สปส.แจงระบบการจ่ายเงินแก่รพ. มีมาตรฐาน ไม่ล่าช้า

ข่าวทั่วไป Wednesday June 20, 2007 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุ การเบิกจ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาลเป็นไปตามมาตรฐาน เหมาจ่ายล่วงหน้า ไม่ล่าช้า และเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่ดีนอกเหนือจากค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายทุกเดือน ทางสำนักงานประกันสังคมยังจ่ายเพิ่มให้กับโรงพยาบาลอีกหลายกรณี
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า “ปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคม จ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่สถานพยาบาล โดยใช้ระบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,284 บาท/คน/ปี โดยจ่ายตามจำนวนผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกและจ่ายล่วงหน้าเป็นรายเดือน โดยเบื้องต้นจ่ายในอัตรา 75 % และจำนวนที่เหลือ 25% จ่ายในเดือนถัดไป ดังนั้น การจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายจึงมิได้มีการจ่ายล่าช้าแต่อย่างใด ซึ่งค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายผู้ประกันตนจะได้รับบริการทางการแพทย์ ดังนี้ คือ ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือพาหนะส่งต่อผู้ป่วย และค่าบริการอื่นที่จำเป็น”
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสมและยุติธรรม สปส.ยังมีการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมให้แก่สถานพยาบาลอีกด้วย ได้แก่ ค่าบริการทางการแพทย์ตามภาระเสี่ยงของโรคเรื้อรังของผู้ป่วยนอก 25 โรค , ผู้ป่วยในทุกราย ในอัตรา 211 บาท/คน/ปี โดยแบ่งจ่ายให้โรงพยาบาลเป็น 2 งวด งวดที่1 ภายในเดือนกันยายน และงวดที่ 2 จ่ายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยภาระเสี่ยงที่นำมาคำนวณค่าบริการทางการแพทย์ใช้ข้อมูลโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
อีกทั้งยังมี ค่าบริการทางการแพทย์ตามอัตราการใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน ในอัตราไม่เกิน 100 บาท/คน/ปี จ่ายปีละครั้ง ภายในเดือนมี.ค.ของปีถัดไป รวมทั้งยังมีค่าแพทย์พิเศษและอุปกรณ์จ่ายตามรายการและอัตราที่กำหนด เช่น กรณีไตวายเฉียบพลัน การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเบิกได้ไม่เกินครั้งละ 3,000 บาท การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เบิกเพิ่มได้อีกไม่เกิน 100,000 บาท/ราย ค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ เช่น ลิ้นหัวใจเทียมที่ทำด้วยพลาสติกอันละ 27,000 บาท เป็นต้น
สำหรับกรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วยและประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน การพิจารณาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลเป็นไปตามมาตรา 50 แห่งพรบ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 กรณีที่เอกสารครบถ้วนสมบูรณ์สามารถวินิจฉัยได้ทันทีพร้อมสั่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ภายใน 15 วัน ส่วนกรณีล่าช้ามีสาเหตุเนื่องจาก ขาดเอกสารที่จำเป็นประกอบการพิจารณาวินิจฉัยได้แก่ เวชระเบียน ประวัติการรักษา ผลคดีจากพนักงานสอบสวน การให้ข้อเท็จจริงจากลูกจ้าง นายจ้าง รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น
“ที่ผ่านมา เรื่องการจ่ายเงินให้สถานพยาบาลไม่เคยล่าช้า และไม่เคยมีเรื่องตกค้างยกเว้นในบางกรณีที่ไม่ชัดเจน ว่าการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างเกิดจากการทำงานหรือไม่ หรือสถานพยาบาลรับเงินแล้วแต่ยอดเงินไม่ตรงกับใบแจ้งหนี้หรือ มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลซ้ำ เป็นต้น” นายสุรินทร์ กล่าว
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ