กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 (ข้าว พันธุ์ดอกมะลิ 105 กข. 15 ความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92) มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 เป็นต้นมา และมีกระบวนการจัดระเบียบกำกับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ยึดถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกันอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ ยังได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้บรรลุวัตถุประสงค์การยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยส่งออก สร้างชื่อเสียง สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อ และผู้บริโภคในตลาดโลก โดยมีปริมาณการส่งออกเฉลี่ยปีละ 2.15 ล้านตัน และมีมูลค่าส่งออกสูงขึ้นเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตามในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าขณะส่งออก บางครั้งก็มักตรวจพบการปลอมปนอยู่บ้าง โดยนิยมนำข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 มาผสม ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีทางกายภาพและทางเคมี เพราะมีลักษณะเหมือนกันมาก อีกทั้งผู้ประกอบการ (ผู้ส่งออกกับโรงสี) ก็มักจะโยนความผิดในเรื่องการปลอมปนระหว่างกันและกัน ดังนั้น เพื่อให้การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) กรมการค้าต่างประเทศ จึงมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดนำเทคโนโลยีด้าน ดี เอ็น เอ มาใช้ ทั้งนี้โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยีจัดฝึกอบรมให้แก่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะปลูก เพื่อเป็นการเพิ่มบุคลากรให้สามารถตรวจสอบพันธุกรรมข้าว และเป็นการเพิ่มสถานที่ที่ให้บริการการตรวจวิเคราะห์ DNA ในพื้นที่ โดยไม่ต้องส่งมาตรวจที่ส่วนกลาง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกโดยตรง
กรมการค้าต่างประเทศ และห้องปฏิบัติการ ดีเอ็นเอ เทคโนโลยีศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงร่วมมือกันจัดการฝึกอบรม “วิธีการตรวจสอบสายพันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย (DNA)” ให้แก่บุคลากรของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิใหญ่ของไทย โดยคัดเลือกจาก สถาบันที่มีความพร้อมในด้านเครื่องมืออุปกรณ์การตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ยังขาดเทคโนโลยีในการตรวจสอบให้มีโอกาสเข้ามารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจสอบฯ ซึ่งได้จัดฝึกอบรมไปแล้วรวม 2 รุ่น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมรวม 22 คน จาก 12 สถาบัน ได้แก่ ม.ขอนแก่น ม.มหาสารคาม ม.อุบลราชธานี ม.เทคโนโลยี สุรนารี ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.นเรศวร มรภ. สุรินทร์ บุรีรัมย์ และอุดรธานี และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวในท้ายสุดว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวิธีนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยรักษาคุณภาพมาตรฐานส่งออกข้าวหอมมะลิไทยตั้งแต่ต้นทาง แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีจริยธรรม/จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Corporate Social Responsibility : CSR) ทั้งนี้เพื่อให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวหอมพันธุ์ดีเยี่ยมของโลกตลอดไป