ดีเดย์บังคับใช้ข้อบัญญัติช้างเร่ร่อนในกรุงเทพ หยุดทรมานให้ช้างเป็นทาสแรงงานมนุษย์

ข่าวทั่วไป Friday July 2, 2010 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. บังคับใช้ข้อบัญญัตควบคุมช้างเร่ร่อน ดีเดย์ 1 ก.ค. 53 ควาญช้างฝ่าฝืนนำช้างมาเร่ร่อนหารายได้จะโดนข้อหาหนักทั้งจับ ยึด และปรับ ส่วนผู้ให้อาหาร ให้ที่อยู่ช้างเร่ร่อนปรับ 1 หมื่น เป้าหมายเพื่อลดการคุกคามการมีชีวิตรอดของช้าง หากใจบุญสนับสนุนบริจาคเข้าบัญชีช้างยิ้ม” ธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยศาลาว่าการ กทม. เลขที่ 088-0-03418-1 ได้อย่างต่อเนื่อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการช้างยิ้มและการประกาศใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครการควบคุมการนำช้างมาหารายได้ในเขตกรุงเทพมหานครโดยมี ม.ร.ว.จิยากร เสสะเวช กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ธงชัย มุ่งเจริญพร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ น.ส.พอลล่า เทเลอร์ ดารานักแสดง ร่วมแถลงข่าว กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนอย่างยั่งยืน โดยใช้การบูรณาการความร่วมมือแบบพหุภาคีจากผู้มีส่วนรับผิดชอบ (Stake holder) ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หน่วยงานด้านวิชาการ และการสื่อสารมวลชน เพื่อร่วมระดมกำลังในการวางแผนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลในทางการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของช้างและควาญช้างอย่างยั่งยืน โดยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ทางราชการใช้มาตรการที่เด็ดขาดในการ จับ ยึด ปรับ เพื่อป้องกันการนำช้างเข้ามาเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดผลดีต่อการบริหารเมืองในด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย การจราจร และความปลอดภัยของประชาชน ปรากฏในข้อเท็จจริงมาตรการดังกล่าวกลายเป็นจุดคุกคามการมีชีวิตรอดของช้างและควาญช้าง เป็นวงจรที่เรื้อรังมานาน ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2553 ที่ประชุมได้ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบ ร่างข้อบัญญัติกทม. เรื่องการควบคุมการนำช้างมาหารายได้ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญ คือ ห้ามเจ้าของช้างนำช้างมาหารายได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ หากฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ที่ดินของตนเป็นที่พักช้างเพื่อการนำช้างหารายได้โดยไม่ได้รับอนุญาต และห้ามมิให้บุคคลใดสนับสนุนส่งเสริมการนำช้างมาหารายได้โดยกระทำการใดๆ ที่เป็นการอำนวยความสะดวกหรือเอื้อประโยชน์ให้เกิดรายได้แก่เจ้าของช้าง ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ดร.ธีระชน กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนอย่างยั่งยืน สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบข้อบัญญัติดังกล่าว นำประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 ทำให้กทม. มีอำนาจในการเข้าไปดำเนินการ โดยในส่วนของเจ้าของช้างมีโทษหนักทั้งจำคุกและปรับ ในขณะที่การให้การสนับสนุนซื้ออาหารให้ช้างก็มีโทษปรับไม่เกิน10,000 บาท โดยจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้มีคนนำช้างเข้ามาเร่ร่อนในกรุงเทพฯ อีก และจะทำให้เป็นต้นแบบของจังหวัดอื่นๆ ในการแก้ปัญหาช้าง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ในขณะเดียวกันกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากวันที่ 3 สิงหาคม 2552 กรุงเทพมหานครได้เปิดบัญชีช้างยิ้ม” ธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยศาลาว่าการกทม. เลขที่ 088-0-03418-1 ซึ่งมีผู้สนใจได้ร่วมบริจาคเงินเข้ามามากมาย ในวันที่ 10 ส.ค. 2552 ทางกรุงเทพมหานครได้นำเงินบริจาคดังกล่าวซื้อพังบัวคำช้างเร่ร่อนพิการตาบอด ส่งมอบให้สถาบันคชบาลแห่งชาติไปดูแล เป็นจำนวนเงิน 350,000 บาท(สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) เพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนในกรุงเทพมหานคร และส่งช้างคืนผืนป่าในคราวเดียวกัน ในการนี้ทางกรุงเทพมหานครได้จัดสรรงบสนับสนุนจาก บัญชีช้างยิ้ม” ที่ประชาชนผู้สนใจได้ร่วมบริจาคเข้ามา จำนวน 500,000 บาท มอบให้กับ ม.ร.ว.จิยากร เสสะเวช กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นการร่วมมือร่วมใจปฏิบัติ ช่วยช้างไทย ส่งคืนธรรมชาติ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบรอบ 78 พรรษา พร้อมแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนในเมืองหลวงครั้งนี้ด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ