้งในและต่างประเทศร่วมกันนำเสนอข้อมูล โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ การค้าข้าวโลกในปี 2007 คาดการณ์ว่าจะมีความผันผวนสูง เนื่องจากผลผลิตธัญญาหารมีปริมาณต่ำกว่าความต้องการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปริมาณผลผลิตข้าวที่ลดต่ำลง ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ดังนั้นในปี 2007 จะเป็นโอกาสอันดีของผู้ขาย โดยปริมาณการค้าข้าวคาดว่าจะมีปริมาณ 29.360 ล้านตันข้าวสาร และประเทศที่จะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นได้แก่ อินโดนีเซีย จีน และคิวบา โดยเฉพาะอินโดนีเซียคาดว่าจะมีการนำเข้าสูงถึง 1.8 ล้านตันเป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นถึง 4 พันรูเปียต่อกิโลกรัม หรือมากกว่า 500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน
ในขณะที่การส่งออกของไทยคาดว่าจะมีปริมาณ 8.8-9.0 ล้านตัน ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทยได้แก่ การแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ปัญหาความไม่พอเพียงของเรือขนส่งสินค้า จนทำให้อัตราค่าระวางสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และปัญหาการตรวจพบสารปนเปื้อนGMOs ในข้าวสหรัฐฯ
2. Mr. Huynh Minh Hue, Deputy Secretary General of Vietnam Food Association ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2007 เวียดนามส่งออกข้าวไปแล้ว 1.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 18.8 ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของผลผลิตข้าวในช่วงฤดูหนาว และการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้า ความยากลำบากในการทำสัญญา ดังนั้น รัฐบาลเวียดนามจึงได้มีนโยบายและกำหนดทิศทางเพื่อผลักดันการส่งออกข้าวในปี 2007 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ปริมาณ 4.5 ล้านตัน
และเป้าหมายการผลิตข้าวในปี 2010 ที่ปริมาณ 38 ล้านตัน
3. Madame Yang Hang, General Manager, COFCO International (Beijing) China ภายหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าข้าวโลกในปี 2002 ทำให้มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกลดลงโดยจีนสามารถผลิตข้าวได้ร้อยละ 80 ของการบริโภค และเหลือส่งออกเพียงร้อยละ1 ซึ่งเป็นการส่งออกข้าวเมล็ดสั้นคุณภาพดีและเป็นการนำเข้าข้าวเมล็ดยาวที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิจากไทย อย่างไรก็ตามแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคข้าวของชาวจีนเปลี่ยนไปนิยมการบริโภคข้าวเมล็ดสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่ายังคงชื่นชอบการบริโภคข้าวหอมอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรสนิยมการบริโภคข้าวที่บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กกำลังเป็นที่นิยม
4. Mr. Rakesh Sodhia, Managing Director, Phoenix Commodities Ltd Thailand
4.1 ปากีสถาน
ภาพรวมการค้าข้าวของปากีสถาน การส่งออกส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางบกไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อิหร่าน สำหรับสภาพทางภูมิศาสตร์ในการเพาะปลูกข้าว ปลูกมากในรัฐปัญจาบและในภาคกลาง ปากีสถานมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวเมล็ดยาว ข้าว Basmati ซึ่งมีคุณภาพดีและมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะข้าว Super Basmati ที่เป็นข้าวที่ดีที่สุดของปากีสถาน
4.2 อินเดีย
สำหรับข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ปัจจัยสำคัญของการค้าข้าวในอินเดีย คือ ความสมดุลระหว่างการผลิตข้าวสาลีและข้าวขาว เนื่องจากข้าวสาลีเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอินเดีย ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการค้าข้าวของอินเดีย ได้แก่ ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ค่าระวางเรือแพง การยอมรับในคุณภาพข้าวของตลาด ราคาส่งออกสูง
การขนส่งจากแหล่งผลิตถึงผู้บริโภค หรือระบบโลจีสติกส์ เชื่อว่าในอนาคต อินเดียจะเป็นผู้ผลักดันตลาดข้าวที่สำคัญมากในตลาดโลก หากสามารถปรับปรุงเรื่องการเข้าถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะคุณภาพข้าว ระบบการขนส่ง และความสม่ำเสมอทางด้านผลผลิต
4.3 ปัจจัยที่มีผลต่อการค้าข้าวในอีก 3 ปีข้างหน้า
4.3.1 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศกำลังพัฒนามีอัตราเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารและการนำเข้าจึงมากขึ้น จากการบริโภคอาหารที่หลากหลาย รวมทั้ง การแปรรูปอาหารที่เพิ่มขึ้น
- ประเทศจีนจะเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย แม้จะชะลอตัวบ้างในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่คาดว่าจะเติบโตถึง 8%
- ประเทศอินเดีย เติบโตเร็วเช่นกัน แต่ประชากรยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย แต่คาดว่าในอนาคตประชากรจะมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น
- ประเทศผู้ค้าน้ำมัน และประเทศที่แตกออกจากสหภาพโซเวียต เช่น ยูเครน ก็มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการค้าข้าวของโลก
4.3.2 อัตราการเจริญเติบโตของประชากร เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการค้าข้าว หากจำนวนประชากรลดลง ก็มีความต้องการอาหารลดลงด้วย ประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย มีอัตราการเติบโตของประชากรลดลง ส่วนสหรัฐอเมริกามีประชากรเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้อพยพเข้าไปอาศัยอยู่เพิ่มขึ้น
4.3.3 นโยบายการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ การค้าขายขึ้นกับความตกลงทั้งทวิภาคีและพหุภาคี การค้าภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปการค้าของประเทศต่างๆ
5. Mr. Conrad N. Creffield, Director, Novel Commodities SA, Switzerland นโยบายการเจรจาขายข้าว G to G ที่มากขึ้นของเวียดนาม และปัญหาเรื่อง GMOs ของข้าวสหรัฐฯ จะเป็นโอกาสให้ข้าวในแถบเอเชียมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงสถานการณ์และนโยบายของแต่ละประเทศประกอบด้วย โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาที่มีการกำหนดมาตรการสต็อกสินค้าที่ต้องรอให้ข้าวในสต็อกหมดก่อนถึงจะนำเข้าได้ การให้เงินอุดหนุนชาวนาผู้ปลูกข้าว รวมทั้งการให้เงินอุดหนุนชาวนาของประเทศผู้ส่งออกข้าวอาจไม่เป็นผลดีเช่นกัน
ทั้งนี้ประเทศผู้ส่งออกหลัก คือ ประเทศไทยที่จะต้องขยายการขายข้าวคุณภาพดี โดยมีเวียดนามรองลงมา ในขณะที่ผู้นำเข้ามีทางเลือกมากขึ้น ข้าวคุณภาพดีและข้าวคุณภาพต่ำ เช่น ข้าวของปากีสถาน หรือแอฟริกาใต้ จะขายได้ยากขึ้น สำหรับในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น ยังมีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณข้าว จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น
รายได้ต่อหัวของประชากรและความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ค่าเงินที่มีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ