พม.เผยแผนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ระยะ ๖ ปี (๒๕๕๔-๒๕๕๙ )

ข่าวทั่วไป Friday July 2, 2010 10:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--พม. พม.เผยแผนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ระยะ ๖ ปี (๒๕๕๔-๒๕๕๙ ) ชูแนวทางดำเนินงาน ๕ ยุทธศาสตร์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุก ดูแลแก้ไขปัญหาร่วมกัน นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การค้ามนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งทวีความรุนแรงและแพร่ขยายไปในวงกว้าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทวิภาคีกับประเทศใกล้เคียงที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ได้แก่ ลาว เขมร เวียดนาม พม่า และในระดับพหุภาคี ส่วนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในกลุ่ม ๖ ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม จีน พม่า ลาว กัมพูชา และไทย เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหา ขณะนี้จึงถือได้ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มีความชัดเจนยิ่งขึ้น นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นแผนการดำเนินงาน ๖ ปี (พ.ศ.๒๕๕๔- ๒๕๕๙) โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ ๕ ประการ คือ ๑. ดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ๒. การดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ๓.ให้การคุ้มครองผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์ ๔.การพัฒนานโยบายในเชิงขับเคลื่อน และ ๕. การพัฒนาและบริหารข้อมูล โดยการจัดเก็บข้อมูลสถิติประเภทและกลุ่มผู้เสียหายจากขบวนการการค้ามนุษย์ โดยยุทธศาสตร์ทั้ง ๕ ประการนี้ จะทำควบคู่กันไปและมีการทบทวนผลการดำเนินงานทุกๆ ๓ ปี “ขอบเขตการทำงานไม่ได้จำกัดอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย เช่น กระทรวงแรงงาน ที่ควรเข้ามาดูแลในส่วนของแรงงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากที่ถูกล่อลวงโดยขบวนการค้ามนุษย์ ถูกยึดพาสปอร์ต และบังคับให้ค้าประเวณีเพื่อหาเงินใช้หนี้ กระทรวงแรงงานจึงควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งติดตามไปดูแลด้วย และ อีกหน่วยงานที่สำคัญก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีบทบาทในการจับกุมผู้กระทำผิด แต่ปัญหาที่พบคือ พนักงานสอบสวน ยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งเกี่ยวกับความผิดฐานการค้ามนุษย์โดยตรงแต่ไปบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายอาญาธรรมดา จึงควรมีการอบรมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไปได้มีความรู้ในกฎหมายฉบับนี้ให้มากยิ่งขึ้น ” นายอิสสระ กล่าว. ศูนย์ประชาบดี ๑๓๐๐ สายด่วนปัญหาสังคม ๒๔ ชั่วโมง กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ๒๕๕ อาคารกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ถ.ราชวิถี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐ โทร. ๐ ๒๓๐๖ ๘๖๕๐ - ๓ โทรสาร. ๐ ๒๓๐๖ ๘๖๗๑ www.m -society.go.th E-mail : prd.pr@m-society.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ