กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานมีพื้นที่ประสบภัยแล้งรวม 27 จังหวัด 204 อำเภอ 1,481 ตำบล 13,212 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 4,303,167 คน 1,111,151 ครัวเรือน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยแล้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจกจ่ายน้ำอุปโภคและบริโภคจำนวน 256,930,314 ลิตร พร้อมเร่งซ่อมสร้างทำนบ ฝายกั้นน้ำ และขุดลอกแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยแล้ง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึง สถานการณ์ภัยแล้ง ว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 27 จังหวัด 204 อำเภอ 1,481 ตำบล 13,212 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 4,303,167 คน 1,111,151 ครัวเรือน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน ลำปาง ลำพูน พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี รวม 76 อำเภอ 482 ตำบล 4,183 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 891,397 คน 277,720 ครัวเรือน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี รวม 114 อำเภอ 895 ตำบล 8,120 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 3,070,921 คน 771,768 ครัวเรือน ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี รวม 14 อำเภอ 104 ตำบล 909 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 340,849 คน 61,663 ครัวเรือน คาดว่าพื้นที่การเกษตรจะได้รับความเสียหาย รวม 2,198,096 ไร่ แยกเป็น พืชไร่ 1,548,051 ไร่ นาข้าว 201,531 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 448,514 ไร่ โดยมีพื้นที่เกษตรกรได้รับความเสียหายแล้ว จำนวน 1,012,381 ไร่ ในพื้นที่ 42 จังหวัด หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ภัยแล้ง ระหว่างวันที่ 15 — 21 มิถุนายน 2553 ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 18 จังหวัด 128 อำเภอ 928 ตำบล 8,685 หมู่บ้าน แต่เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกยังไม่ทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลให้จำนวนหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น จำนวน 4,527 โดยช่วงระหว่างวันที่ 12 — 19 เมษายน 2553 เป็นช่วงที่สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงมากที่สุด จำนวน 60 จังหวัด 413 อำเภอ 24,248 หมู่บ้าน
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ในเบื้องต้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 602 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภค บริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยแล้ง จำนวน 256,690,314 ลิตร ซ่อมทำนบและฝายกั้นน้ำ
1,478 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ 765 แห่ง ทั้งนี้ จากการติดตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง
ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน — กรกฎาคม 2553 ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง จึงขอเตือนประชาชนให้ร่วมกันประหยัดน้ำ
ไม่ปล่อยน้ำไหลทิ้ง รวมถึงหมั่นตรวจสอบรอยรั่วซึมของก๊อกน้ำ ท่อประปา หากรั่วไหลให้จัดการซ่อมแซมทันที ตลอดจนตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้สามารถใช้การได้ดี เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ ส่วนเกษตรกร ให้ติดตามสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ สภาพอากาศ รวมถึงปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด จะได้วางแผนการเพาะปลูกได้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ สภาพอากาศ และกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในภาวะวิกฤติ หากอาศัยอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้เลือกปลูกพืช
อายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนา โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้เลื่อนการทำนาปีออกไปประมาณหนึ่งเดือน เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป