กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--วอลท์ ดีสนีย์
“Toy Story 3” ได้ต้อนรับวู้ดดี้ (พากย์เสียงโดยทอม แฮงค์), บัซ (พากย์เสียงโดยทิม อัลเลน) และผองเพื่อนกลับคืนสู่จอเงินอีกครั้งเมื่อแอนดี้เตรียมพร้อมที่จะไปเรียนต่อวิทยาลัย และของเล่นที่ภักดีของเขาก็พบตัวเองอยู่ใน…สถานรับเลี้ยงเด็ก! แต่เด็กน้อยแสนซนพวกนี้ก็ห่างไกลคำว่าน่ารักซะเหลือเกิน พลพรรคของเล่นก็เลยต้องรวมพลังกันเพื่อวางแผนหลบหนีครั้งใหญ่ในการผจญภัยครั้งนี้ มีตัวละครหน้าใหม่เข้าร่วมวงด้วย ซึ่งบางตัวก็เป็นพลาสติก บางตัวมีขน ซึ่งมีทั้ง เคน หนุ่มโสดซิงคนดัง (พากย์เสียงโดยไมเคิล คีย์ตัน) เนื้อคู่สาวบาร์บี้, คุณพริคเคิลแพนท์ เม่นเจ้าบทบาทในชุดเอี๊ยม (พากย์เสียงโดยทิโมธี ดัลตัน) และตุ๊กตาหมีสีชมพูกลิ่นสตรอว์เบอร์รี ล็อทโซ ฮักกิ้ง แบร์ (พากย์เสียงโดยเน็ด บีตตี้)
ผู้กำกับลี อังค์ริชกล่าวว่า พวกเขาได้สานต่อขนบธรรมเนียมของพิกซาร์ด้วยการผสมผสานความสนุกสนานเข้ากับเรื่องราวที่เข้าถึงได้ “‘Toy Story 3’ เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงครับ” อังค์ริชกล่าว “มันเป็นเรื่องของการยอมรับจุดเปลี่ยนในชีวิต การที่ตัวละครถูกบีบให้ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ว่าพวกเขาจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นยังไง วู้ดดี้และของเล่นอื่นต้องเผชิญหน้ากับความจริงสำคัญที่ว่า แอนดี้โตเกินพวกเขาไปแล้ว แอนดี้กำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ ไปเรียนวิทยาลัย แม่ของแอนดี้ก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า ลูกชายของเธอโตแล้ว และกำลังจะออกไปเผชิญกับโลกกว้าง เราเริ่มต้นเรื่องราวของเราที่ช่วงเวลาสำคัญนี้ในชีวิตของตัวละครครับ”
“หนังเรื่องนี้มีธีมซีเรียสที่เป็นประเด็นใหญ่หลายเรื่อง เราก็เลยอยากจะทำให้แน่ใจว่า เราใส่เอาอารมณ์ขันเข้าไปเยอะๆ เพื่อรักษาสมดุลน่ะค่ะ” ผู้อำนวยการสร้างดาร์ลา เค. แอนเดอร์สันกล่าว “มันจะลึกซึ้งเท่าที่คุณอยากให้มันเป็น ในหลายๆ ระดับ เรื่องราวนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราทุกคนจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ค่ะ”
“‘Toy Story’ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเรามาโดยตลอดครับ” ผู้ควบคุมงานสร้าง จอห์น แลสซีเตอร์ (ผู้กำกับ “Toy Story” สองภาคแรก) กล่าว “มีอะไรหลายๆ อย่างในตัวผม, แอนดรูว์ [สแตนตัน], พีท ด็อคเตอร์, โจ แรนท์และลี [อังค์ริช] ซึมซาบเข้าไปในเรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวกับบัซและวู้ดดี้ และผมก็คิดว่า ‘Toy Story 3’ ก็สานต่อเรื่องนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมสามารถเข้าถึงอารมณ์จริงๆ ของการส่งลูกผมไปเรียนวิทยาลัยได้ หลังจากที่ช่วยเขาขนของขึ้นหอ ผมกับภรรยาก็พร้อมจะกลับบ้าน และเราก็คิดว่าเขาเดินกลับไปที่ห้องเขาแล้ว แต่ปรากฏว่าเขายืนอยู่ตรงนั้น และไม่ยอมจากไปไหน ขณะที่เราขับรถไป เขาได้แต่โบกมือ และผมก็ร้องไห้ออกมาเลยล่ะครับ มันเป็นอารมณ์ที่ทรงพลังอย่างมาก การที่คุณได้อยู่กับใครซักคนตั้งแต่เกิด แล้วจู่ๆ พวกเขาก็จากไป ช่วงเวลาระหว่าง ‘Toy Story 2’ และ ‘Toy Story 3’ เป็นช่วงเวลาที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับการปล่อยให้แอนดี้ และสถานการณ์ชีวิตของเรา เติบโตขึ้นครับ”
ทีมนักพากย์ชั้นยอดกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ทั้งแฮงค์และอัลเลน ร่วมด้วยโจน คูแซ็คในบทเจสซี, ดอน ริคเคิลส์ในบทคุณโปเตโต้ เฮ้ด, วอลเลซ ชอว์นในบทเร็กซ์, จอห์น แรทเซนเบอร์เกอร์ในบทแฮมม์และเอสเทล แฮร์ริสในบทคุณนายโปเตโต้ เฮ้ด พร้อมกันนั้นพวกเขายังได้ร่วมงานกับทีมนักพากย์หน้าใหม่ของโลก “Toy Story” ซึ่งประกอบไปด้วยบีตตี้, คีย์ตันและดัลตัน และเจฟฟ์ การ์ลิน, คริสเตน ชอล, บอนนี ฮันท์และวู้ปปี้ โกลด์เบิร์ก จอห์น มอร์ริส ผู้พากย์เสียงแอนดี้ตั้งแต่ภาคแรก กลับมาพากย์เสียงวัยรุ่นที่กำลังจะเรียนวิทยาลัยผู้นี้อีกครั้ง เบลค คลาร์ค ให้เสียงสลิงกี้
“Toy Story 3” การผจญภัยครั้งใหม่สุดฮาในรูปแบบ Disney Digital 3D? กำกับโดยลี อังค์ริช (ผู้กำกับร่วม “Toy Story 2” และ “Finding Nemo”) อำนวยการสร้างโดยดาร์ลา เค. แอนเดอร์สัน ลูกหม้อเก่าพิกซาร์ (“Cars,” “Monsters, Inc.”) และเขียนบทโดยมือเขียนบทเจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ไมเคิล อาร์น (“Little Miss Sunshine”) แรนดี้ นิวแมน คอมโพสเซอร์/นักแต่งเพลงเจ้าของรางวัลออสการ์ ผู้มีบทบาทสำคัญใน“Toy Story” สองภาคแรก กลับมาอีกครั้งเพื่อแต่งดนตรีประกอบที่ไพเราะ (และเพลงใหม่) “Toy Story 3” สร้างขึ้นจากเรื่องราวโดยจอห์น แลสซีเตอร์, แอนดรูว์ สแตนตันและลี อังค์ริช จอห์น แลสซีเตอร์รับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้าง ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราวคือเจสัน แคทซ์ มือลำดับภาพคือเคน ชเรทซ์แมนน์ ผู้ออกแบบงานสร้างคือบ็อบ พอลลีย์ และหัวหน้าผู้กำกับฝ่ายเทคนิคคือกีโด้ ควอโรนี ซูเปอร์ไวซิง อนิเมเตอร์คือบ็อบบี้ โพเดสตาและไมเคิล เวนทูรินี และผู้กำกับภาพคือเจเรมี ลาสกี้ (กล้อง) และคิม ไวท์ (แสง) “Toy Story 3” ลงโรงทั่วอเมริกาในวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2010
“Toy Story” โตแล้วจ้า
เบื้องหลังเรื่องราวใหม่
“Toy Story” ภาคแรกสร้างประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในปี 1995 เมื่อมันกลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี CG ทั้งหมด มันเป็นหลักไมล์สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะสำหรับอนิเมชันเท่านั้น แต่สำหรับศิลปะการสร้างภาพยนตร์ด้วย
“‘Toy Story’ สร้างความประทับใจที่ล้ำค่ายิ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ครับ” ริช รอส ผู้อำนวยการวอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ กล่าว “มันถูกสร้างขึ้นด้วยจิตวิญญาณนักบุกเบิก อย่างที่เป็นพื้นฐานของสตูดิโอ การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ในเรื่องของเทคโนโลยี และที่สำคัญกว่านั้นคือการเล่าเรื่อง บัซ, วู้ดดี้และของเล่นเอาชนะใจคนทุกเพศทุกวัยในทันที ด้วยการกระตุ้นความรักใคร่ เอ็นดูในแบบที่มีไว้สำหรับตัวละครคลาสสิกอมตะของดิสนีย์เท่านั้น ‘Toy Story’ ได้ขยายขอบเขตผู้ชมหนังอนิเมชัน และสร้างคำนิยามใหม่ให้กับกฎการสร้างหนัง พิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นไปได้ที่จะสร้างหนังที่มีเสน่ห์ในวงกว้างอย่างแท้จริง ในแง่นั้นแล้ว ‘Toy Story’ ได้กำหนดมาตรฐานให้กับหนังทุกเรื่อง ทั้งที่เป็นอนิเมชันและไลฟ์แอ็กชัน ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นครับ”
ตลอดงานอนิเมชันที่น่าทึ่ง 77 นาที ช็อต 1,561 ช็อตและตัวละคร 76 ตัวที่มีทั้งมนุษย์ ของเล่นและสุนัข ถูกออกแบบด้วยมืออย่างประณีต ก่อนที่จะถูกสร้างและทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหวในคอมพิวเตอร์ มันกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของปี 1995 ด้วยรายได้ในประเทศเกือบ 192 ล้านเหรียญและรายได้ทั่วโลก 362 ล้านเหรียญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงสามรางวัลอคาเดมี อวอร์ดในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยมและเพลงประกอบยอดเยี่ยมและจอห์น แลสซีเตอร์ก็ได้รับรางวัลสเปเชียล อชีฟเมนต์ อวอร์ด ออสการ์สำหรับ “ความเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีม ‘Toy Story’ ของพิกซาร์ ซึ่งนำมาสู่ภาพยนตร์ซีจี อนิเมชันเรื่องแรก มันกลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม นอกจากนั้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งใน 100 ภาพยนตร์อเมริกันที่ยอดเยี่ยมที่สุดของสถาบันภาพยนตร์อเมริกันอีกด้วย
“ฉันจำได้ตอนที่เราส่ง ‘Toy Story’ ออกมาค่ะ” ผู้อำนวยการสร้างดาร์ลา เค. แอนเดอร์สันบอก “สตีฟ จ็อบส์บอกว่ามันเป็น ‘Snow White’ ของเรา และเราก็คิดว่า ‘คงจะดีนะถ้า “Toy Story” สร้างชื่อได้แบบนั้นและเป็นหนังคลาสสิกแบบที่คนรู้สึกว่าเป็นของพวกเขา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา วัยเด็กของพวกเขา และชีวิตของครอบครัวพวกเขา’ นั่นเป็นความตั้งใจของเราในตอนนั้น และยังคงเป็นพันธกิจสำหรับหนังแต่ละเรื่องของเราในตอนนี้ค่ะ”
ในปี 1999 “Toy Story 2” (ภาพยนตร์เรื่องที่สามของพิกซาร์) กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้าง แก้ไขและถูกนำเสนอในรูปแบบดิจิตอลทั้งหมด ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้แซงหน้าภาคแรก และกลายเป็นซีเควลอนิเมชันเรื่องแรกที่ทำรายได้มากกว่าภาคแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมและสองรางวัลลูกโลกทองคำและได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทคอเมดีหรือมิวสิคัล ทั้ง “Toy Story” และ “Toy Story 2” ต่างก็เปิดตัวในรูปแบบ Disney Digital 3D? แบบแพ็คคู่ในปี 2009
สำหรับการเริ่มต้นงานสร้าง “Toy Story 3” พิกซาร์ได้รวบรวมทีมงานเดิมที่สร้าง “Toy Story” สองภาคแรกกลับมา ผู้ที่ร่วมงานกับผู้กำกับลี อังค์ริชในครั้งนี้คือจอห์น แลสซีเตอร์, แอนดรูว์ สแตนตัน (ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ “Toy Story” และ “Toy Story 2” และได้เขียนบทและกำกับ “Finding Nemo” และ “WALL?E”), พีท ด็อคเตอร์ (ผู้กำกับ/มือเขียนบท “Monsters, Inc.” และ “Up”), ดาร์ลา เค. แอนเดอร์สัน, บ็อบ ปีเตอร์สันและเจฟฟ์ พิเจียน
แอนเดอร์สันเล่าว่า “เราไปที่เดอะ โพเอ็ทส์ ลอฟท์ในโทมาเลส เบย์ในมาริน เคาน์ตี้ เป็นเคบินเล็กๆ ที่ไอเดียสำหรับ ‘Toy Story’ ภาคแรกถือกำเนิดขึ้น แอนดรูว์ได้นำขวดไวน์พิเศษที่มียี่ห้อ ‘Toy Story’ ที่จอห์นให้พวกเราตอนที่หนังภาคแรกเข้ามาด้วย เราต่างก็ดื่มให้กับโจ แรนท์ เพื่อนร่วมงานที่จากไปของเรา ผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายเรื่องราวใน ‘Toy Story’ ภาคแรก โจเป็นปรมาจารย์ในการสร้างตัวละครสมจริงที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและอารมณ์ขัน พวกเราคิดถึงเขาค่ะ”
ระหว่างนั้น พวกเขาได้ดู “Toy Story” สองภาคแรกเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง และเพื่อเป็นการนำพวกเขากลับเข้าสู่โลกใบนั้นอีกครั้ง “แน่นอนครับว่าเป้าหมายของเราคือการสร้างหนังที่คู่ควรกับ ‘Toy Story’ สองภาคแรก” อังค์ริชกล่าว “ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ มีซีเควลเพียงไม่กี่เรื่องที่ดีเท่าภาคแรก และเราก็นึกไม่ออกว่ามีหนังเรื่องไหนที่มีภาคสามดีๆ บ้าง เรื่องเดียวที่เราคิดออกคือ ‘The Return of the King’ แต่นั่นก็เป็นเหมือนตอนที่สามของเรื่องยาวเรื่องเดียวมากกว่า ตอนนั้นเองที่ผมปิ๊งไอเดียขึ้นมา เราต้องการให้ ‘Toy Story’ ทั้งสามภาคให้ความรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวยิ่งใหญ่ ความคิดนั้นกลายเป็นแรงขับสำหรับพวกเราในการสร้าง ‘Toy Story 3’ ครับ”
สิ่งที่ร้อยเรียงภาพยนตร์ทั้งสามภาคเข้าด้วยกันกลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับ “Toy Story 3” เมื่อช่วงเวลานั้นจบลง ทีมงานก็มีความคืบหน้าอย่างมาก และสแตนตัน กูรูด้านเรื่องราว/มือเขียนบท/ผู้กำกับของพิกซาร์ (ผู้ซึ่งปัจจุบันเปิดตัวผลงานการกำกับไลฟ์แอ็กชันเรื่องแรกกับภาพยนตร์โดยวอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์สเรื่อง “John Carter of Mars”) ได้รับหน้าที่ในการเขียนทรีทเมนต์ครั้งแรก
“เรารู้สึกมองโลกในแง่บวก” อังค์ริชกล่าว “เพราะแม้ว่าการสร้างซีเควลที่คู่ควรจะเป็นงานที่เหนื่อยแสนสาหัส แต่เราก็เป็นทีมงานสร้างเดิมกับที่สร้างสองภาคแรกขึ้นมา ในวันที่สองของการรวมตัวกัน เราคิดไอเดียของการที่แอนดี้โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ แล้วเราก็คิดไอเดียว่าวู้ดดี้และของเล่นชิ้นอื่นๆ จะไปลงเอยอยู่ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก รวมถึงคอนเซ็ปต์ของการที่บัซถูกเปลี่ยนไปเป็นโหมดเดโมด้วย แอนดรูว์ได้เขียนทรีทเมนต์ที่ทำให้ทุกคนตื่นเต้นขึ้นมา ตรงจุดนั้นเองที่ไมเคิล อาร์นกับผมเริ่มลงมือเขียนเรื่องราวขึ้นมาครับ”
สำหรับมือเขียนบทเจ้าของรางวัลออสการ์ ไมเคิล อาร์น กระบวนการร่วมงานกับทีมอนิเมชันของพิกซาร์เต็มไปด้วยความสุข “ผมได้ดูและชื่นชอบหนังพิกซาร์ทุกเรื่องที่ออกมา แต่ไอเดียที่ว่าผมสามารถทำงานที่นั่นได้ไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย” อาร์นกล่าว “ในฐานะคอหนัง มีสองสิ่งที่ผมชื่นชมเกี่ยวกับหนังของพวกเขา อย่งแรกเลยคือความสมบูรณ์ของเรื่องราวของพวกเขา มันหายากที่หนังเรื่องหนึ่งจะมีการคิดทุกรายละเอียดของสคริปต์อย่างพร้อมสรรพ และหนังของพิกซาร์ก็ให้ความรู้สึกของความแข็งแรงและละเอียดรอบคอบ อย่างที่สองคือคุณจะรู้สึกถึงได้ถึงความสุขในกระบวนการสร้างหนังทุกเรื่องของพิกซาร์ ทั้งช็อตมุมมอง ฉากคัท การเคลื่อนไหวของกล้อง คุณจะรู้ได้เลยว่าคุณกำลังดูหนังที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนที่รักในสิ่งที่พวกเขาทำเหลือเกินครับ”
เช่นเดียวกับภาพยนตร์พิกซาร์เยี่ยมๆ ทุกเรื่อง “Toy Story 3” ได้ผสมผสานคอเมดี, แอ็กชันและอารมณ์ซาบซึ้งใจเข้าด้วยกันเพื่อนำเสนอประสบการณ์ประทับใจที่จะกระทบหัวใจและชวนให้ผู้ชมหัวเราะออกมา ทีมผู้สร้างได้ดึงเอาประสบการณ์ชีวิตและครอบครัวของพวกเขาเองมาสร้างเป็นเรื่องราวที่มีความหมายและสมจริงยิ่งขึ้น
อังค์ริชได้เล่าถึงการที่พล็อตสำคัญของการโยนถุงของเล่นทิ้งไปตรงกับเรื่องของครอบครัวเขา “ก่อนหน้าที่เราจะมีลูก ผมกับภรรยาอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ที่เวสต์ ฮอลลีวูด และเราก็ย้ายไปพาซาเดนากัน” อังค์ริชเล่า “เราต้องทำการขนย้ายด้วยตัวเอง แพ็คของของเราเอง และยัดของที่เราไม่ต้องการแล้วใส่ถุงขยะ ผมมีหน้าที่แบกถุงขยะไปไว้ที่ที่ทิ้งขยะด้านหลังตึก ซึ่งรวมถึงถุงขนาดใหญ่ใบหนึ่งด้วย สองสามสัปดาห์ให้หลัง ขณะที่เรากำลังทำความคุ้นเคยกับบ้านใหม่ของเรา ภรรยาผมก็ถามผมว่าผมเห็นตุ๊กตาสัตว์ของเธอไหม เธอไม่เจอตุ๊กตาสัตว์จากสมัยเด็กของเธอ ที่เธอเก็บมาหลายปีแล้วเลย ผมก็ถามเธอว่าพวกมันอยู่ในกล่องใบไหน เธอก็บอกว่ามันไม่ได้อยู่ในกล่อง แต่อยู่ในถุงขยะขนาดใหญ่ ผมรู้สึกเย็นวาบในท้องเพราะผมรู้ทันทีเลยว่าเกิดอะไรขึ้น และผมก็ต้องคิดหาวิธีที่จะสารภาพความจริงกับเธอ ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเธอต้องใส่มันในถุงขยะ และเธอก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผมไม่ดูก่อนว่าผมโยนอะไรทิ้งไป ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เธอก็ยังคงไม่ยอมให้ผมลืมไปว่าผมเป็นคนทิ้งตุ๊กตาที่เธอรักไป ผมก็เลยคิดว่าช่วงเวลานั้นใน ‘Toy Story 3’ ตอนที่แม่ของแอนดี้ลากถุงขยะไปตามพื้นจะเป็นการจารึกความทรงจำของของเล่นของภรรยาผม และการสละชีพของพวกมันไม่ได้สูญเปล่าในรูปแบบนี้ครับ”
“อะไรก็ตามที่กีดกันไม่ให้ของเล่นได้เล่นกับเด็กๆ ทำให้พวกเขาวิตกกังวลครับ” แลสซีเตอร์กล่าว “และ ‘Toy Story’ แต่ละภาคก็จะพูดถึงความกังวลเหล่านั้น ในภาคแรก วู้ดดี้ต้องกังวลกับการที่จะโดนแทนที่ด้วยของเล่นใหม่ ของเล่นมักจะกังวลถึงวันสองวันมากกว่าวันอื่นๆ ในรอบปี ซึ่งก็คือคริสต์มาสกับวันเกิดของเด็ก ใน ‘Toy Story 2’ ต้องรับมือกับการที่จะโดนดึงทึ้ง พังและไม่มีใครเล่นด้วยเพราะพวกเขาเปราะบาง วู้ดดี้ต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกของการมีสภาพสมบูรณ์ แต่จะไม่มีใครรักอีกเลย มันเป็นเรื่องลึกซึ้งครับ และในภาคสาม เราก็ต้องรับมือกับช่วงเวลาที่ของเล่นกังวลมากที่สุด นั่นคือการที่เด็กคนนั้นเติบโตขึ้น ตอนที่คุณพัง คุณถูกซ่อมได้ ตอนที่คุณหายไป คุณถูกหาตัวจนพบได้ ตอนที่คุณถูกขโมย คุณถูกตามตัวกลับมาได้ แต่ไม่มีอะไรที่แก้ไขการที่เด็กคนนั้นโตเกินของเล่นได้ มันเป็นวิวัฒนาการที่น่าสนใจสำหรับเรื่องราวครับ”
“เคล็ดลับของหนังพวกนี้ก็คือแต่ละเรื่องไม่ได้พยายามจะสร้างอารมณ์แบบเดิมๆ หรือเรื่องราวแบบเดิมๆ ขึ้นมาครับ” แลสซีเตอร์กล่าวต่อ “เราได้ใช้สิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยตัวละครชุดเดิมและโลกใบเดิม ดังนั้น เราก็สามารถสร้างอารมณ์ในรูปแบบที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงได้ เมื่อของเล่นมีชีวิต พวกเขาก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกังวลแบบผู้ใหญ่ ทุกคนสามารถเข้าถึงอารมณ์เหล่านั้นได้ การมองดูโลกจากมุมมองของของเล่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การมองมันจากมุมมองของตัวละครทำให้มันมีความหมายลึกซึ้งกว่าและสะเทือนใจกว่าครับ ผู้ชมจะสามารถเปรียบเทียบมันกับเรื่องในชีวิตของพวกเขาเองได้ หนังเรื่องนี้มีอารมณ์และความรู้สึกในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจริงๆ ครับ”
ใครเป็นใครใน “Toy Story 3”
ตัวละครคลาสสิกเผชิญหน้ากับของเล่นใหม่ประจำซอย
นอเหนือจากตัวละครที่กลับมาใหม่และการแนะนำ เคน แล้ว “Toy Story 3” ยังนำเสนอของเล่นใหม่สีสันสดใสและตัวละครมนุษย์เพิ่มขึ้นมาด้วยเช่นกัน ของเล่นจากห้องของแอนดี้ได้เดินทางจากบ้านที่ปลอดภัยของพวกเขาสู่สถานรับเลี้ยงเด็กซันนีไซด์ ที่ซึ่งพวกเขาคิดฝันว่าจะได้เล่นกับเด็กๆ สัปดาห์ละห้าวัน ตัวละครสำคัญอีกหนึ่งตัวในการผจญภัยครั้งใหม่นี้คือ บอนนี เด็กหญิงน่ารักช่างจินตนาการ ลูกสาวของผู้หญิงที่ทำงานที่ซันนีไซด์ ผู้เป็นเจ้าของกลุ่มของเล่นพิเศษของตัวเธอเอง
นอกจากนั้น “Toy Story 3” ยังเป็นการกลับมาของทีมนักพากย์ที่สร้างความหฤหรรษ์ให้กับผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ โดยทอม แฮงค์กลับมาพากย์เสียงนายอำเภอคาวบอย วู้ดดี้ และทิม อัลเลนก็กลับมารับหน้าที่ในภารกิจครั้งที่สามของการพากย์เสียงนักบินอวกาศคนกล้า ที่มักเข้าใจอะไรผิดบ่อยๆ บัซ ไลท์เยียร์ ด้วยการกลับมาของตัวละครที่เป็นที่ชื่นชอบและการแนะนำตัวละครหน้าใหม่ “Toy Story 3” จึงเต็มไปด้วยดาราทั้งเรื่อง
ผู้อำนวยการสร้างดาร์ลา เค. แอนเดอร์สันแสดงความคารวะต่อทีมนักพากย์ใน “Toy Story 3” “มันเป็นเรื่องวิเศษสุดที่เราได้ทีมนักพากย์ชุดเดิมกลับมาสำหรับ ‘Toy Story 3’ อีกครั้ง การได้พวกเขากลับมาร่วมงานกันอีกช่วยเป็นฐานให้กับเราในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการงานสร้าง นักพากย์ทุกคน ทั้งเก่าและใหม่ ต่างก็ใช้พรสวรรค์ของตัวเองและการอิมโพรไวส์ที่ล้ำค่า ในการเนรมิตชีวิตให้กับตัวละครเหล่านี้และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับการสร้างอนิเมชันด้วยค่ะ”
ตัวละครคลาสสิกที่คุ้นเคย
วู้ดดี้ เป็นนายอำเภอคาวบอย ที่มีห่วงสำหรับดึง และเมื่อดึงแล้ว วู้ดดี้ก็จะร้องประโยคที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเขาจากซีรีส์โทรทัศน์ยุค 50s เรื่อง “Woody’s Roundup” ออกมา เขาเป็นของเล่นชิ้นโปรดของแอนดี้มาโดยตลอด แม้ว่าตอนนี้เจ้าของของเขาจะโตแล้ว นายอำเภอวู้ดดี้ผู้สัตย์ซื่อผู้นี้ก็ยังคงเชื่อสนิทใจว่า แอนดี้ยังคงรักของเล่นของเขา และในขณะที่เหล่าของเล่นย่างเท้าสู่อนาคตที่ไม่รู้แน่ชัด วู้ดดี้ก็ยังคงเป็นเสียงแห่งเหตุผลสำหรับพวกเขา ในฐานะผู้นำที่พึ่งพาได้ของเหล่าของเล่น เขาทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีของเล่นชิ้นใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
ทอม แฮงค์ให้เสียงพากย์ตัวละครตัวนี้อีกครั้งหนึ่ง สำหรับแฮงค์แล้ว การได้กลับมาพากย์เสียงวู้ดดี้อีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานเป็นงานที่ง่ายดายยิ่ง “วู้ดดี้เป็นคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง ที่จะใส่หัวใจของเขาลงไปในทุกการกระทำ” แฮงค์เล่า “ทันทีที่เขาปิ๊งความคิดว่า ‘ฉันจะต้องช่วยพวกเขา’ หรือ ‘ฉันจะต้องหนี’ เขาก็ทุ่มเททำมันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม คุณคงจะต้องชื่นชอบคุณสมบัติแบบนั้นในตัวใครหลายๆ คนแน่ๆ นอกจากนั้น ผมยังชื่นชอบลักษณะที่มิตรภาพระหว่างวู้ดดี้และบัซงอกเงยขึ้นด้วย พวกเขาเริ่มต้นจากการเป็นคู่ปรับกัน แต่พวกเขาก็เรียนรู้ที่จะยอมรับในความเข้มแข็งของกันและกัน ให้อภัยในความล้มเหลวของกันและกัน และนับถือกันและกันในฐานะปัจเจกบุคคล ในกรณีนี้ คนที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกันถูกดึงดูดเข้าหากันของแท้เลยครับ”
“การที่พิกซาร์สามารถคิดไอเดียสำหรับ ‘Toy Story’ ภาคสามขึ้นมาได้ และทำให้มันเป็นหนังที่สดใหม่ สมจริงและมีเอกลักษณ์โดดเด่นก็แสดงให้เห็นว่าทีมงานยอดเยี่ยมแค่ไหน” แฮงค์กล่าวต่อ “จอห์น แลสซีเตอร์และลี [อังค์ริช] และดาร์ลา [เค. แอนเดอร์สัน] รวมถึงมือเขียนบททุกคนต่างก็ใช้เหตุผลเยี่ยมๆ ในการสร้างเรื่องราวนี้ขึ้นมา ที่ทำให้คอหนังผ่อนคลาย และปลดปล่อยตัวเองให้ถูกพาไปยังดินแดนและช่วงเวลามหัศจรรย์ ในตอนที่คุณสามารถทำแบบนั้นกับหนังได้ มันก็เป็นสิ่งอัศจรรย์ครับ ใน ‘Toy Story 3’ คุณจะได้กลับสู่สถานที่ที่มีความสุข คุ้นเคยและสวยงามอีกครั้ง สิ่งที่เยี่ยมก็คือผมได้รับเสียงชื่นชมจากลักษณะของตัวละครและอารมณ์ขันของเขา มีเด็กๆ ที่ตอนนี้เรียนวิทยาลัยแล้วมาบอกกับผมว่า ‘ตอนที่คุณบอกเด็กข้างบ้านนั่นให้เล่นดีๆ มันมีความหมายกับผมมากจริงๆ’ ด้วยล่ะครับ”
แฮงค์กล่าวว่า ภาคที่สามของแฟรนไชส์นี้ไม่ได้ลดทอนอารมณ์ของเรื่องไปเลย “‘Toy Story 3’ เป็นการผจญภัยครั้งใหญ่ยักษ์ ที่จะทำให้คุณนั่งลุ้นอยู่ตรงขอบเก้าอี้เลยล่ะครับ” เขาบอก “มันเป็นเหมือน ‘Great Escape’ ที่มีความตื่นเต้นในแบบเดียวกับตอนที่โดโรธีหนีจากแม่มดร้ายแห่งทิศตะวันตก แต่พวกเขาก็ปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นอะไรที่สะเทือนอารมณ์มากๆ เราพูดกันถึงเรื่องไดโนเสาร์ของเล่นและหุ่นหัวมันฝรั่ง แต่คุณก็จะรู้สึกผูกพันกับพวกเขา และไม่อยากให้พวกเขาโดนย่อยสลายหรือต้องอยู่กับเด็กตัวแสบ คุณอยากให้พวกเขาอยู่ด้วยกัน และมีคนเล่นด้วยในตอนจบของเรื่อง คุณเป็นห่วงพวกเขา ทีมผู้สร้างที่พิกซาร์สามารถเข้าถึงหัวใจคุณได้เสมอ เรื่องราวนี้เป็นเรื่องเรียบง่ายเกี่ยวกับการเติบโตและการที่เด็กคนหนึ่งไปเรียนวิทยาลัย แต่มันก็สะเทือนอารมณ์จนคุณอดไม่ได้ที่จะน้ำตาซึมครับ”
บัซ ไลท์เยียร์ เป็นแอ็กชัน ฟิกเกอร์นักบินอวกาศคนกล้า ที่มาพร้อมกับเลเซอร์บีม ท่าไม้ตายคาราเต้ และปีกที่สามารถกางออกมาได้ บัซเป็นของเล่นในฝันสำหรับเด็กผู้ชาย ที่กลายเป็นของเล่นชิ้นโปรดของหนูน้อยแอนดี้อย่างรวดเร็ว และเป็นเพื่อนซี้ย่ำปึ้กของวู้ดดี้ แม้ว่าภารกิจเพียงหนึ่งเดียวของบัซจะเคยเป็นการปราบ เซิร์ก จักรพรรดิจอมโฉด แต่ตอนนี้สิ่งที่เขาแคร์มากที่สุดคือการรักษาครอบครัวของเล่นของเขาให้อยู่ด้วยกัน แต่ภารกิจใหม่ของบัซกลับต้องเจออุปสรรค เมื่อการเดินทางของเขาดึงเอานิสัยน่าประหลาดใจที่ตัวเขาเองก็ไม่เคยรู้ออกมา
ทิม อัลเลน ผู้กลับมาพากย์เสียงบัซ อีกครั้ง สัมผัสได้ถึงเวทมนตร์ในภาพยนตร์เรื่องใหม่นี้ “‘Toy Story 3’ เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง ด้วยเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมถึงขั้นที่พวกเขาน่าจะส่งเวอร์ชันสตอรีบอร์ดลงโรงฉายด้วยซ้ำไปครับ” อัลเลนบอก “แม้ว่าผมจะรู้เรื่องราวนี้ดี และอ่านตอนจบมาแล้ว มันก็โดนใจผมในรูปแบบที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผมรู้ว่าผู้ชมคงจะรู้สึกอย่างเดียวกันกับผม มันมีซีเควนซ์แอ็กชันเยี่ยมๆ ก็จริง แต่ความงดงามของหนังเรื่องนี้คือวิวัฒนาการในเรื่องของวิธีการเลือกช็อตและการกำกับช็อต พิกซาร์พัฒนาตัวเองดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นเรื่องราวเรียบง่ายเกี่ยวกับมิตรภาพและการอยู่ร่วมกัน ผมชอบที่ว่าจริงๆ แล้ว ตอนจบก็คือจุดเริ่มต้นใหม่ คุณจะตระหนักได้ว่า เมื่อประตูบานหนึ่งปิด อีกบานหนึ่งก็จะเปิดออก มันซาบซึ้งใจมากๆ ครับ”
“สิ่งที่เยี่ยมสำหรับผมในการทำงานใน ‘Toy Story’ คือมิตรภาพที่ผมได้สานสายสัมพันธ์กับทีมงานที่พิกซาร์ทุกคนและทอม แฮงค์” อัลเลนกล่าวเสริม “ผมกับทอมชื่นชอบการได้ทำงานร่วมกันและการได้อยู่ใกล้กันและกัน ผมนับถือพรสวรรค์ของเขาและผมก็คิดว่า เขาก็รู้สึกอย่างเดียวกันกับผม”
อัลเลนเป็นแฟนเรื่องราวของบัซ “ในภาคที่สามนี้ บทบาทของบัซจะถูกขยายมากขึ้น” นักแสดงคนดังกล่าว “ในตอนที่เขาถูกกดรีเซ็ทใหม่โดยบังเอิญ เขาก็พูดภาษาสแปนิชได้อย่างคล่องแคล่ว เขาเป็นนักรบ และเป็นนักสู้วัวกระทิง มันฮาสุดๆ ครับ ผมชื่นชอบการได้เป็นบัซจริงๆ เขาเป็นตัวละครที่ผมได้พัฒนาขึ้นมากับจอห์น แลสซีเตอร์ และการได้พากย์เสียงเขาก็เป็นเรื่องที่สนุกมากๆ ครับ”
เจสซี เป็นสาวคาวเกิร์ลแก่นเซี้ยว แสนซน ที่พร้อมเสมอสำหรับการผจญภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก เมื่อการจากไปของแอนดี้กำลังคืบคลานเข้ามา เจสซีก็กลัวที่จะถูกเจ้าของทอดทิ้งอีกครั้ง เธอขึ้นทำหน้าที่ผู้นำ และยืนยันว่าของเล่นจะต้องควบคุมชะตากรรมของตัวเอง แต่มันเป็นการตัดสินใจที่พวกเขาจะเสียใจภายหลังรึเปล่านะ
โจน คูแซ็ค ผู้กลับมาพากย์เสียงสาวคาวเกิร์ลพลังม้า เป็นแฟนของตัวละครตัวนี้ “เจสซีเป็นแบบอย่างที่ดีมากๆ ค่ะ” เธอบอก “เธอเชื่อว่าเด็กๆ เป็นคนสำคัญและเข้าหาพวกเขาด้วยความภาคภูมิใจและความรัก และเธอก็เชื่อด้วยว่าผู้หญิงเราสามารถทำได้ทุกอย่าง! ซึ่งแน่นอนว่าเธอคิดถูกค่ะ! เธอมีความกระตือรือร้นกับการใช้ชีวิตและมีทัศนคติที่ว่าเธอสามารถทำทุกอย่างได้ เธอไม่กลัวที่จะรู้สึกและเธอก็ได้เรียนรู้จากความรู้สึกของเธอ เจสซีเจ๋งดีนะคะ ฉันรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้กลับมาร่วมงานกับทีมงานที่พิกซาร์อีกครั้ง เพราะคุณรู้ดีว่ามันจะต้องเป็นงานคุณภาพและที่สำคัญที่สุดคือสนุกจริงๆ ด้วยค่ะ”
“เจสซีเป็นหนึ่งในตัวละครตัวโปรดของฉันใน 'Toy Story' เพราะเธอเป็นตัวละครหญิงที่แข็งแกร่งของเรื่องค่ะ” ผู้อำนวยการสร้างแอนเดอร์สันกล่าว “เธอมีหัวใจดวงโต สามารถตามวู้ดดี้และบัซทัน และไม่กลัวที่จะพูดความในใจออกมา มันมีซีนสำคัญใน 'Toy Story 3' ที่เจสซีจะขี่บุลส์อายและกอบกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับฉันที่จะทำให้แน่ใจว่าเธอจะมีฉากแบบนั้นในหนัง ไม่เพียงแต่มันเป็นวิธีการเยี่ยมๆ ในการแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับเจสซีอีกครั้ง แต่มันยังเป็นการหักมุมที่ไม่มีใครคาดคิดด้วยค่ะ”
“ในทั้ง 'Toy Story 2' และ 'Toy Story 3'" แอนเดอร์สันกล่าวต่อ “โจน คูแซ็คมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เจสซีเป็นตัวละครที่แสบซ่าส์อย่างที่เป็น น้ำเสียงเธอทรงพลังมาก แต่เธอก็ใส่เอาความนุ่มนวล ใจดี และความตลกเข้าไปในตัวละครตัวนี้ด้วยค่ะ”
แฮมม์ เป็นหมูออมสินสีชมพู ที่ชื่นชอบการพูดอะไรสั้นๆ เขายังคงเป็นพวกรู้มากเหมือนเดิม หรืออย่างน้อยที่สุด นั่นก็เป็นสิ่งที่เขาอยากให้ทุกคนเชื่อ
ภาพยนตร์ของพิกซาร์ไม่อาจสมบูรณ์ได้ถ้าขาดเสียงพากย์ของ จอห์น แรทเซนเบอร์เกอร์ เครื่องรางของขลังประจำสตูดิโอ นักแสดงมากความสามารถผู้นี้ได้พากย์เสียงภาพยนตร์พิกซาร์ทุกเรื่องจนถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่หมูปากดี ไปจนถึงบทคามีโอ หัวหน้าคนงานก่อสร้าง ทอม ในภาพยนตร์ที่ได้รับออสการ์ปีที่แล้วเรื่อง “Up”
แรทเซนเบอร์เกอร์กล่าวว่า “การพากย์เสียงแฮมม์ไม่ได้เหมือนกับการปัดฝุ่นตัวละครตัวนี้อีกครั้ง แต่เป็นเหมือนการได้เล่นกับเพื่อนๆ ในบ่อทรายที่เต็มไปด้วยของเล่นเจ๋งๆ ผมรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์น่ายินดีของพิกซาร์แบบนี้ ผมชอบการพากย์เสียงแฮมม์เพราะเขาเป็นหมูแสนรู้เหลือเกิน เขาทำให้ผมฮาแตกเลย ผมได้ดูหนังพวกนี้เหมือนคนอื่นๆ ในหมู่ผู้ชม แล้วผมก็ต้องหัวเราะออกมา ความงดงามของการได้ร่วมงานกับพิกซาร์คือการที่พวกเขาทำงานหนักทั้งหมด พวกเขารู้จังหวะจะโคนของตัวละครเป็นอย่างดี ผู้กำกับรู้ดีว่าเขาต้องการอารมณ์ในแบบไหน และรู้ดีว่าตัวละครทุกตัวมีเสียงเป็นยังไง พวกเขาเป็นคนสร้างเรือ และที่เราต้องทำก็แค่นั่งไปบนเรือนั้นครับ”
คุณโปเตโต้ เฮ้ด เป็นหัวมันฝรั่งเลือดร้อน ช่างประชดประชัน ที่มีดวงตาขึ้งโกรธเสมอ เขาเป็นของเล่นที่มองโลกในแง่ร้ายตลอดเวลา ที่มีเปลือกนอกเป็นพลาสติกแข็งๆ แต่ความรักเพียงหนึ่งเดียวที่เขามอบให้กับคุณนายโปเตโต้ เฮ้ด “มันฝรั่งน่ารัก” น้อยๆ ของเขาเผยให้เห็นถึงแง่มุมที่อ่อนโยนของเขา
ดอน ริคเคิลส์ยินดีกับโอกาสที่ได้กลับมาพากย์เสียงคุณโปเตโต้ เฮ้ด ขี้หงุดหงิดอีกเป็นครั้งที่สาม “ในตอนที่จอห์น แลสซีเตอร์บอกผมครั้งแรกว่าผมจะได้พากย์เสียงคุณโปเตโต้ เฮ้ด ผมก็บอกว่า ‘ผมไม่เอาหรอก ปล่อยผมไปเถอะ ผมจะต้องสร้างชื่อให้กับตัวเอง’ แต่ผมหารู้ไม่ว่า ผมจะสามารถซื้อเพชรพลอยและบ้านหลายหลัง และอื่นๆ ให้กับภรรยาผมได้ เงินมันดีเหลือเกินครับ”
“หนังเรื่องนี้มีเรื่องราวที่ยอดเยี่ยม” ริคเคิลส์กล่าวต่อ “มันมีการกระโดด วิ่งแล้วก็กระโดด มีแอ็กชันเพียบ ถ้าคุณก้มลงไปซักสองสามนาที คุณจะพบว่าคุณโปเตโต้ เฮ้ดไปอยู่ในถังขยะหรือลอยข้ามเก้าอี้ไปแล้ว คุณจะต้องตื่นตัวอยู่เสมอครับ”
ริคเคิลส์อ้างว่า คุณโปเตโต้ เฮ้ดเป็นดาราที่แท้จริงของเรื่องนี้ “บอกตามตรงนะครับ ผมเจ๋งสุดๆ ในหนังเรื่องนี้ และบทพูดของผมก็เด็ดดวงไปเลย ทอม แฮงค์กับทิม อัลเลนก็เป็นแค่ตัวฆ่าเวลาเท่านั้นแหละ ผมต้องยอมรับนะครับว่าผมเจ๋งจริงๆ ผมกลัวความเจ๋งของตัวเองเลยนะเนี่ย แต่มาคิดอีกที ผมเจ๋งเกินกว่าหนังเรื่องนี้อีก ผมว่ามันน่าจะเป็นหนังเกี่ยวกับคุณโปเตโต้ เฮ้ดนะครับ”
คุณนายโปเตโต้ เฮ้ด เป็นแฟนสาวสวยของคุณโปเตโต้ เฮ้ด เธอหลงรักแฟนหนุ่มคนกล้าของเธอหัวปักหัวปำและเต็มใจที่จะให้เขายืมมือ หรือตา เสมอ แม้ว่า “มันฝรั่งน่ารัก” ของคุณโปเตโต้ เฮ้ดจะอ่อนหวานพอๆ กับชื่อเล่นของเธอ เธอก็มีอารมณ์รุนแรงพอๆ กับสามีของเธอน่ะแหละ
เอสเทล แฮร์ริสให้เสียงพากย์สาวน้อยหัวมันฝรั่งอีกครั้ง
เร็กซ์ อาจจะดูเหมือนไดโนเสาร์ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในกล่องของเล่น แต่จริงๆ แล้ว ไทแรนโนซอรัสตัวนี้เป็นหนึ่งในของเล่นที่น่ารักที่สุดในกลุ่ม แม้ว่าเขาจะกังวลและวิตกจริตเรื่องเสียงคำรามแหลมเล็กของตัวเอง เร็กซ์ก็จะคอยช่วยเหลือเพื่อนๆ อยู่เสมอๆ
วอลเลซ ชอว์น กลับมาพากย์เสียง เร็กซ์อีกครั้ง
สลิงกี้ ยืนยันว่าคำพูดที่ว่า “สุนัขเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์” เป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน แม้สำหรับสุนัขพลาสติกก็ตาม สลิงกี้รักษาศรัทธาที่มีต่อวู้ดดี้ไว้อย่างเหนียวแน่น และสุนัขน้อยตัวนี้ก็ยอมทำทุกอย่างเพื่อนช่วยเหลือเพื่อนของเขา
เบลค คลาร์ค พากย์เสียงสลิงกี้ใน “Toy Story 3” แทนที่เพื่อนรักของเขา จิม วาร์นีย์ ผู้ล่วงลับ ที่เคยพากย์เสียงในสองภาคแรกก่อนหน้านี้
บุลส์อายเป็นม้าของเล่นผู้สัตย์ซื่อของวู้ดดี้จากแก๊ง “Woody’s Roundup” บุลส์อายสามารถวิ่งได้รวดเร็วปานสายลมและกระโดดข้ามหุบเขากว้างได้ภายในครั้งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่วู้ดดี้นั่งอยู่บนบังเหียน
เรามักจะได้ยินเสียงพวกเอเลียนร้อง “อู้!” อย่างพร้อมเพรียงกันเสมอๆ ในตอนนี้ ของเล่นสีเขียวหลายตาสามตัวนี้เทิดทูนบูชาพ่อแม่บุญธรรมของพวกเขา พวกหัวมันฝรั่งโปเตโต้ เฮ้ด แทนที่หนีบตุ๊กตา แน่นอนว่าเป็นเพราะคุณโปเตโต้ เฮ้ดช่วยชีวิตพวกเขาไว้ และพวกเขาก็สำนึกในบุญคุณของเขาเสมอ
บาร์บี้ รอดจากการถูกนำไปเปิดท้ายขายของและการเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านช่วงฤดูใบไม้ผลิมาโดยตลอด แต่วันเวลาอันรุ่งโรจน์ของเธอจบลงอย่างฉับพลัน เมื่อมอลลี น้องสาวของแอนดี้ได้ทิ้งเธอลงไปในกล่องรับบริจาคของสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่บาร์บี้ก็ไม่ได้สิ้นหวังอยู่นาน เธอกลับมาร่าเริงลัลล้าอีกครั้งในทันทีที่เธอเห็นเคนและบ้านในฝันของเขาที่ซันนีไซด์ เดย์แคร์ แม้ว่าเธอจะตกหลุมรักเขาตั้งแต่แรกพบ เธอก็ไม่ได้เป็นแค่ของเล่นในห้วงรักธรรมดาๆ เพราะเธอได้สอนเคนให้รู้จักมิตรภาพที่แท้จริง โจดี้ เบนสัน พากย์เสียงบาร์บี้อีกครั้ง
แอนดี้ เจ้าของผู้ใจดี และเปี่ยมด้วยจินตนาการของบัซและวู้ดดี้ ตอนนี้อายุเกือบ 18 ปีแล้ว และอีกไม่กี่วัน เขาก็จะต้องไปเรียนวิทยาลัย ผนังห้องนอนของเขา ที่เคยเต็มไปด้วยโปสเตอร์บัซ ไลท์เยียร์ มาตอนนี้ ถูกแทนที่ด้วยภาพรถสปอร์ต วงดนตรีร็อคและนักสเก็ตบอร์ด แม้ว่าแอนดี้จะไม่หยิบเอาของเล่นเก่าๆ ของเขาออกจากกล่องมาเล่นอีกแล้ว แต่เขาก็ยังตัดใจทิ้งของเล่นของตัวเองไม่ลง และเมื่อการจากไปของเขาใกล้เข้ามา อีกทั้งถูกจ้ำจี้จ้ำไชจากแม่ของเขา ก็ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องตัดสินชะตากรรมของของเล่นชิ้นโปรดของเขา
ทีมผู้สร้างได้เลือกจอห์น มอร์ริส ผู้พากย์เสียงแอนดี้ ในสองภาคแรก ให้กลับมาพากย์เสียงตัวละครตัวนี้อีกครั้งหนึ่ง และจอห์น ก็เติบโตขึ้นมากับของเล่น เช่นเดียวกับแอนดี้
ของเล่นใหม่ประจำซอย
“Toy Story 3” อัดแน่นไปด้วยคอเมดี และเสียงหัวเราะส่วนหนึ่งก็เกิดจากของเล่นหน้าใหม่ ที่โลดแล่นมีชีวิตขึ้นมาด้วยบรรดานักพากย์ ที่มีดีกรีอารมณ์ขันของตัวเองอยู่แล้วและราวกับว่าพวกเขาเป็นของเล่นใหม่สดซิงจากกล่อง ของเล่นใหม่เหล่านี้ก็มีคำอธิบายแบบของเล่นใหม่ของตัวเองด้วยเหมือนกัน
ของเล่นในสถานรับเลี้ยงเด็กซันนีไซด์
ล็อทส์-โอ-ฮักกิ้ง แบร์ (หรือล็อทโซ) เป็นตุ๊กตาหมีนุ่มนิ่มขนาดจัมโบ้ ที่มีขนนุ่มละเอียดสีชมพูแซมขาว และจมูกกำมะหยี่สีม่วง หมีที่แสนน่ารักตัวนี้สามารถเชิดหน้ามีขนของเขาใส่ตุ๊กตาหมีตัวอื่นๆ ได้เพราะเขามีกลิ่นหอมหวานเหมือนสตรอว์เบอร์รี! ด้วยรอยยิ้มที่จะทำให้ใบหน้าเด็กๆ สว่างไสว และพุงโตๆ ชวนให้กอด หมีล็อทส์-โอ-ฮักกิ้ง แบร์จะกลายเป็นเพื่อนที่เด็กๆ ขาดไม่ได้ในเวลานอน รับประกันว่าทนทานต่อคราบสกปรก สามารถเช็ดรอยเปื้อนได้เพียงเช็ดด้วยผ้าบิดหมาดเท่านั้น
ล็อทโซเป็นตัวละครซับซ้อน ผู้ซึ่งภายนอกที่นุ่มนิ่มของเขาซ่อนอะไรบางอย่างไว้ภายใน เน็ด บีตตี้ นักแสดงสมทบมากประสบการณ์ ให้เสียงพากย์ตัวละครตัวนี้ “ถ้าตัวละครทำตัวให้คุณเห็นอย่างหนึ่ง แล้วเขาก็เปลี่ยนไปและแสดงให้คุณเห็นอีกแง่มุมหนึ่งของเขา ผมคิดว่าผู้ชมจะชอบอะไรแบบนั้นนะครับ เพราะเราทุกคนต่างก็เคยเจอประสบการณ์แบบนั้นในชีวิต ในตอนที่เราได้พบหรือสร้างความสัมพันธ์กับใครในตอนแรก เราไม่ได้เห็นทุกอย่างของเขาหรอกครับ”
“เวลาคุณเจอตัวละครหนึ่งๆ ซึ่งเขาอาจจะทำในเรื่องที่ไม่ดีนัก” บีตตี้กล่าวต่อ “บางครั้ง พวกเขาก็ทำตัวแย่ หรือน่ากลัว ทำในเรื่องที่คุณไม่คิดฝันว่าคุณจะทำ แต่ในฐานะนักแสดง คุณก็สามารถถามใจตัวเองว่า คุณจะสามารถทำอะไรแบบนั้นได้หรือเปล่า มันน่ากลัวหน่อยๆ ครับ แต่ก็สนุกมากด้วย คุณจะได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับตัวเองเพราะนั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องทำในการต้องสวมบทบาทเป็นใครซักคน ผมรู้สึกวิเศษสุดจริงๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Toy Story 3’ นี่เป็นของขวัญจากเทพเจ้าแห่งหนังครับ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม”
เคน เป็นหนุ่มโสดซิง ที่มองหาเรื่องสนุกๆ อยู่ตลอดเวลา คว้ากล้องส่องทางไกลของคุณแล้วร่วมเดินทางในซาฟารีกับเขาสิ! เคนสวมชุดที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการผจญภัยเชิงอนุรักษ์ของเขา นั่นคือกางเกงขาสั้นสีฟ้าอ่อน และเสื้อเชิ้ตลายเสือดาว แขนเสื้อสั้น เพื่อทำให้เขารู้สึกเย็นอยู่ได้ภายใต้แสงแดดที่ร้อนระอุ และหลังจากการเดินทางสำรวจสุดตื่นเต้นของเขา เคนก็พร้อมที่จะย่างกรายสู่ฟลอร์เต้นรำ ชุดเก่งของเขาประกอบไปด้วยผ้าพันคอที่เข้ากัน รองเท้าคู่สวยและเข็มขัดทองคำนำแฟชัน มีการขายชุดของเคนแยกต่างหากอีกเป็นสิบๆ ชุด
ไมเคิล คีย์ตัน พากย์เสียง เคน ตัวละครที่เขารู้สึกผูกพันด้วยตั้งแต่เริ่มแรก “เขามหัศจรรย์มากครับ” คีย์ตันกล่าว “ผมชอบเขา เขาเป็นคนอารมณ์อ่อนไหว เขาคลั่งไคล้สาวบาร์บี้ และมีชุดให้ใส่เพียบ มันเยอะจริงๆ นะครับ”
คีย์ตันกล่าวว่า เขาคิดว่าพิกซาร์ประสบความสำเร็จในการหาส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างอารมณ์ขัน อารมณ์และการผจญภัยมานานแล้ว “คุณจะรู้สึกผูกพันกับหนังพวกนี้เพราะมันมีธีมที่เป็นสากลครับ” เขาบอก “และพวกมันก็ตลก แถมจังหวะของเรื่องก็เข้ากันอีกต่างหาก”
สเตรทช์ เป็นปลาหมึกใต้ทะเลสีม่วงที่รักสนุก ตามตัวส่องประกายระยิบระยับวิบวับ เด็กๆ สามารถนับหนวดทั้งแปดหนวดของเธอ และตัวดูดนับสิบๆ ที่ทนทานต่อการดึงทึ้งกระชากลากถู ถ้าคุณโยนเธอขึ้นไปบนผนัง เธอก็จะไต่กลับลงมาได้เอง! ซักในน้ำสบู่อ่อนๆ เพื่อขจัดฝุ่นและคราบสกปรก
วู้ปปี้ โกลด์เบิร์ก พิธีกรรายการทอล์คโชว์/นักแสดงตลก/นักแสดงหญิงผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ พากย์เสียงเป็นสมาชิกหญิงสุดเซี้ยวเพียงหนึ่งเดียวในคณะแก๊งของล็อทโซ
บิ๊ก เบบี้ เป็นตุ๊กตาเด็กทารกเหมือนจริงด้วยร่างกายที่นุ่มนิ่มน่ากอด และแขนขา ใบหน้าที่ทำจากยางไวนิล ด้วยดวงตาสีฟ้าสดใส ที่เปิดและปิดได้ เด็กทารกที่เหมือนจริงคนนี้ทำให้คุณอยากจะทะนุถนอมเขา บิ๊ก เบบี้สูงสิบแปดนิ้ว แต่งตัวในชุดสีเหลืองน่ารักและหมวกที่เข้ากั๊นเข้ากัน และมีขวดนมวิเศษ ที่นมจะหายไปเมื่อเขาดื่มมัน! เขาจะเป็นตุ๊กตาตัวแรกที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับลูกน้อยคนพิเศษของคุณ สามารถซักเครื่องได้ด้วยการปั่นเบาๆ ทนไฟ
ทวิทช์ เป็นนักรบแมลง ที่ซึ่งคำว่า คน + แมลง = เจ๋งเป้ง แอ็กชัน ฟิกเกอร์ ผู้แข็งแกร่งคนนี้ สูงกว่าห้านิ้ว และมีจุดขยับกว่า 15 ที่ ซึ่งรวมถึงขากรรไกรที่สามารถงับได้อย่างดุดัน เขาใช้ปีกที่ทรงพลังของเขาและโครงสร้างที่ไร้เทียมทานในการหลบหนีจากการจับกุม! ตัวทวิทช์มีรายละเอียดที่ประณีต ซึ่งรวมถึงไม้เท้าวิเศษที่ใช้ในการสู้รบของเขา และส่วนเกราะอกที่สามารถถอดออกได้ สำหรับเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป มีฟิกเกอร์แมลงตัวอื่นๆ ขายแยกต่างหาก
ทวิทช์ พากย์เสียงโดยจอห์น ซีแกน
ชังค์ จะเขย่าโลกของคุณ! สิ่งมีชีวิตร่างมหึมาตัวนี้มีหนามที่ไหล่เป็นเกราะป้องกันอย่างดี และกำปั้นร้ายกาจของเขาที่พร้อมจะถล่มศัตรูหน้าไหนก็ตามที่กล้ามาขวางทางเขา ร่างกายใหญ่ยักษ์ของชังค์ขยับได้ทุกส่วน ทำให้เขาพร้อมสำหรับความสนุกสนานจากจินตนาการแบบนอนสต็อป เขามีโบนัสพิเศษคือเมื่อกดปุ่มหนามที่ซ่อนอยู่จะทำให้สีหน้าของชังค์เปลี่ยนจากเป็นมิตรกลายเป็นดุร้ายขึ้นมาทันตาเห็น! ไม่ต้องใช้แบตเตอรี
แจ็ค แองเจิล พากย์เสียงชังค์
สปาร์คส์ จะโบยบินจริงๆ ระหว่างช่วงเวลาเล่นแสนสนุกกับ สปาร์ค เพื่อนหุ่นยนต์ตัวใหม่ของคุณ! หุ่นยนต์ย้อนยุคตัวนี้มีดวงตาเป็นไฟ LED สีแดง และปากที่สามารถพ่นไฟออกมาได้จริงๆ เมื่อเขาเลื่อนตัวไปข้างหน้าด้วยล้อยางที่มั่นคงของเขา นอกจากนี้ สปาร์คส์ยังมีแขนยืดหดได้ พร้อมด้วยมือจับยึด และฟังค์ชันลิฟท์ที่ช่วยยกตัวของเขาให้สูงขึ้น ปลอดภัยสำหรับเด็ก ใช้แบตเตอรี AA สองก้อน (ไม่ได้รวมมาในแพ็คด้วย)
สปาร์คส์ พากย์เสียงโดย ยาน แร็บสัน
แชตเตอร์ เทเลโฟน เป็นของเล่นสำหรับลากสุดคลาสสิก ที่สร้างเสียงหัวเราะมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น ในขณะเดียวกับที่เขาฝึกฝนทักษะการเคลื่อนไหวและสมดุลของตัวเองอยู่เรื่อยๆ กริ๊งๆ! หนูน้อยทั้งหลายไม่อาจต้านทานเสน่ห์ใบหน้าเป็นมิตร ที่มีดวงตาขยับขึ้นลง ระหว่างที่พวกเขาลากของเล่นชิ้นนี้ไปด้วยได้หรอก และสีสันสดใส และเสียงน่ารักๆ ก็จะทำให้เด็กๆ ยิ้มแย้ม มีความสุข แชตเตอร์ เทเลโฟน เหมาะสำหรับมือเล็กๆ ในชีวิตคุณ
แชตเตอร์ เทเลโฟน พากย์เสียงโดยเท็ดดี้ นิวตัน ผู้รับหน้าที่ผู้กำกับของ “Day & Night” ภาพยนตร์ขนาดสั้นที่จะเข้าฉายพร้อมกับ “Toy Story 3”
หนอนหนังสือบุ๊คเวิร์ม ทำให้เวลาเล่านิทานพิเศษสุดยิ่งขึ้น เพื่อนสำหรับช่วงเวลาเล่านิทานก่อนนอนตัวนี้จะส่งเสริมให้ลูกๆ ของคุณรักการอ่าน พร้อมๆ กับอยู่เป็นเพื่อนเด็กๆ ด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุขของเขา แสงไฟที่ส่องสว่างของบุ๊คเวิร์มเกิดขึ้นได้ด้วยหลอดไฟที่ทนทานเป็นพิเศษ และสว่างพอที่จะใช้อ่านหนังสือได้โดยไม่แสบตา มีแบตเตอรี C สองก้อนมาให้ด้วย สำหรับเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป ริชาร์ด ไคน์ ให้เสียงพากย์ บุ๊คเวิร์ม
ของเล่นของบอนนี
คุณพริคเกิลแพนท์ เป็นเพื่อนที่เหมาะเหม็งสำหรับการผจญภัยในป่าของคุณ! เม่นใส่เอี๊ยมที่น่ารักตัวนี้มาจากคอลเล็กชันตุ๊กตาพรีเมียมนำเข้าของวอลด์ฟรอยด์ เขาอาจจะดูมีหนามแหลมเปี๊ยบก็จริง แต่คุณพริคเคิลแพนท์ตัวอ้วนกลมตัวนุ่มนิ่มตัวนี้ทำมาเพื่อการกอดเท่านั้น! ซักด้วยมือและตากให้แห้งตามธรรมชาติ ฟื้นฟูความนุ่มนิ่มของเขาได้ด้วยมือ ผลิตในเยอรมนี
ทิโมธี ดัลตัน นักแสดงหน้าใหม่ในโลกของพิกซาร์ พากย์เสียงคุณพริคเคิลแพนท์ ผู้วาดภาพตัวเองว่าเป็นนักรบผู้เก่งกล้า “คุณพริคเคิลแพนท์เป็นตัวละครที่น่ารักอย่างน่าอัศจรรย์ครับ” ดัลตันกล่าว “เขาเป็นภาพที่น่าทึ่ง เม่นน้อยๆ ตัวอ้วนกลมที่วิเศษสุดตัวนี้ในชุดเอี๊ยม และกางเกงหนังขาสั้นแบบไทรอล ของเล่นทุกชิ้นในบ้านของบอนนีล้วนแล้วแต่เป็นนักแสดงใหญ่ที่ชื่นชอบการแสดงบทบาทสมมติและด้นบทสดๆ แต่ตัวละครของผมค่อนข้างจะซีเรียสกับเรื่องนี้ เขาเป็นประเภทผู้จัดการของนักแสดงน่ะครับ”
“ผมตื่นเต้นมากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้” ดัลตันกล่าวต่อ “สิ่งที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับอนิเมชันคือการที่ทุกอย่างจะมีพื้นฐานด้านอารมณ์ที่แข็งแกร่ง ในแบบที่คุณไม่สามารถทำได้กับคนจริงๆ ในหนังไลฟ์แอ็กชัน ในอนิเมชัน คุณสามารถล้วงทะลุทะลวงทุกสิ่งเข้าไป เข้าไปในใจของใครซักคนได้เลย ตัวละครแต่ละตัวจะเป็นตัวแทนของแง่มุมที่แตกต่างกันในพวกเราทุกคน หนังเรื่องมีความบริสุทธิ์ที่วิเศษสุด และมันก็น่าประทับใจ น่าตื่นเต้นและอบอุ่นหัวใจด้วย มันบรรเจิดไปด้วยจินตนาการ และมีความเป็นมนุษย์ในเรื่องราวมากเหลือเกินครับ”
บัตเตอร์คัพ จะนำพาลูกของคุณไปสู่การผจญภัยแสนมหัศจรรย์! ยูนิคอร์นนุ่มนิ่มน่ากอดตัวนี้มีขนละเอียดนุ่มสีขาว แซมด้วยสีทองและสีชมพู เขามีเขาวิเศษสีทองอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา และมีขนแผงคอและหางไว้แปรงได้สนุกมือ ดวงตาพลาสติกที่ทนทานของบัตเตอร์คัพทั้งมีเสน่ห์และทนต่อการขูดขีด ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ สำหรับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป
เจฟฟ์ การ์ลิน ผู้พากย์เสียงกัปตันใน “WALL?E” และนักแสดงจาก “Curb Your Enthusiasm” ได้ใช้จังหวะในการแสดงตลกอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา ในการพากย์เสียงของเล่นที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามีลักษณะเหมือนผู้หญิง “การได้ยินเสียงของผมออกมาจากปากของยูนิคอร์นตัวน้อยน่ารักเป็นเรื่องแปลกสุดๆ เลยครับ” การ์ลินกล่าว “มันตลกจริงๆ ผมคิดว่า ‘Toy Story 3’ เป็นหนังที่ยอดเยี่ยม มันจะทำให้ใครหลายๆ คนมีความสุขสุดๆ มันมีคุณสมบัติมหัศจรรย์ของพิกซาร์ครับ”
ทริกซี เป็นเพื่อนเล่นที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับการละเล่นยุคก่อนประวัติศาสตร์! ย้อนเวลาสู่ยุคสมัยที่ไดโนเสาร์เป็นผู้ครองโลก! ทริกซี ผลิตจากพลาสติกแข็งที่ทนทาน และมีสีฟ้าและม่วงที่ดูเป็นมิตร มีปากและขาที่ขยับได้ ไทรเซราท็อปส์ ผู้อ่อนโยนตัวนี้ จะเติมเต็มจินตนาการของเด็กๆ ทุกคน นอกจากไทรเซราท็อปแล้ว ในชุดนี้ยังมีไทแรนโนซอรัส เร็กซ์, สเต็กโกซอรัสและเวโลไคแร็ปเตอร์ด้วย
“ทริกซีเป็นไทรเซราท็อปส์พลาสติก ที่ถูกออกกแบบมาจากไลน์ของเล่นไดโนเสาร์เดียวกับเร็กซ์ครับ” ผู้กำกับลี อังค์ริชเล่า “คริสเตน ชอลเป็นนักแสดงหญิงที่ตลกสุดๆ เธอโด่งดังจากบทเมล สตอล์คเกอร์สาวในซีรีส์เอชบีโอเรื่อง ‘Flight of the Conchords’ และเธอก็ได้ใช้เสียงแหลมสูงของเธอในการพากย์เสียงตัวละครสุดฮาตัวนี้ ทริกซีชื่นชอบการแสดงอิมโพรไวส์ และพยายามคิดหาคำตอบอยู่ตลอดว่าตัวละครของเธอเป็นใครและเธอจะเล่นในสถานการณ์แบบไหน การได้นักแสดงตลก ที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์มาพากย์บทนี้ทำให้เกิดโอกาสในการสร้างช่วงเวลาตลกเยี่ยมๆ ให้เกิดขึ้นมาครับ”
“ฉันภูมิใจกับผลงานของฉันจริงๆ ค่ะ” ชอลกล่าว “ซึ่งเป็นเรื่องแปลกสำหรับนักแสดงตลกที่ถ่อมตัวใน
ทุกๆ ด้าน หลังจากที่ฉันบันทึกเสียงบทของฉันเสร็จ ฉันก็เดินออกจากสตูดิโอพร้อมกับความคิดว่า ‘ฉันคิดว่าตอนนี้ตัวเองเป็นอมตะแล้วล่ะ’ หนังพวกนี้เป็นหนังคลาสสิกและอมตะค่ะ พวกมันจะอยู่ยั้งยืนยง ดังนั้น เสียงของฉันก็จะออกมาจากไทรเซราท็อปส์ตัวนั้นตลอดกาลค่ะ”
ดอลลี เป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงที่นุ่มนิ่ม น่ารัก และเป็นของขวัญแสนเพอร์เฟ็กต์สำหรับเด็กๆ ทุกคน! ร่างกายที่อ่อนนุ่มและรอยยิ้มสดใสของเธอจะทำให้เธอเป็นสมาชิกคนใหม่ของครอบครัวคุณ ดอลลีมีผมสีม่วง ดวงตากลมโตและแก้มแดงระเรื่อ เธอมาพร้อมกับชุดเดรสสีน้ำเงินตัวสวย และก็มีแบบเสื้อให้คุณได้ใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าของเธอขึ้นมาใหม่ในแบบของคุณเอง! สามารถซักในเครื่องซักผ้าได้ด้วยแรงปั่นเบาๆ
บอนนี ฮันท์ นักแสดงหญิงที่ตลกอยู่เสมอ เป็นตัวเลือกที่พิกซาร์ชื่นชอบ เธอเคยพากย์เสียงบทโรซี ใน “A Bug’s Life” และบทแซลลีใน “Cars” มาแล้ว สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอได้ใส่ไหวพริบความเฉียบคมของเธอลงไปในตัวดอลลี ที่เป็นเหมือนวู้ดดี้ในแง่ของการเป็นผู้นำ “แน่นอนว่าดอลลีไม่ใช่ตุ๊กตาที่สวยที่สุด” ฮันท์บอก “แต่เธอน่ารักสุดๆ กระดุมเธอไม่ได้เหมือนกันซักเม็ด แถมผมเธอก็เป็นสีม่วงอีกต่างหาก แต่เธอเป็นตัวละครที่น่ารักและตลกจริงๆ ค่ะ ฉันรู้สึกผูกพันกับเธอในทันที เพราะตุ๊กตาชื่อดอลลีอาจดูเหมือนมีอยู่ดาษดื่นก็จริง แต่เธอเป็นตุ๊กตาที่มีจิตใจงามและมีนิสัยที่ซับซ้อน มันทำให้ฉันนึกถึงตอนเด็กๆ ที่จินตนาการของฉันสามารถเนรมิตชีวิตให้ตุ๊กตาได้น่ะค่ะ”
พีส์-อิน-อะ-พ็อด จะกลายเป็นของเล่นที่ถูกอกถูกใจบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างรวดเร็ว ถุงนุ่มๆ ที่เก็บถั่วยิ้มแป้นไว้ด้านใน พร้อมด้วยซิบโลหะทนทาน ทำให้มันเพอร์เฟ็กต์สำหรับรถยนต์หรือรถเข็น นอกจากนี้ ตุ๊กตาพีส์-อิน-อะ-พ็อด ยังช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กด้วยการกระตุ้นสัญชาตญาณตามธรรมชาติในการหยิบคว้าสิ่งของของเด็กอีกด้วย การหยิบถั่วสามเม็ดออกจากถุงจะกลายเป็นความสนุกที่ซ้ำแบบสำหรับเด็กทารกและเด็กอ่อน และไม่นานนัก พวกเขาก็จะเรียนรู้ที่จะวางมันกลับที่เดิม! ซักด้วยเครื่องซักผ้าได้ ไม่สามารถกินได้ ชาร์ลี ไบรท์, ไบรแอนนา ไมแวนด์และแอมเบอร์ โครเนอร์ ให้เสียงพากย์เม็ดถั่วสามเม็ดนั่น
บาร์บี้พบเคน
ตำนานรักของ “Toy Story”
หนึ่งในไฮไลท์ของแท้ของ “Toy Story 2” คือการแนะนำบาร์บี้ ซึ่งอาจจะเป็นตุ๊กตาที่โด่งดังและได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาลก็เป็นได้ ใน “Toy Story 3” สาวบาร์บี้มีบทบาทโดดเด่นยิ่งกว่าเดิม และเธอก็ได้พบกับชายในฝันเมื่อเธอเจอเคนเข้าที่สถานรับเลี้ยงเด็กซันนีไซด์ เช่นเดียวกับความรักบนหน้าจอหลายๆ เรื่อง ความสัมพันธ์ครั้งนี้ก็มีความท้าทายไม่ต่างกัน แต่ผิดไปตรงนี้ครั้งนี้จะมีเรื่องราวหักมุมที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
อังค์ริชกล่าวว่า “ไอเดียของการใส่เคนเข้ามาในหนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ของช่วงเวลาน่าขบขันครับ เคนเป็นของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัด และจริงๆ แล้ว เขาก็เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบของตุ๊กตาบาร์บี้เท่านั้นเอง เขาไม่ได้สำคัญไปกว่ากระเป๋าหรือรองเท้าซักคู่เลย เราคิดว่าเขาคงจะต้องรู้สึกไม่มั่นใจกับเรื่องพวกนั้น และพยายามจะกลบเกลื่อนความรู้สึกนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เขาชื่นชอบเสื้อผ้า เพราะเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชันตัวจริงเสียงจริง เขาจะสวมชุดที่แตกต่างกันในแต่ละซีนของหนังเรื่องนี้ เราคิดว่าคงจะดีถ้าจะให้เคนสวมแต่ชุดที่มีอยู่จริงๆ เราก็เลยปรึกษากับคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเคนครับ”
“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่สนุกไปกับเคน และเล่นกับเขาให้สุดเหวี่ยงที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ครับ” เจสัน แคทซ์ ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราวบอก “เขาเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองสุดๆ เราให้เขาเป็นเหมือนหนุ่มตามชายหาดแคลิฟอร์เนียช่วงกลางยุค 80s ที่หล่อระเบิด แต่ก็ตื้นเขินแถมซุ่มซ่ามอย่างเหลือเชื่อ และผมก็คิดว่า ไมเคิล คีย์ตันมีวิธีถ่ายทอดคุณสมบัตินั้นออกมาได้ ซึ่งมันเยี่ยมมากครับ”
ซูเปอร์ไวซิง อนิเมเตอร์ บ็อบบี้ โพเดสตา กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่เยี่ยมในการทำงานกับบาร์บี้และเคนคือผู้ชมรู้จักของเล่นพวกนี้ดีอยู่แล้ว และมันก็จะมีข้อมูลบางอย่างที่ติดตัวพวกเขาเข้ามาในโรงหนังด้วยอยู่แล้ว ในแบบที่เราสามารถเล่นกับมันหรือทำอะไรที่ขัดแย้งกันได้ คุณไม่ต้องนำเสนอเรื่องที่ว่าบาร์บี้อาจจะมีคุณสมบัติบางอย่างเหมือนตุ๊กตา ผู้ชมรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว พวกเขารู้ลักษณะที่ขาบาร์บี้จะงอดี และเมื่อเธอร้องไห้ เธอก็จะเอามือปิดหน้าในท่าเก้งก้างที่อาจจะดูแปลกๆ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ตุ๊กตาบาร์บี้จะทำครับ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้มันตลก มันเป็นแบบเดียวกับตอนที่เคนโชว์บ้านในฝันของเขาให้บาร์บี้ดู และชี้โน่นชี้นี่ด้วยนิ้วมือที่ติดกันเป็นแผงของเขาครับ”
อนิเมเตอร์ เจมี ลันเดส ดึงเอาความทรงจำของเธอเองที่เล่นกับบาร์บี้มาใช้กับฉากของเธอกับตุ๊กตาคนดังนี้ “ฉันสามารถย้อนกลับไปในวัยเด็กของตัวเอง และสนุกกับการได้เล่นกับเธออีกครั้งหนึ่งค่ะ” เธอบอก “เธอยังคงเป็นของเล่นยอดนิยมในยุคนี้อยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับ ‘Toy Story 2’ บทบาทของบาร์บี้แตกต่างออกไปอย่างมาก เธอมีบทบาทที่กว้างขึ้น ซึ่งทำให้งานนี้ท้าทายขึ้นเยอะเลยค่ะ”
ไมเคิล คีย์ตัน เจ้าของบทบาทที่น่าจดจำทั้งจาก “Batman” และ “Beetlejuice” ให้เสียงพากย์ เคน จอมขโมยซีน “เคนเป็นตัวละครที่วิเศษสุดครับ” คีย์ตันกล่าว “ผมชอบเขาจริงๆ เขาไม่ได้เป็นแค่เครื่องประดับหรือของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงเท่านั้น แม้ว่าทุกคนจะพยายามทำให้เขารู้สึกแบบนั้นก็ตาม แต่เขาก็มีชุดเยอะแยะเลยนะครับ แล้วเขาก็คลั่งไคล้บาร์บี้ด้วย นี่เป็นเรื่องของรักแรกพบชัดๆ”
“สิ่งที่เยี่ยมเกี่ยวกับ ‘Toy Story 3’ คือมันทั้งสะเทือนอารมณ์และซาบซึ้งใจก็จริง แต่ก็มีการผจญภัยเป็นตันเลยด้วย” คีย์ตันกล่าวต่อ “ตอนที่ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ ผมกังวลจริงๆ ว่าพวกเขาจะรอดไปได้รึเปล่า คุณจะอินไปกับเรื่องราวจริงๆ ครับ คุณจะรู้สึกผูกพันกับเรื่องราวนี้เพราะธีมของมันเป็นเรื่องสากล และจังหวะก็ถูกที่ถูกเวลาเสมอ มันเป็นส่วนผสมที่เพอร์เฟ็กต์ และมันก็มีองค์ประกอบด้านวิชวลหลายๆ อย่างที่ทำเอาผมอึ้งไปเลย”
“เคนเป็นคนที่อารมณ์อ่อนไหวและรุนแรง และเขาก็เข้าใจว่าบาร์บี้เป็นผู้หญิงที่น่าหวั่นเกรงครับ” คีย์ตันกล่าวเสริม “เขาไม่ได้คาดคิดถึงเรื่องนั้นเลย เคนอาจจะวาดภาพว่าบาร์บี้เป็นสาวน้อยอ่อนหวาน ตัวละครตัวนี้ยิ่งใหญ่ก็จริงอยู่ แต่เขาก็ยังเป็นผมอยู่ดีแหละครับ”
โจดี้ เบนสัน นักแสดงละครบรอดเวย์และนักพากย์เสียงยอดนิยม ผู้เปิดตัวผลงานการพากย์เสียงเรื่องแรกด้วยบทนำในภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องเยี่ยมของดิสนีย์ในปี 1989 เรื่อง “The Little Mermaid” กลับมาพากย์เสียงบาร์บี้ ที่เธอเคยสร้างเอาไว้ใน “Toy Story 2” อีกครั้งหนึ่ง “ฉันพบว่าบาร์บี้เป็นตัวละครที่สนุกอย่างเหลือเชื่อและฉันก็รู้สึกสบายๆ ในผิวพลาสติกที่เพอร์เฟ็กต์ของเธอกว่าภาคที่แล้วอีกค่ะ” เบนสันกล่าว ฉันชอบที่ว่าเธอเป็นตัวละครที่พัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม ในการได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับลี [อังค์ริช] ฉันพยายามจะทำให้เธอสมจริงและดูน่าเชื่อที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีหลายคนมองว่าบาร์บี้ไม่ค่อยฉลาด และเราก็อยากแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นคนฉลาดทีเดียวและเธอก็สามารถใช้พรสวรรค์และความสามารถของเธอในการทำในสิ่งที่ถูกต้อง เธอรักมนุษย์ เป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ตลอดทั้งชีวิตและไว้วางใจได้ และแน่นอนว่าคุณคงไม่อยากจะไปแหยมกับเธอในเรื่องเพื่อนๆ ของเธอหรอกนะคะ เธอมักจะสดใส ร่าเริง และเปี่ยมไปด้วยพลังงาน และเธอก็คลั่งไคล้แฟชันสุดๆ ไปเลยด้วยค่ะ”
“ฉันโตมากับบาร์บี้ และมีข้าวของเครื่องประดับหลายชิ้น เช่นกระเป๋าเดินทางที่ใช้เก็บตุ๊กตาและเสื้อผ้าของเธอน่ะค่ะ” เบนสันเล่าต่อ “ใน ‘Toy Story 2’ ฉันกับจอห์น แลสซีเตอร์ได้วางกล่องบาร์บี้ไว้บนสเตจบันทึกเสียง และเราก็ได้เล่นกับพวกเธอเพื่อทำให้เราเข้าถึงอารมณ์ของฉาก และสำหรับหนังเรื่องนี้ ลีก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฉันฟังและแสดงบทบาททั้งหมดออกมา ในแต่ละเซสชัน เขาจะเป็นคนอ่านบทเคน และเขาก็เป็นนักพากย์ที่เยี่ยมมาก เขาเหมือนกับโฮเวิร์ด แอชแมนใน ‘Mermaid’ ตรงที่เขาเป็นแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ฉันสามารถทำหน้าที่ของฉันได้อย่างดีที่สุดค่ะ”
การสร้างภาพอนิเมชันตัวละคร
ทีมงานอนิเมชันของพิกซาร์กลับมาพบเพื่อนเก่า
และผูกมิตรกับเพื่อนใหม่
โลกคอมพิวเตอร์ อนิเมชันและเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างมหาศาลตลอดช่วงระยะเวลา 11 ปีนับตั้งแต่การเข้าฉายของ “Toy Story 2” หรือนับตั้งแต่การเปิดตัวของ “Toy Story” ในปี 1995
“เราจะต้องซื่อตรงต่อโลกของ ‘Toy Story’ แต่ก็ต้องทำให้มันสดใหม่ เหมาะสม และสนุกสนานค่ะ” ผู้อำนวยการสร้างดาร์ลา เค. แอนเดอร์สันบอก “เราต้องยึดมั่นกับภาษาดีไซน์ ลุคและความรู้สึกของตัวละคร เพียงแต่เราสามารถสร้างพวกเขาขึ้นมาใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นระหว่างเรื่องราว โลกใบนี้ ตัวละครและเทคโนโลยี เราก็จะต้องหาที่ทางเพื่อบอกเล่าเรื่องราวใหม่ที่ชวนติดตาม แต่ก็ยังคงอยู่ในความรู้สึกที่คลาสสิกและพื้นที่ที่ไร้กาลเวลานี้ค่ะ”
ความท้าทายสำหรับผู้กำกับลี อังค์ริช, ซูเปอร์ไวซิง อนิเมเตอร์ บ็อบบี้ โพเดสตาและไมเคิล เวนทูรินี และทีมงานอนิเมชันของ “Toy Story 3” ส่วนที่เหลือคือการใช้เครื่องมือและวิวัฒนาการใหม่ๆ ที่พวกเขาสามารถใช้ได้ แต่ก็ต้องทำให้แน่ใจว่า บัซ, วู้ดดี้และตัวละครตัวอื่นๆ ที่ผู้ชมโปรดปรานจาก “Toy Story” จะยังคงให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกเดียวกันกับสองภาคก่อนหน้านี้ด้วย
“เราต้องการให้ตัวละคร ‘Toy Story’ ที่คลาสสิกพวกนี้เคลื่อนไหวและทำตัวแบบเดิมกับที่พวกเขาเคยทำในภาคก่อนๆ ครับ” อังค์ริชอธิบาย “แต่อนิเมเตอร์เคยชินกับการใช้โมเดลที่ซับซ้อนกว่าที่เราเคยมีมาแต่ก่อน เช่น สำหรับตัวละครมนุษย์ใน ‘Ratatouille’ จะใช้การควบคุมที่มากกว่า และพวกเขาก็สามารถสร้างอนิเมชันอากัปกิริยาที่ไม่โจ่งแจ้งขึ้นมาได้ สำหรับ ‘Toy Story 3’ เราต้องคอยระวังที่จะไม่สร้างตัวละครที่มีสีหน้าและการเคลื่อนไหวที่พลิ้วไหวและซับซ้อนเกินไปจนพวกเขาไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนวู้ดดี้และบัซอีกต่อไปแล้ว เราอยากให้พวกเขาเป็นอย่างที่เรายังจดจำได้ มันเป็นเรื่องของการยอมรับขีดจำกัดอย่างที่เราเคยมีและทำงานภายใต้บริบทเหล่านั้นครับ”
ตลอดการถ่ายทำ อังค์ริชโชคดีที่ได้ทีมอนิเมเตอร์พิกซาร์ที่เคยทำงานใน “Toy Story” ภาคก่อนๆ มาฝึกสอนอนิเมเตอร์ทีมใหม่ “ในเดลลีอนิเมชัน แองกัส แม็คเลน, บ็อบบี้ โพเดสตาและคนอื่นๆ จะพูดทำนองว่า ‘อย่าดึงคิ้วบัซลงมาต่ำขนาดนั้นเพราะมันจะทำให้เขาหลุดโมเดล’ หรือ ‘อย่ายกเปลือกตาล่างของวู้ดดี้ให้ต่ำแบบนั้นเพราะเราไม่ทำอย่างนั้นกับวู้ดดี้’ น่ะครับ” อังค์ริชเล่า “เรามักจะเช็คอยู่บ่อยๆ เพื่อทำให้แน่ใจว่าตัวละครเหล่านี้จะให้ความรู้สึกเหมือนอย่างที่เราจำได้”
โพเดสตาเล่าว่า “ผมเป็นอนิเมเตอร์คนแรกในหนังเรื่องนี้ และผมก็รู้สึกว่าตัวเองเหมือนนักโบราณคดี ที่เราต้องขุดลึกลงไปเพื่อศึกษาว่า อารยธรรมนี้มีความเป็นมายังไง และทำไมอนิเมเตอร์ดั้งเดิมถึงได้ทำในสิ่งที่พวกเขาทำ เราได้มองลึกลงไปเพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไมตัวละครถึงทำตัวแบบนั้นในตอนนั้น และผสมมันเข้ากับเทคโนโลยีแบบ ‘เราสามารถทำได้ทุกอย่าง’ ในปัจจุบันนี้ ผมรู้สึกว่า ทางเลือกที่ทีมงานอนิเมชันของเราตัดสินใจลงไปจะต้องสอดคล้องกับความตั้งใจดั้งเดิมแต่แรกเริ่ม ผมสัมภาษณ์จอห์น แลสซีเตอร์, พีท ด็อคเตอร์, ดั๊ก สวีทแลนด์, ดีแลน บราวน์และแองกัส แม็คเลน เพื่อให้พวกเขาเล่าให้ผมฟังว่า พวกเขาคิดยังไงกับตัวละครเหล่านี้ จากจุดยืนด้านอนิเมชันน่ะครับ”
“เราพบว่าความเรียบง่ายของตัวละครช่วยเสริมสร้างเสน่ห์ให้กับพวกเขาได้มากจริงๆ ครับ” โพเดสตากล่าวต่อ “ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะการสร้างและเคลื่อนไหวของโมเดล และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากสไตล์อนิเมชัน อนิเมเตอร์ในสองภาคแรกทำผลงานได้อย่างน่าทึ่งด้วยการควบคุมเพียงน้อยนิด สิ่งที่พวกเขาทำงดงามมากและเทียบเท่ากับทุกสิ่งที่เราทำในทุกวันนี้ ในฐานะอนิเมเตอร์ เราพยายามจะใช้ทางเลือกที่สอดคล้องกับความเรียบง่ายที่นำมาสู่อนิเมชันที่ยอดเยี่ยมที่สุดจากสองภาคแรกครับ”
“คุณจะต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ตัวละครมากขึ้นค่ะ” อนิเมเตอร์ เจมี แลนเดสกล่าว “ฉันเคยชินกับการใช้การควบคุมและเครื่องมือเป็นทางลัดและสร้างภาพมายาขึ้น แต่กับตัวละครของ ‘Toy Story’ แล้ว พวกเขามีความเรียบง่าย และมีชีวิตอยู่ในความคิดของผู้ชมอยู่แล้ว คุณไม่สามารถสร้างพวกเขาให้ซับซ้อนเกินไปเพราะผู้ชมก็จะเห็นได้ในทันที ฉันก็เลยมักต้องลดทอนอนิเมชันของผมและถอดเอาสิ่งต่างๆ ออกไปในตอนที่ฉันรู้สึกตัวว่าฉันทำอะไรเกินไปน่ะค่ะ”
“หนังหลายๆ เรื่องของเราประสบความสำเร็จก็เพราะเราได้สร้างสายใยด้านอารมณ์ที่ผู้ชมเข้าถึงได้” ซูเปอร์ไวซิง อนิเมเตอร์ ไมเคิล เวนทูรินี กล่าว “มันเป็นเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการป้อนไอเดียเข้าไปในความคิดผู้ชมและการปล่อยให้พวกเขาสะท้อนความสัมพันธ์ของพวกเขาเองกับเรื่องราวลงไปในตัวละคร ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ตอนที่เราเก็บงำอะไรบางอย่างไว้ เราได้ให้ข้อมูลพวกเขาเพียงพอที่จะเซ็ทเรื่องราว แต่ทิ้งช่องว่างไว้มากพอที่พวกเขาจะใส่เอาความรู้สึกของตัวเองเข้าไปในนั้นได้ ตอนนั้นเองที่เรื่องจะสะเทือนอารมณ์จริงๆ และผมก็คิดว่า มันทำให้หนังของเรากระทบใจผู้ชมลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราพัฒนาความสัมพันธ์นั้นกับผู้ชมครับ”
เนื่องจากมีตัวละครหน้าใหม่เข้ามาจำนวนมาก ทีมอนิเมเตอร์ก็ต้องเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวและอากัปกิริยาของตัวละครมากมาย “เป้าหมายของเราสำหรับตัวละครใหม่คือพยายามจะปูพื้นว่าพวกเขาเป็นใครและมีภาษาร่างกายเฉพาะตัวอย่างไร เราปล่อยให้ตัวละครผลักดันตัวเองว่าพวกเขาอาจจะหรืออาจจะไม่เคลื่อนไหวหรือแสดงออกอย่างไรน่ะครับ” โพเดสตาอธิบาย “ในฐานะอนิเมเตอร์ เราเริ่มสร้างข้อมูลขึ้นมาและทำการค้นคว้า เหมือนกับพวกนักแสดงน่ะแหละครับ เราอยากให้ตัวละครมีภูมิหลัง เพื่อที่จะให้ความรู้สึกว่าพวกเขามาจากสถานที่จริงที่ไหนซักแห่ง เราอยากให้พวกเขาน่าเชื่อน่ะครับ”
ล็อทโซ ซึ่งเป็นตุ๊กตาขนตัวใหญ่ตัวแรกของพิกซาร์ กลายเป็นความท้าทายรูปแบบใหม่สำหรับทีมงานฝ่ายเทคนิคและอนิเมเตอร์ “เราไม่เคยเจอกับของเล่นที่เป็นขนมาก่อน” ผู้ออกแบบงานสร้าง บ็อบ พอลลีย์ กล่าว “ตามประวัติศาสตร์แล้ว ของเล่นพลาสติกแข็งๆ จะสร้างได้ง่าย และไม่ท้าทายเท่าไหร่ ด้วยเครื่องมือที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เราสามารถสร้างตุ๊กตาขนสวยๆ ได้ เรามีของเล่นจริงๆ บางอย่างที่สร้างจากแบบดีไซน์ล็อทโซของเราด้วยซ้ำไป เราศึกษาว่าตุ๊กตาขนโดนบีบตัวอย่างไร รอยยับย่นขยับยังไง และตัวของเขาบิดงอยังไงได้บ้าง เราได้ศึกษาธรรมชาติของวัตถุดิบชนิดนี้ และทำการค้นคว้าว่าของเล่นชนิดนี้ขยับและทำตัวยังไง ทีมงานนำเอาตุ๊กตาสัตว์เก่าๆ ของพวกเขามา และเราก็สังเกตเห็นว่า ตุ๊กตาทุกตัวจะมีรอยพับและย่นในจุดเดียวกัน นั่นกลายเป็นโปรเจ็กต์งานวิจัยของเรา ว่าจะแสดงรอยยับย่นบนตุ๊กตาหมีของเรายังไงน่ะครับ”
“อนิเมเตอร์ เดวิด ดีวาน และทีมงานฝ่ายโมเดลตัวละครและการเคลื่อนไหว ซาจัน สกาเรีย ต้องคิดหาที่ที่จะยัดนุ่นลงไป และวิธีที่จะทำให้ล็อทโซให้ความรู้สึกเหมือนเป็นตุ๊กตาครับ” โพเดสตากล่าว “พวกเขาจะต้องคิดตัวละครที่ให้ความรู้สึกเหมือนว่าเขาไม่มีกระดูกหรือโครงสร้างภายในใดๆ พวกเขาสามารถแบบนั้นได้ด้วยการใส่เอารอยยับย่นเข้าไปขณะที่เขาขยับเพื่อทำให้คุณเชื่อว่าเขาเป็นตุ๊กตาหมีจริงๆ”
ดีวานกล่าวเสริมว่า “มันไม่ได้มีโครงสร้างมากมายอะไร ส่วนใหญ่แล้วมันจะเกิดจากการเย็บและความแข็งของสิ่งที่ยัดอยู่ด้านใน แขนของเขาจะต้องเกี่ยวพันกับท้องของเขา และขาของเขาก็จะต้องเกี่ยวพันกับอกของเขา ทุกอย่างจะต้องเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นๆ เพราะส่วนต่างๆ ของเขาถูกเย็บติดเข้าด้วยกัน ในตอนที่คุณขยับเขา สิ่งที่ยัดอยู่ด้านในก็จะไหลมาตรงข้อต่อ และพองขึ้นครับ”
สำหรับตัวละครมนุษย์ของเรื่อง พิกซาร์ได้เจอกับความท้าทายเดียวกันในการใช้ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวไปไกลตลอดสิบปีที่ผ่านมา ผสมผสานกับความต้องการให้ตัวละครเข้ากันได้กับโลกของ “Toy Story” “ลี [อังค์ริช] ต้องการให้มีความแตกต่างระหว่างของเล่นและมนุษย์มากกว่าในภาคที่แล้วครับ” ร็อบ รัส ไดเร็คติ้ง อนิเมเตอร์ เล่า “ในสองภาคแรก เป็นเรื่องยากที่จะแบ่งแยกระหว่างมนุษย์และของเล่นด้วยภาพหรือแม้แต่อารมณ์ ในหลายๆ ระดับ เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีดีๆ ที่จะสร้างมนุษย์ขึ้นมาได้ เป้าหมายของเราในหนังเรื่องนี้คือการทำให้มนุษย์มีลักษณะเหมือนคนจริงๆ มากเท่าที่เราต้องการ คำถามก็คือเราจะสร้างพวกเขาเป็นภาพล้อเลียนมากแค่ไหน”
ผู้กำกับอังค์ริชกล่าวเสริมว่า “เรื่องราวนี้ยังต้องอาศัยระดับที่แตกต่างกันในเรื่องการเคลื่อนไหวของมนุษย์ ที่เราไม่เคยพยายามมาก่อนด้วย ดังนั้น เราก็เลยจำเป็นต้องพัฒนาพวกตัวละครมนุษย์ขึ้นมาครับ”
อนิเมเตอร์หลายคนได้ใช้ลูกๆ วัยแบเบาะและวัยรุ่นของพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครมนุษย์ขึ้นมา “ผมมีลูกชายที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับบอนนี” รัสเล่า “ผมก็เลยเกิดแรงบันดาลใจท่วมท้นจากการดูเขาเดิน และผมก็เพ่งความสนใจไปที่อากัปกิริยาเล็กๆ ของเขา เด็กๆ อายุขนาดนั้นจะทำสิ่งซับซ้อนด้วยมืออย่างไม่มีเหตุผล มือของพวกเขาจะยุ่งอยู่ตลอดเวลา และมันก็เป็นแบบเดียวกันในหัวของพวกเขาด้วย มือของพวกเขาจะแอ็กทีฟแบบนั้นน่ะแหละครับ”
โลก 3D ของ “TOY STORY 3”
การใช้การเล่าเรื่อง การจัดฉากและเทคโนโลยีใหม่ๆ
ในการสร้างประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ
“Toy Story 3” ได้ยกระดับมาตรฐานสำหรับการสร้างและจัดฉายภาพยนตร์ 3D และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการเพิ่มเติมความลึกและมิติเข้าไปในเรื่อง สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ทีมงานพิกซาร์ได้ขัดเกลาและบุกเบิกความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี 3D ล่าสุด เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาด้วยภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ ผู้กำกับลี อังค์ริชกล่าวว่า แม้ว่า 3D จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์การชมภาพยนตร์ให้มีอรรถรสขึ้นแต่พิกซาร์ก็มักจะสอดประสานเอามิติเข้าไปในภาพยนตร์ของพวกเขาอยู่แล้ว
“เรามักจะใช้ 3D เป็นหน้าต่างไปสู่โลก เพื่อที่ผู้ชมจะสามารถสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้แบบมีมิติ” อังค์ริชบอก “เราได้จำลองและเรนเดอร์ ‘Toy Story’ และ ‘Toy Story 2’ ใหม่เป็น 3D และแม้ว่าทั้งสองเรื่องจะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็น 3D แต่มันก็ให้ความรู้สึกแบบนั้น ซึ่งเรื่องนั้นก็เป็นเพราะเราได้จัดองค์ประกอบความลึกภายในภาพ 2D ของเราอยู่ก่อนแล้ว สำหรับ ‘Toy Story 3’ เป้าหมายของผมคือการบอกเล่าเรื่องราวที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และเซ็ทแอ็กชันให้โลดแล่นเคลื่อนไหวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย”
หนึ่งในความท้าทายชิ้นใหญ่ที่สุดของเรื่องคือการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกคอมพิวเตอร์ อนิเมชันตลอดกว่า 15 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งเป็นเวลาที่ “Toy Story” เข้าฉาย) พร้อมๆ กับรักษาลุคและเสน่ห์ของภาพยนตร์ภาคแรกเอาไว้ ผู้ออกแบบงานสร้าง บ็อบ พอลลีย์อธิบายว่า “ตัวละครทุกตัวจะต้องถูกสร้างขึ้นใหม่ เทคโนโลยีนั้นเก่ามากจนเราไม่สามารถขุดมันมาใช้ในหนังเรื่องนี้ได้ การสร้างตัวละครเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ต้องอาศัยความอุตสาหะมากทีเดียว เราได้แยกย่อยหนังสองภาคแรกออกเพื่อหาแก่นแท้ของ ‘Toy Story’ มันมีภาษาด้านดีไซน์และความเรียบง่ายแบบละเอียดอ่อนที่เราไม่อยากจะเสียมันไปครับ”
อังค์ริชกล่าวเสริมว่า “เราเจอความท้าทายน่าสนใจใน ‘Toy Story 3’ เพราะเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นมาเยอะทีเดียวนับตั้งแต่ ‘Toy Story 2’ นอกเหนือจากนั้น ระดับความสามารถของทีมงานที่สตูดิโอก็เพิ่มขึ้นมากด้วย ตอนนี้ หนังที่เราสร้างมีภาพที่สวยสดงดงามจริงๆ ผมไม่อยากให้ ‘Toy Story 3’ ให้ความรู้สึกว่ามันเป็นโลกที่ถูกดีไซน์มาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันยังคงเป็น ‘Toy Story’ อยู่ก็จริง แต่ผมก็อยากจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและฝีมือที่เรามีอยู่ในขณะนี้ ผมเชื่อว่าเราได้สร้างหนังที่จะเข้ากันได้ดีกับสองภาคแรก แต่ก็ดูดีกว่าเยอะในหลายๆ ทางขึ้นมาครับ”
อย่างที่จอห์น แลสซีเตอร์อธิบายว่า “ตั้งแต่เริ่มต้น ผมรู้ว่าโลกในคอมพิวเตอร์เป็นสามมิติจริงๆ และมันก็ดูเหมือนสิ่งที่ตัววอลท์ ดิสนีย์เองน่าจะชอบ เพราะเขามักจะไขว่คว้าที่จะใส่มิติลงไปในอนิเมชันของเขามากขึ้นอยู่เสมอ และตอนนี้ด้วยเทคโนโลยี 3D และความก้าวหน้าล่าสุดในด้านการฉายหนัง เราก็สามารถมอบประสบการณ์ที่มหัศจรรย์ให้กับผู้ชมได้ มันเหมือนกับว่าเราทำหนัง 3D มาโดยตลอด แต่ผู้ชมมองไม่เห็นมันจนกระทั่งบัดนี้ มันเหมือนกับการได้ดูหนังโดยปิดตาข้างหนึ่งไว้ เมื่อปีที่แล้ว เราได้แนะนำเวอร์ชัน 3D ของ ‘Toy Story’ และ ‘Toy Story 2’ และมันก็เหมือนกับเราสร้างหนังสองเรื่องนั้นในรูปแบบ 3D เลย การจัดวางองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ความรู้และประสบการณ์ในการสร้างหนังไลฟ์แอ็กชันของลีทำให้ ‘Toy Story 3’ เป็นประสบการณ์ 3D ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลยล่ะครับ”
อังค์ริชเปรียบเทียบการดู “Toy Story 3” ในรูปแบบ 3D กับประสบการณ์ที่ผู้ชมได้มองผ่านช่องกล้องดูฟิล์มสไลด์ว่า “มันเป็นวิธีที่มองลอดหน้าต่างหรือเป็นทางเข้าไปในโลกใบนี้และมองเห็นทุกอย่างเป็นมิติ” เขากล่าว “3D เป็นเหมือนไอซิ่งบนเค้ก และมันก็ทำให้หนังเรื่องนี้ดูเจ๋งขึ้นเยอะเลยครับ”
สิ่งหนึ่งที่ทำให้การได้ดู “Toy Story 3” ใน 3D เป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าพึงพอใจขนาดนี้คือความจริงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในสเกลของของเล่น ไม่ใช่สเกลของมนุษย์ “เราอยู่ในโลกที่วัตถุของมนุษย์ เช่นโต๊ะ เก้าอี้ และของเล่นจะใหญ่เกินจริงเยอะ” อังค์ริชกล่าว “3D ได้ช่วยตอกย้ำภาพมายาของการถูกนำตัวเข้าสู่โลกที่ซ่อนเร้นของของเล่นน่ะครับ”
ผู้ที่ทำการดูแลมุมมมองเทคนิค 3D คือบ็อบ ไวท์ฮิล ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายสเตอริโอสโคปิค “ในงานของเราใน ‘Toy Story’ สองภาคแรก เราได้พบภาษาภาพ 3D จริงๆ ครับ” ไวท์ฮิลกล่าว “เราได้เรียนรู้ว่า 3D เป็นเรื่องของการแยกกล้องระหว่างตาซ้ายและตาขวา และด้วยความที่เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกของเล่น จริงๆ แล้ว การแบ่งแยกระหว่างตาทั้งสองข้างค่อนข้างจะเล็กจริงๆ และเพราะเราอยากจะมองเห็นโลกใบนี้ผ่านสเกลของเล่น ผ่านสเกลของวู้ดดี้ เราก็เลยเรียนรู้ที่จะกำหนดระยะห่างระหว่างกล้องตาซ้ายและกล้องทางขวา โดยอ้างอิงจากขนาดของวู้ดดี้ แล้วพอเราเดินทางมาถึง ‘Toy Story 3’ มันก็เลยเป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่จะสร้างความรู้สึกเรื่องสเกลนั้นขึ้นมาอีก ยกตัวอย่างเช่น ใน ‘Up’ ค่าเริ่มต้นสำหรับการแยกระยะกล้องจะอยู่ที่ 2.25 นิ้ว ในขณะที่ใน ‘Toy Story’ ระยะห่างจะอยู่ที่ 1/3 นิ้ว มันสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนในการเข้าไปในมุมมองของของเล่นและให้ความรู้สึกด้านสเกลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น”
“ในฐานะสตูดิโอ เรายังคงโฟกัสไปที่การบอกเล่าเรื่องราวที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้อยู่ครับ” ไวท์ฮิลกล่าวต่อ “ลี [อังค์ริช] และทีมงานของเขาทำให้เราดูเหมือนอัจฉริยะด้าน 3D เพราะภาพออกมาสวยเหลือเกิน ภาพ 3D พวกนั้นให้ความรู้สึกสมจริงและเป็นธรรมชาติมากๆ ในหลายๆ แง่มุม มันเหมือนเวทีละครที่คุณมองเข้าไปในโลกใบนี้ ใน ‘Toy Story 3’ กลุ่ม 3D ได้เรียนรู้ที่จะผลักดันสิ่งต่างๆ มากขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่มากจนถึงขั้นที่ผู้ชมจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน พวกเขาจะได้สัมผัสกับมิติที่มากขึ้นและความลึกที่มากขึ้น แต่มันถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่สวยงามจนมันให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติและเรียบง่ายมากๆ ตอนที่ผมได้ดูหนังเรื่องใน 3D ผมรู้สึกเหมือนผมอินมากขึ้น มันน่าติดตามและสมจริงยิ่งขึ้น”
ไวท์ฮิลยืนยันว่าหนึ่งในสิ่งที่เขาชอบมากที่สุดใน “Toy Story 3” คือการให้แสง “มันสวยครับ” เขากล่าว “แล้วการกระจายแสงตามพื้นผิวและในอาการในแต่ละช็อตจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกด้านสเกลได้มากขึ้น หลายๆ ช็อตเป็นงานกล้องที่วางตำแหน่งได้ดีเหลือเกิน ทั้งในเรื่องของแสงและการบล็อค จนคุณจะรู้สึกเหมือนว่าตัวคุณได้เคลื่อนไหวอย่างพลิ้วไหวอยู่ในโลกใบนี้จริงๆ มันเกือบเหมือนการเต้นรำที่คุณจะมีทั้งกล้องเลย์เอาท์ มีอนิเมชันเยี่ยมๆ มีการลำดับภาพเยี่ยมๆ และแสงสวยๆ แบบนี้ และองค์ประกอบทั้งสี่อย่างก็ผสมผสานรวมกันอยู่ในการเคลื่อนไหวกล้องและแอ็กชันที่งดงามนั้น เมื่อเป็น 3D แล้ว มันให้ความรู้สึกที่ชัดเจน เป็นมิติและสมจริงเหลือเกินครับ”
ไวท์ฮิลและทีมงานของเขาได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอังค์ริชและเจเรมี แลสกี้ ผู้กำกับภาพฝ่ายกล้องของเรื่อง รวมทั้งแผนกอื่นๆ เพื่อคิดหาวิธีว่า 3D จะช่วยเล่าเรื่องได้ดีที่สุดได้อย่างไร พวกเขาได้สร้างกราฟแท่งสเกลศูนย์ถึงสิบขึ้นมา เพื่อบ่งบอกว่าจะต้องเพิ่มความลึกเข้าไปในแต่ละซีนมากแค่ไหน ในกรณีของฉากหลบหนีทางอากาศที่เสี่ยงตายจากสถานรับเลี้ยงเด็กของวู้ดดี้ ไวท์ฮิลก็ให้ทีมผู้สร้างเพิ่มเฟรมเข้าไปในช็อตมากขึ้นเพราะมันเป็นประสบการณ์ 3D ที่คุ้มค่า ซีนอย่างเช่นซีเควนซ์เปิดเรื่องที่เป็นฉากเวสเทิร์นในจินตนาการใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์ 3D อย่างสูงสุด และมีสเกลอยู่ที่ระดับ 8 ในกราฟ สำหรับฉากสุดท้ายสุดเจ๋งของเรื่อง ทีมผู้สร้างได้เร่งระดับ 3D เข้าไปเต็มที่เพื่อเสริมสร้างความตื่นเต้น “ผมก็แค่หวังว่าในตอนที่ผู้ชมเดินออกจากโรงหนัง” ไวท์ฮิลสรุป “พวกเขาจะมีความคิดว่า ‘ว้าว มันเป็นประสบการณ์การดูหนังที่มหัศจรรย์จริงๆ เราได้หัวเราะ ร้องไห้ กลัวและประทับใจ’ และบางที พอพวกเขาเดินถึงรถ พวกเขาจะคิดว่า ‘แล้ว 3D นั่นอีกล่ะ!’ น่ะครับ”
แง่มุมด้านการถ่ายทำของ “Toy Story 3”
ผู้กำกับลี อังค์ริชและทีมงานพิกซาร์ ผลักดันขอบเขตสื่อภาพยนตร์
ด้วยการถ่ายทำ การลำดับภาพและการให้แสง
ด้วยการถือกำเนิดของ “Toy Story” เมื่อ 15 ปีก่อน พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับภาพยนตร์อนิเมชัน ไม่เพียงแต่ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์อย่างน่าทึ่ง แต่ยังด้วยการนำเทคนิคการสร้างภาพยนตร์แบบดั้งเดิมมาใช้กับสื่อชนิดนี้ด้วย ด้วยจอห์น แลสซีเตอร์นั่งตำแหน่งผู้กำกับและลี อังค์ริช หน้าใหม่ในวงการอนิเมชันในตำแหน่งลำดับภาพ ภาพยนตร์ปี 1995 เรื่องนี้ก็ได้รับการยกย่องจากการเล่าเรื่องและความซับซ้อนด้านภาพยนตร์ที่น่าทึ่งของมัน ในผลงานเก้าเรื่องหลังจากนั้น พิกซาร์ก็ขยายขอบเขตขีดจำกัดของศิลปะรูปแบบนี้ออกไปเรื่อยๆ สำหรับ “Toy Story 3” อังค์ริชได้ใช้กุญแจไขรถ เพื่อขับพาภาพยนตร์เรื่องนี้ไปสู่มิติใหม่ที่น่าตื่นเต้นในฐานะผู้กำกับ
“กับ ‘Toy Story’ เราได้บุกเบิกความคิดของการใช้โครงสร้างหนังแบบดั้งเดิมเพื่อสร้างหนังอนิเมชันขึ้นมาครับ” อังค์ริชกล่าว “และนั่นคือสิ่งที่ทุกคนทำในตอนนี้ ผมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบงานกล้อง และแน่นอนว่ารวมถึงการลำดับภาพของภาคแรกและภาคสองด้วย ดังนั้นมันก็เลยมีเรื่องของความต่อเนื่องที่ไปสู่ภาคสาม จากมุมมองด้านการถ่ายทำแล้ว เราเจอกับความท้าทายที่น่าสนใจใน ‘Toy Story 3’ เพราะเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นอีกนับตั้งแต่ ‘Toy Story 2’ และทีมงานที่สตูดิโอก็เก่งขึ้นมา ตอนนี้ ถ้าคุณกลับไปดู ‘Toy Story’ คุณจะรู้สึกว่ามันค่อนข้างหยาบ เพราะมันเป็นหนัง CG เรื่องแรก และเราก็พัฒนาขึ้นมากในเรื่องของการใช้ความลึกและการให้แสงที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อช่วยในการเล่าเรื่องราวของเรา สำหรับ ‘Toy Story 3’ ผมไม่อยากให้หนังมีความรู้สึกเหมือนมันมาจากโลกการดีไซน์ที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เรายังอยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือน ‘Toy Story’ อยู่ แต่เราก็อยากจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและฝีมือในแบบที่เราทำได้ในตอนนี้ ผมเชื่อว่าเราได้สร้างหนังที่เข้ากับสองภาคแรกได้อย่างพอเหมาะ แต่ก็ดูดีกว่าในหลายๆ ทาง”
“การให้แสงในเรื่องนี้สวยมาก และการให้เงาและพื้นผิวก็ซับซ้อนขึ้นเยอะด้วย” อังค์ริชกล่าวต่อ “สำหรับผมแล้ว การลำดับภาพเป็นเรื่องของการเล่าเรื่องราวให้ออกมาดีที่สุดเสมอ ในเรื่องของสไตล์แล้ว เราอยากจะทำให้หนังเรื่องนี้มีลักษณะเดียวกับ as ‘Toy Story’ และ ‘Toy Story 2’ ให้มากที่สุด และท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญก็คือการทำให้โลกใบนี้ให้ความรู้สึกที่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรากำลังบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์ แต่จากมุมมองของของเล่นน่ะครับ”
ในฐานะผู้กำกับภาพฝ่ายกล้อง เจเรมี แลสกี้ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอังค์ริชในเรื่องการบล็อคและการเซ็ทช็อต “เราพยายามจะกำหนดกล้องของเราตามสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคยในการดูหนังครับ” แลสกี้กล่าว “นี่ไม่ใช่วิดีโอเกม แต่เป็นเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ก็จะต้องให้ความรู้สึกที่น่าเชื่อ คุณจะต้องรู้สึกเหมือนกับว่าคุณอยู่ในโลกใบนี้ และทุกอย่างเมคเซนส์ คุณอยากจะโฟกัสไปที่เรื่องราว ไม่ใช่สิ่งที่กล้องกำลังทำ คุณอยากจะอินไปกับตัวละครและความรู้สึกของพวกเขาครับ”
“กล้องของเราเคลื่อนไหวในลักษณะที่งดงามและสมจริงมากขึ้น เราก็เลยสามารถใส่ลูกเล่นเข้าไปในตอนที่เรานึกถึงซีนบางซีนได้” แลสกี้กล่าวต่อ “เราเชี่ยวชาญช็อตแฮนด์เฮลด์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน และมิติของสิ่งต่างๆ ก็ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย เราได้ใช้มันมากกว่าในสองภาคแรกก็จริง แต่เราก็ยั้งๆ มันไว้บ้างเพื่อทำให้มันอยู่ในโลกเดียวกับภาคก่อนหน้านี้ครับ”
ลุคของ “Toy Story”
การออกแบบงานสร้าง ออกแบบตัวละครและการกำกับศิลป์
หน้าที่ส่วนหนึ่งของผู้ออกแบบงานสร้างบ็อบ พอลลีย์ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาที่พิกซาร์คือการเล่นกับของเล่นและคิดหาคำตอบว่าอะไรที่ทำให้มันร้อง ส่งเสียงหรือพูด พอลลีย์ ผู้เคยรับหน้าที่ผู้ออกแบบตัวละครของบัซ ไลท์เยียร์ใน “Toy Story” เป็นผู้นำของทีมงาน “Toy Story 3” ที่ออกแบบของเล่นและตัวละครมนุษย์ของเรื่อง และเขาก็ได้สร้างสไตล์และลุคของฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากขึ้นมา
“เราได้ทำการค้นคว้ามากมายสำหรับหนังเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงการไปร้านขายของเล่นและสถานรับเลี้ยงเด็กหลายแห่ง” พอลลีย์เล่า “แล้วเรายังไปที่อัลคาทราซ เพื่อซึมซับความรู้สึกของชีวิตในคุกด้วย แล้วเราก็ไปยังลานฝังขยะขนราดใหญ่ ที่มีเตาเผาขนาดยักษ์ เพื่อเก็บข้อมูลอ้างอิงด้านภาพสำหรับตอนไคลแม็กซ์ของเรื่อง ทีมผู้สร้างใน ‘Ratatouille’ เดินทางกันไปถึงปารีสและได้กินอาหารจากร้านอาหารฝรั่งเศสสุดหรูหลายแห่ง ส่วนทีมงาน ‘Up’ ก็ได้เดินทางไปถึงเทือกเขาเทปุยในเวเนซุเอลา แต่ตอนที่เรากลับมาจากทริปสำรวจของเรา สิ่งที่เราอยากทำมีเพียงแค่การอาบน้ำครับ”
“สำหรับ ‘Toy Story’ เราพยายามที่จะสร้างโลกที่น่าเชื่อ แต่ไม่ได้เป็นโลกจริงๆ ขึ้นมาโดยตลอด” เขากล่าวต่อ “เราไม่ได้พยายามจะจำลองโลกที่เราอาศัยอยู่ แต่โลกที่เราสร้างขึ้นจะให้ความรู้สึกแบบการ์ตูนที่ทุกอย่างจะหนาขึ้น ตัวป้อมขึ้นนิดหน่อย เราพยายามจะสร้างรูปทรงที่น่าสนใจขึ้นมา เราได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่าย แต่เราไม่ได้ก็อปปี้มัน แม้แต่เมื่อคุณดูสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างสวิทช์ไฟ มันก็จะโค้งนิดๆ อ้วนหน่อยๆ เราพยายามจะสร้างรูปทรงที่น่ารัก ที่ให้ความรู้สึกแบบการ์ตูนวาดด้วยมือมากขึ้นน่ะครับ พื้นผิวมันไม่ใช่ของจริงก็จริง แต่มันก็ซื่อตรงต่อวัตถุดิบจากที่มันถูกสร้างขึ้น ตั้งแต่เริ่มแรก จอห์น [แลสซีเตอร์] ยืนยันให้ใช้ ‘ความจริงในวัตถุดิบ’ ในการออกแบบตัวละครของเล่นและฉากครับ”
ในเรื่องของตัวละครมนุษย์ แอนดี้เป็นหนึ่งในความท้าทายชิ้นใหญ่ที่สุดของเรื่อง ผู้ชมเติบโตมากับตัวละครตัวนี้ และรูปร่างหน้าตาของเขาก็มีความสำคัญต่อทีมผู้สร้างเป็นพิเศษ “ในแง่ของพัฒนาการแล้ว เราต้องทำความเข้าใจว่าแอนดี้คือใคร เขาเติบโตขึ้นมาอย่างไร และตอนนี้ที่เขาเป็นวัยรุ่นแล้ว เขาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร” พอลลีย์กล่าว “เราหยิบเอาภาพเก่าๆ ของตัวละครตัวนี้มาดู และเราก็ศึกษาโมเดลเก่าๆ ของแอนดี้ที่เรามี เราดูภาพวาดและภาพถ่ายเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิง แต่สิ่งที่ช่วยเราได้มากที่สุดคือภาพถ่ายครอบครัวที่จอห์นให้กับเราครับ”
แลสซีเตอร์เล่าว่า “เราพยายามคิดว่าแอนดี้จะมีหน้าตาอย่างไรตอนเขาอายุ 17 ปี และกำลังจะเข้าวิทยาลัย และภรรยาผมก็ไปเจอภาพถ่ายใส่กรอบของลูกๆ ของเรา ซึ่งเป็นภาพถ่ายสมัยนักเรียนขนาด 8”x10” นิ้วของพวกเขาน่ะครับ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เธอวางรูปถ่ายล่าสุดของพวกเขาทับซ้อนบนรูปถ่ายจากสมัยเตรียมอนุบาล สมัยอนุบาล เรื่อยมาจนถึงชั้นมัธยมปลาย มันน่าทึ่งมากที่ได้เห็นว่าพวกเขาเติบโตและมีวิวัฒนาการอย่างไร พวกเขาเป็นแรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยมในการมองดูแอนดี้ แล้วพยายามคาดเดาว่า เขาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อโตเป็นวัยรุ่นน่ะครับ”
อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกปรับเปลี่ยนไปใน “Toy Story 3” คือห้องนอนของแอนดี้ ที่ซึ่งช่วงเวลาเล่นที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการสนุกสนานที่สุดเคยเกิดขึ้น “ห้องนอนของแอนดี้เปลี่ยนแปลงไปมากตลอดทั้งสามภาค” พอลลีย์เล่า “ในภาคแรก ห้องของเขามีเมฆอยู่ตามผนัง มาใน ‘Toy Story 2’ ห้องของเขาถูกประดับประดาไปด้วยดวงดาว แต่ตอนนี้ เขาไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้ว โปสเตอร์และข้าวของอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้ใหญ่ถึงได้มาบดบังและทับซ้อนดวงดาวเหล่านั้น มันมีกระดานที่ไว้แปะคูปองสำหรับพิซซา แพลเน็ต และข้อมูลจากค่ายของเขาที่เวสเทิร์น คาวบอย แรนช์ เราพยายามจะกำหนดนิสัยของเขาให้เป็นคนไม่มีระเบียบครับ”
แรนดี้ นิวแมน หวนคืนสู่กล่องของเล่น
ทีมผู้สร้างได้ทาบทามคอมโพสเซอร์เจ้าของรางวัลออสการ์อีกครั้ง
หนึ่งในองค์ประกอบที่โดดเด่นที่สุดของ “Toy Story” ที่ผ่านมาคือดนตรีประกอบที่ไพเราะและการใช้เพลงอย่างแปลกใหม่ของมัน ทุกอย่างนี้เกิดขึ้นได้เพราะคอมโพสเซอร์/นักแต่งเพลง แรนดี้ นิวแมน เจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ผู้ร่วมงานกับพิกซาร์มาหลายครั้งแล้ว นิวแมนได้แต่งเพลงและร้องเพลงสำคัญ “You’ve Got a Friend in Me” (ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ร่วมกับดนตรีประกอบ) ในภาคแรก (ร่วมกับเพลงอื่นๆ อีกหลายเพลง) และแต่งดนตรีประกอบและบัลลาดน่าประทับใจ “When She Loved Me” (เพลงที่ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ ซึ่งขับร้องโดยซาราห์ แม็คลัคแลน) ใน “Toy Story 2” และใน “Toy Story 3” เขาก็ได้นำรูปแบบทางดนตรีใหม่ๆ เข้ามาด้วยเวอร์ชันใหม่ สไตล์เฉียบของเพลง “You’ve Got a Friend in Me” ที่ได้กลิ่นไอสเปนจากศิลปินชื่อดังระดับโลก ยิปซี คิงส์
“You’ve Got a Friend in Me” เวอร์ชันโฉ่งฉ่าง ครื้นเครง ถูกบันทึกเสียงโดยยิปซี คิงส์ในกรุงลอนดอน ที่สตูดิโอแอ็บบี้ย์ โร้ด อันโด่งดัง เพลง “You’ve Got a Friend in Me (Para Buzz Espa?ol)” เวอร์ชันสเปนนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับความตื่นเต้นและแอ็กชันบนหน้าจอ ซึ่งเป็นการแดนซ์ลาตินแบบสุดพิเศษระหว่างบัซและเจสซี ซึ่งออกแบบท่าเต้นโดยเชอริล บูร์เก้และโทนี โดโวลานี จากซีรีส์ยอดนิยมทางเอบีซี “Dancing with the Stars”
ผู้อำนวยการสร้างดาร์ลา เค. แอนเดอร์สันกล่าวว่า “ทั้งเชอริลและโทนีต่างก็เป็นแฟนผลงานของพิกซาร์ และพวกเขาก็ตื่นเต้นที่ได้ออกแบบท่าเต้นที่จะอยู่ในหนังของเรา พวกเขาใช้เวลาอยู่นานในการคิดท่าเต้นที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อน พวกเขาทั้งคู่ต่างก็เป็นแชมเปี้ยนโลก และพวกเขาก็ได้คิดท่าเต้นสุดอะเมซซิ่งที่พวกเขาไม่เคยลองมาก่อนได้ด้วยล่ะค่ะ”
นอกเหนือจากเพลงเอกของเขาแล้ว นิวแมนยังได้นำเสนอทั้งดนตรีประกอบที่ปลุกเร้าอารมณ์และได้สร้างช่วงเวลาที่ประทับใจในเสียงเพลงอีกครั้งด้วยเพลงใหม่ “We Belong Together” ใน “Toy Story 3”
“ตอนที่ผมทำงานใน ‘Toy Story’ ภาคแรก ผมก็รู้ว่ามันเป็นหนังที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยทำงานมา” นิวแมนเล่า “และมันก็เป็นจริงสำหรับหนังทุกเรื่องที่ผมร่วมงานกับพิกซาร์ พวกเขาสร้างหนังที่ยอดเยี่ยมจริงๆ และผมก็คิดไม่ออกว่าจะมีสตูดิโอไหนอีกที่มีหนังฮิตสิบเรื่องติดต่อกัน มันไม่มีเลยนะครับ พิกซาร์คู่ควรกับความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพราะพวกเขาสร้างหนังที่ดีกว่าคนอื่นๆ โดยทั่วไป”
เช่นเดียวกับในภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขา หน้าที่ของนิวแมนคือการช่วยทีมผู้สร้างในการบอกเล่าเรื่องราว “ตอนที่ผมเขียนเพลง ‘You’ve Got a Friend in Me’ ขึ้นครั้งแรก” นิวแมนเล่า “ผมก็แค่เน้นย้ำสิ่งที่พวกเขาบอกผมว่าเป็นไอเดียสำคัญของหนัง นั่นคือคุณค่าของมิตรภาพ และธรรมชาติที่พิเศษสุดของความสัมพันธ์ระหว่างแอนดี้และวู้ดดี้ และใน ‘Toy Story 3’ พวกเขาก็ได้สำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์นั้นมาถึงจุดสิ้นสุด ไอเดียนี้ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยเจสซีใน ‘Toy Story 2’ ธรรมชาติของการแต่งคำร้องคือมันจะต้องเข้มข้น คุณจะต้องพูดในสิ่งที่คุณต้องพูดในระยะเวลาที่สั้นมากๆ”
“การแต่งดนตรีประกอบให้กับหนังอนิเมชันแบบนี้ต้องอาศัยความอึดมากกว่าการแต่งดนตรีให้กับหนังไลฟ์แอ็กชันอีกครับ” นิวแมนกล่าวเสริม “มันมีดนตรีเยอะกว่า และเป็นดนตรีที่มีตัวโน้ตเยอะด้วย ในตอนที่ตัวละครวิ่ง คุณต้องวิ่งไปกับพวกเขาด้วย ทีมผู้สร้างที่พิกซาร์เป็นกลุ่มคนที่ดีจริงๆ และผมก็ถือว่าตัวเองโชคดีที่ได้มาร่วมงานนี้”
อังค์ริชตั้งข้อสังเกตว่า “เรามีความหลังกับแรนดี้มานานแล้วครับ และมันก็เยี่ยมจริงๆ ที่ได้ยินดนตรีใหม่ๆ จากโลก ‘Toy Story’ มันน่าตื่นเต้นมากๆ ที่ได้ดูวงออร์เคสตรา ได้ยินเสียงตัวโน้ตตัวแรกของดนตรีใหม่สำหรับ ‘Toy Story’ เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี สำหรับ ‘Toy Story 3’ ได้ใช้ธีมเดิมๆ ที่คุ้นเคยบางเพลง แต่เขาก็ได้แต่งดนตรีใหม่ๆ ที่เหลือเชื่อขึ้นหลายเพลงเหมือนกัน เราได้กำหนดให้ล็อทโซเป็นเหมือนสุภาพบุรุษแดนใต้ ที่มีสำเนียงนิวออร์ลีนส์ แรนดี้ได้แต่งเพลงธีมให้กับเขา ด้วยการใช้แอคคอร์เดียนกับฮาร์มอนิก้า ซึ่งเข้ากันได้ดีกับนิสัยที่ซับซ้อนของเขาครับ”
ทีมผู้สร้างและนิวแมนได้พัฒนากระบวนการร่วมมือกันที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าจดจำในที่สุดขึ้นมา “ดนตรีของแรนดี้มีความสมบูรณ์และให้ความรู้สึกของดรามา ที่เติมเต็มช่วงอารมณ์ที่สะเทือนอารมณ์และมืดหม่นกว่าของเรื่องได้เป็นอย่างดี” อังค์ริชกล่าว “เขาเป็นเพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยม เราได้นั่งลงดูหนังทั้งเรื่องด้วยกัน และคุยกันเป็นซีนๆ ไป เราได้เล่นดนตรีชั่วคราวที่ผมตัดไว้ และคุยกันว่าทำไมผมถึงใช้ดนตรีรูปแบบนั้นๆ แน่นอนว่าแรนดี้เองก็มาพร้อมกับไอเดียของเขาเองว่าจะทำให้ช่วงเวลาบางช่วงถูกนำเสนอออกมาอย่างดีที่สุดอย่างไร เราคุยกันว่าตรงไหนถึงควรจะมีหรือไม่มีดนตรี และควรจะเป็นดนตรีแบบไหน แล้วเขาก็ไปต่อยอดเอาเอง และเริ่มแต่งเพลงขึ้นมาครับ”
ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Toy Story 3” ของนิวแมนมีสโคปที่กว้างกว่าและหลากหลายกว่าผลงานของเขาในภาคที่แล้วๆ มา ตั้งแต่ดนตรีเวสเทิร์นคลาสสิกที่ใช้ในซีเควนซ์เปิดเรื่อง ไปจนถึงดนตรีดรามาที่ขับเน้นไคลแม็กซ์ที่อัดแน่นไปด้วยแอ็กชันของเรื่อง และเพลงเอนด์เครดิตใหม่ “We Belong Together” คอมโพสเซอร์ผู้นี้สามารถสำรวจทิศทางต่างๆ ที่แตกต่างกันได้มากมาย “หนึ่งในความโดดเด่นของ ‘Toy Story’ คือการที่เรามีเพลงในนั้นครับ” อังค์ริชกล่าว “มันเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมและเอกลักษณ์สำคัญของซีรีส์นี้ สำหรับ ‘Toy Story 3’ เราอยากให้ผู้ชมเดินออกจากโรงหนังไปด้วยความรู้สึกร่าเริง เป็นสุข เราก็เลยขอให้แรนดี้เขียนเพลงใหม่สำหรับเอนด์เครดิตขึ้นมา ‘We Belong Together’ พูดถึงธีมหลายๆ อย่างในหนังเรื่องนี้ มันเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง การก้าวเดินไปข้างหน้า และความหมายจริงๆ ของการได้อยู่กับใครซักคน ไม่ว่าคุณจะต้องตัวติดกับเขาเพื่อสร้างความผูกพันนั้นรึเปล่าก็ตาม นอกจากนั้นแล้ว มันยังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผมที่แรนดี้จะต้องร้องเพลงนี้ เพราะเสียงร้องของเขาเป็นส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อ DNA ของ ‘Toy Story’ และแรนดี้ก็ทำหน้าที่ของเขาได้น่าทึ่งเหมือนเคยครับ”
แอนเดอร์สันกล่าวเสริมว่า “หนังทั้งเรื่องเป็นเหมือนงานคืนสู่เหย้าของครอบครัวใหญ่ ตั้งแต่การนำทีมนักพากย์หน้าเดิมกลับมา ซึ่งรวมถึงแอนดี้ของเรา จอห์น มอร์ริส ไปจนถึงการได้ร่วมงานกับแรนดี้ นิวแมน เรารู้สึกมั่นใจอย่างเหลือล้นที่ได้รับแรงสนับสนุนมากมายขนาดนั้น และมันก็ช่วยให้เราได้งานที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง เราทุกคนต่างก็รักหนังเรื่องนี้ ทั้งในแง่ส่วนตัวและการทำงาน เช่นเดียวกับทุกคนที่พิกซาร์ และพลังงานแง่บวกพวกนั้นก็เป็นกำลังใจให้กับเราและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับกระบวนการสร้างสรรค์ ซึ่งมักจะน่าหวาดหวั่นและน่ากลัวเสมอในตอนที่คุณเริ่มต้นทำงานน่ะค่ะ”
ประวัติทีมนักพากย์
ทอม แฮงค์ (วู้ดดี้จาก “Toy Story,” “Toy Story 2”) กลายเป็นนักแสดงคนแรกในรอบ 50 ปีที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายสองปีติดต่อกันในปี 1994 ครั้งแรกจากบทของทนายความผู้เป็นโรคเอดส์ใน “Philadelphia” และในปีถัดไป ในบทนำใน “Forrest Gump” นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัลลูกโลกทองคำจากการแสดงในทั้งสองเรื่อง รวมถึงจากผลงานของเขาใน “Big” และ “Cast Away” และได้รับรางวัลจากสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอสแองเจลิสสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก “Big” และ “Punchline”
แฮงค์เกิดและเติบโตในโอ๊คแลนด์, แคลิฟอร์เนีย เขาเริ่มสนใจการแสดงตั้งแต่สมัยเรียนไฮสคูล เขาเข้าศึกษาที่ชาบ็อท คอลเลจในเฮย์เวิร์ด, แคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซาคราเมนโต ด้วยคำเชื้อเชิญจากผู้อำนวยการศิลป์ วินเซนต์ ดาวลิง แฮงค์ก็เลยได้เปิดตัวในเกรท เลคส์ เชคสเปียร์ เฟสติวัลในคลีฟแลนด์, โอไฮโอ และได้แสดงให้กับคณะละครแห่งนั้นสามซีซัน
แฮงค์ย้ายไปนิวยอร์ก ซิตี้ในปี 1978 โดยเขาได้แสดงร่วมกับคณะละครริเวอร์ไซด์ เชคสเปียร์ คัมปะนีก่อนที่เขาจะได้ร่วมงานกับปีเตอร์ สโคลารีในซีรีส์คอเมดีเอบีซีเรื่อง “Bosom Buddies” ซึ่งนำไปสู่การได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์โดยรอน โฮเวิร์ดเรื่อง “Splash” ซึ่งเป็นการร่วมงานกับผู้กำกับโฮเวิร์ดเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่นั้นมา เขาก็ได้ทำงานกับโฮเวิร์ดอีกหลายครั้ง ด้วยการรับบทจิม โลเวลล์ นักบินอวกาศใน “Apollo 13” และโรเบิร์ต แลงดอน นักประวัติศาสตร์/นักผจญภัย ครั้งแรกใน “The Da Vinci Code” ในปี 2006 และอีกครั้งใน “Angels & Demons” ในปี 2009
ในปี 1996 แฮงค์ได้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่อง “That Thing You Do!” โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาเพลงออริจินอลยอดเยี่ยม แฮงค์รับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้าง, มือเขียนบท, ผู้กำกับและนักแสดงนำภาพยนตร์เอชบีโอเรื่อง “From the Earth to the Moon” รวมภาพยนตร์ดรามา 12 ชั่วโมงที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางสู่อวกาศของยานอพอลโล และได้รับรางวัลเอ็มมี
ในปี 1998 แฮงค์ได้นำแสดงในดรามาสงครามโดยสตีเวน สปีลเบิร์กเรื่อง “Saving Private Ryan” ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่สี่ หลังจากนั้น แฮงค์ก็ได้ร่วมงานกับสปีลเบิร์กอีกหลายครั้ง ครั้งแรกในปี 2000 ในฐานะผู้ควบคุมงานสร้าง, มือเขียนบทและผู้กำกับมินิซีรีส์อีพิคเอชบีโอเรื่อง “Band of Brothers” ซึ่งควบคุมงานสร้างโดยสปีลเบิร์กและสร้างขึ้นจากหนังสือโดยสตีเฟน แอมโบรส มินิซีรีส์เรื่องนี้ได้รับรางวัลเอ็มมี อวอร์ดและรางวัลลูกโลกทองคำสาขามินิซีรีส์ยอดเยี่ยมในปี 2002 นอกจากนั้น ในปีเดียวกันนั้นเอง แฮงค์ยังได้แสดงประกบลีโอนาร์โด ดิคาปริโอในภาพยนตร์โดยสปีลเบิร์กเรื่อง “Catch Me If You Can” ที่สร้างขึ้นจากชีวิตจริงของนักต้มตุ๋น แฟรงค์ อบาเนล จูเนียร์ แฮงค์ได้แสดงประกบแคทเธอรีน ซีต้า-โจนส์ในภาพยนตร์โดยสปีลเบิร์กเรื่อง “The Terminal” ในปี 2004 และล่าสุด สปีลเบิร์กและแฮงค์ก็ได้อำนวยการสร้างมินิซีรีส์เอชบีโอเรื่อง “The Pacific” ซึ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคม ปี 2010
ในปี 2000 แฮงค์ได้กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับโรเบิร์ต ซีเมคิสและมือเขียนบทวิลเลียม บรอยเลส จูเนียร์จาก “Forrest Gump” อีกครั้งใน “Cast Away” ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์อีกครั้ง ซีเมคิสและแฮงค์ได้ร่วมงานกันอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2004 ที่แฮงค์ได้แสดงในภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากหนังสือสำหรับเด็กที่ได้รับรางวัลคัลเดอค็อทท์ เมดัลเรื่อง “The Polar Express” โดยคริส ฟาน ออลส์เบิร์ก
ในปี 2008 ภายใต้เพลย์โทน บริษัทโปรดักชันของเขา แฮงค์ได้ควบคุมงานสร้างมินิซีรีส์ชื่อดังทางเอชบีโอเรื่อง “John Adams” ที่นำแสดงโดยพอล จิอาแมตติ, ลอรา ลินนีย์และทอม วิลคินสัน ซีรีส์นี้ได้รับรางวัลเอ็มมีสาขามินิซีรีส์ยอดเยี่ยมและรางวัลลูกโลกทองคำสาขามินิซีรีส์ยอดเยี่ยม
ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของแฮงค์ได้แก่ “The Green Mile” ที่เขียนบทและกำกับโดยแฟรงค์ ดาราบอนท์และสร้างขึ้นจากนิยายโดยสตีเฟน คิง, “The Road to Perdition” ที่นำแสดงโดยพอล นิวแมนและจู๊ด ลอว์และกำกับโดยแซม เมนเดส, คอเมดีตลกร้ายโดยพี่น้องโคเอนเรื่อง “The Ladykillers” และภาพยนตร์โดยไมค์ นิโคลส์เรื่อง “Charlie Wilson's War” ที่แสดงประกบจูเลีย โรเบิร์ตส์และฟิลิป เซย์มัวร์ ฮอฟแมน หลังจากนี้ แฮงค์จะได้แสดงประกบจูเลีย โรเบิร์ตส์อีกครั้งใน “Larry Crowne” ที่เขาได้เขียนบทและกำกับด้วย
ทิม อัลเลน (บัซ ไลท์เยียร์) ล่าสุด เพิ่งมีผลงานเป็นภาพยนตร์ที่เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของตัวเองซึ่งก็คือคอเมดีอินดีเรื่อง “Crazy on the Outside” ซึ่งเขาแสดงประกบเรย์ ลิออตตา, ซิเกอร์นีย์ วีฟเวอร์, จูลีย์ บราวน์, จีนน์ ทริปเปิลฮอร์น, เจ.เค. ซิมมอนส์และเคลซีย์ แกรมเมอร์ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ อัลเลนได้รับบทนักโทษผู้ซึ่งเพิ่งได้รับการปล่อยตัว และพยายามจะเกลี้ยกล่อม เจ้าหน้าที่ทัณฑ์บนสาวลูกติด (ทริปเปิลฮอร์น) ให้ออกเดทกับเขา ความพยายามที่จะสร้างชีวิตตัวเองขึ้นใหม่ของเขาถูกทำให้ยุ่งยากมากขึ้นด้วยพี่สาวที่น่ารักของเขา (วีฟเวอร์) และสามีช่างประชดประชันของเธอ (ซิมมอนส์) ปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่องนี้มีวางจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีแล้ว
ในปี 2008 อัลเลนได้นำแสดงในดรามาโดยโซนี พิคเจอร์ส คลาสสิกส์เรื่อง “Redbelt” ที่เขียนบทและกำกับโดยเดวิด มาเม็ต ในปี 2007 เขาได้แสดงประกบจอห์น ทราโวลตา, มาร์ติน ลอว์เรนซ์และวิลเลียม เอช. มาซีในคอเมดีฮิตโดยทัชสโตน พิคเจอร์สเรื่อง “Wild Hogs” ในปี 2006 อัลเลนได้นำแสดงในภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่อง “The Santa Clause 3” ที่เขากลับมารับบทเดิมอีกครั้ง ในปีเดียวกันนั้นเอง อัลเลนได้นำแสดงในคอเมดีสำหรับครอบครัวเรื่อง “Zoom” ในบทอดีตซูเปอร์ฮีโร ที่ถูกเรียกตัวให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้ง เพื่อเปลี่ยนกลุ่มเด็กเหลือขอให้กลายเป็นซูเปอร์ฮีโรที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง และในเวอร์ชันอัพเดทของภาพยนตร์คลาสสิกสำหรับครอบครัวของดิสนีย์เรื่อง “The Shaggy Dog” ที่อัลเลนรับบททนายความ ผู้ซึ่งความมุ่งมั่นให้กับหน้าที่การงานของเขาทำให้เขาต้องเสียครอบครัวไป
อัลเลนขัดเกลาพรสวรรค์ของตัวเองในฐานะนักแสดงตลกเดี่ยวตลอดยุค 80s ซึ่งนำไปสู่ซีรีส์เอบีซีที่ประสบความสำเร็จสูงของเขาเรื่อง “Home Improvement” ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลลูกโลกทองคำและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมี รวมทั้งได้รับรางวัลพีเพิล ชอยส์ อวอร์ดสาขานักแสดงชายยอดนิยมประเภทซีรีส์โทรทัศน์แปดปีติดต่อกัน
อัลเลนเปิดตัวในโลกภาพยนตร์ในปี 1994 ด้วยการรับบทซานตาคลอสในภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ฮิตเรื่อง “The Santa Clause” ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลพีเพิล ชอยส์ อวอร์ดอีกครั้ง ในปี 1995 เขาได้พากย์เสียงเรนเจอร์อวกาศที่น่ารักและหลงตัวเอง บัซ ไลท์เยียร์ในภาพยนตร์คอมพิวเตอร์อนิเมชันฮิตเรื่อง “Toy Story” และได้แสดงประกบมาร์ติน ชอร์ตในภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่อง “Jungle 2 Jungle” และประกบคริสตี้ อัลลีย์ในภาพยนตร์ยูนิเวอร์แซลเรื่อง “For Richer or Poorer”
ในระหว่างที่ครอบครัวเทย์เลอร์ยังคงครองอันดับหนึ่งในชาร์ตไพรม์ไทม์ อัลเลนก็ได้หวนคืนสู่รากเหง้าคอเมดีของเขาอีกครั้งด้วยทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และสิ้นสุดลงด้วยการแสดงที่ขายตั๋วหมดเกลี้ยงที่ซีซาร์ พาเลซ เขาได้เขียนหนังสือเรื่องแรกเกี่ยวกับมุมมองของผู้ชายที่มีชื่อว่า “Don’t Stand Too Close to a Naked Man” ซึ่งติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ของนิวยอร์ก ไทม์ หลังจากนั้น เขาก็มีผลงานเบสต์เซลเลอร์เล่มที่สองออกมาในชื่อ “I’m Not Really Here” ซึ่งโฟกัสไปที่วัยกลางคน ครอบครัวและควอนตัม ฟิสิกส์
ในปี 1999 ระหว่างซีซันที่แปดซึ่งเป็นซีซันสุดท้ายของซีรีส์ “Home Improvement” อัลเลนได้รับรางวัลทีวี ไกด์ อวอร์ดสาขานักแสดงยอดนิยมในซีรีส์คอเมดี และเขาก็ได้ถอนตัวเพื่อยกระดับหน้าที่การงานของเขาให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป
อัลเลนได้กลับมาพากย์เสียงบัซ ไลท์เยียร์อีกครั้งในซีเควลปี 1999 ของดิสนีย์เรื่อง “Toy Story 2” ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก หลังจากนั้นเขาก็มีผลงานเป็นภาพยนตร์ดรีมเวิร์คส์ยอดนิยมเรื่อง “Galaxy Quest” ที่ทิมรับบทเจสัน นีสมิธ นักแสดงตกอับ และร่างไซไฟของเขา ผู้บังคับบัญชา ปีเตอร์ ควินซี แท็กการ์ท ประกบซิเกอร์นีย์ วีฟเวอร์และอลัน ริคแมน อัลเลนได้แสดงประกบจิม เบลุชชีในภาพยนตร์โดยทเวนตี้ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์เรื่อง “Joe Somebody” และในปี 2001 เขาก็ได้แสดงประกบเรเน รุสโซในภาพยนตร์คอเมดีรวมดาราของแบร์รี ซอนเนนเฟลด์เรื่อง “Big Trouble” ในปี 2002 อัลเลนได้ฉีกบทบาทจากการรับบทเป็นซานตาคลอสและชายธรรมดา เพื่อมารับบทคริติคอล จิม มือปืนรับจ้าง ในคอเมดีโดยพาราเมาท์ คลาสสิกส์เรื่อง “Who Is Cletis Tout?” ที่เขาแสดงประกบคริสเตียน สเลเตอร์ และในเดือนพฤศจิกายน ปี 2002 เขาก็ได้ช่วยเปิดเทศกาลคริสต์มาสของปีนั้นด้วยการกลับมารับบทซานตาคลอสอีกครั้งในซีเควล “The Santa Clause 2” ในการหวนคืนสู่จอแก้วระยะสั้นๆ ในปี 2003 เด็บบี้ ดันนิงและริชาร์ด คาร์น เพื่อนเก่าจาก “Tool Time” ของอัลเลน ได้ร่วมแสดงกับเขาในรายการถ่ายทอดสดพิเศษของเอบีซีที่ชื่อ “Tim Allen Presents: A User’s Guide to Home Improvement” ในปี 2004 อัลเลนได้แสดงประกบเจมี ลี เคอร์ติสในคอเมดีโดยเรฟโวลูชัน สตูดิโอส์เรื่อง “Christmas with the Kranks” ซึ่งดัดแปลงจากนิยายเบสต์เซลเลอร์โดยจอห์น กริชแฮมเรื่อง “Skipping Christmas”
โจน คูแซ็ค (เจสซี) ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดมาแล้วสองครั้ง ครั้งหนึ่งจากการรับบทเลขานุการสาวจากสเตเทน ไอแลนด์ใน “Working Girl” ที่เธอแสดงประกบแฮร์ริสัน ฟอร์ดและเมลานีย์ กริฟฟิธและอีกครั้งหนึ่งจากบทเจ้าสาวสติแตกของเควิน ไคลน์ในภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมเรื่อง “In & Out” เธอได้รับรางวัลอเมริกัน คอเมดี อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมประเภทภาพยนตร์จากการแสดงประกบจูเลีย โรเบิร์ตส์และริชาร์ด เกียร์ใน “Runaway Bride” นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ เธอยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเดย์ไทม์ เอ็มมี อวอร์ดจากผลงานของเธอใน “Peep and the Big Wide World” อีกด้วย
เธอเปิดตัวในโลกภาพยนตร์ด้วยเรื่อง “My Bodyguard” เมื่อมีอายุได้ 15 ปี และเธอก็ได้แสดงในภาพยนตร์มากมายหลายเรื่องเช่น “Friends with Money,” “Ice Princess,” “Raising Helen,” “School of Rock,” “Arlington Road,” “High Fidelity,” “Cradle Will Rock” และ “Where the Heart Is” และเธอยังได้ร่วมแสดงกับจอห์น คูแซ็ค พี่ชายของเธอในภาพยนตร์สามเรื่องคือ “War, Inc.,” “Grosse Point Blank”และ “Martian Child” ผลงานภาพยนตร์ของเธอยังรวมถึงการรับบทสาวร้ายในภาพยนตร์เรื่อง “Addams Family Values,” “Nine Months,” “The Cabinet of Dr. Ramirez,” “Corrina, Corrina,” “Toys,” “Hero,” “My Blue Heaven,” “Men Don’t Leave,” “Broadcast News,” “Say Anything” และ “Sixteen Candles” ล่าสุด คูแซ็คได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Confessions of a Shopaholic” ให้กับวอลท์ ดิสนีย์ ฟิล์มส์ และ “Kit Kittredge: An American Girl” ให้กับเอชบีโอ ฟิล์มส์
ผลงานจอแก้วของคูแซ็คได้แก่บทประจำในรายการ “Saturday Night Live” ช่วงซีซัน 1985-86 และการแสดงประกบแอนน์ แบนครอฟท์ในซีรีส์บีบีซีที่สร้างจากผลงานของแพ็ดดี้ ชาเยฟสกี้เรื่อง “The Mother” และเธอยังได้แสดงในซิทคอมเรื่อง “What About Joan” อีกด้วย
ผลงานละครเวทีของคูแซ็คได้แก่รอบปฐมทัศน์ของเรื่อง “Brilliant Traces” ที่โรงละครเชอร์รี เลน เธียเตอร์ในกรุงนิวยอร์ก, “The Road” ที่ลา มามาและ “Cymbeline” ที่พับลิค เธียเตอร์ในนิวยอร์ก เธอรับบทเฮเลนาใน “A Midsummer Night’s Dream” ที่กู๊ดแมน เธียเตอร์ในชิคาโก และแสดงใน “’Tis a Pity She’s a Whore” ที่กำกับโดยโจแอนน์ อคาลิทิส
คูแซ็คได้ศึกษาเรื่องการแสดงที่พิเวน เธียเตอร์ เวิร์คช็อป และเธอก็ได้ร่วมแสดงกับคณะละครอิมโพรไวส์ “The Ark” ระหว่างที่ศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินในเมดิสัน ที่ซึ่งเธอสำเร็จการศึกษาสาขาภาษาอังกฤษ ด้วย
ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเธอคือ “My Sister’s Keeper” ที่นำแสดงโดยคาเมรอน ดิแอซและอเล็ค บัลด์วิน, “Acceptance” ที่สร้างขึ้นจากนิยายโดยซูซาน คอลและ “Mars Needs Moms!” ภาพยนตร์อนิเมชันโดยอิเมจมูฟเวอร์ส ที่ร่วมแสดงโดยเซธ กรีน ปัจจุบัน เธอกำลังอยู่ระหว่างการแสดงใน “Progress Notes” คอเมดีเกี่ยวกับชิคาโกที่เธอจะอำนวยการสร้างและนำแสดงให้กับเอ็นบีซี
เน็ด บีตตี้ (ล็อทโซ) ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในปี 1977 จากการแสดงขโมยซีนในบทประธานบอร์ดบริหารในซีรีส์ที่เสียดสีวงการข่าวของแพ็ดดี้ ชาเยฟสกี้ เรื่อง “Networks” ที่กำกับโดยซิดนีย์ ลูเม็ต เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากการแสดงของเขาในซีรีส์ปี 1991 เรื่อง “Hear My Song”
ผลงานภาพยนตร์กว่า 70 เรื่องของเขายังรวมถึงการแสดงสำหรับผู้กำกับจอห์น บูร์แมน (“Deliverance”), ไมค์ นิโคลส์ (“Charlie Wilson’s War”), สตีเวน สปีลเบิร์ก (“1941”), อลัน ปาลูกา (“All the President’s Men”), ริชาร์ด เลสเตอร์ (“Superman”), ริชาร์ด ดอนเนอร์ (“Superman 2” และ “The Toy”), โรเบิร์ต อัลท์แมน (“Nashville” และ “Cookie’s Fortune”), โรนัลด์ นีม (“Hopscotch”) และจอห์น ฮูสตัน (“Wise Blood” และ “The Life and Times of Judge Roy Bean”) ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ “Mikey and Nicky,” “Silver Streak,” “Back to School,” “The Big Easy,” “Rudy,” “Radioland Murders,” “He Got Game,” “Spring Forward,” “The Walker” และ “Shooter”
ดอน ริคเคิลส์ (คุณโปเตโต้ เฮ้ด) เป็นหนึ่งในนักแสดงที่ตลกที่สุดในแวดวงคอเมดี ตลอดกว่าห้าสิบปีที่ผ่านมา เขาได้แสดงตามคลับที่โด่งดังที่สุดของแอตแลนติก ซิตี้และลาสเวกัส รวมถึงคอนเสิร์ต ฮอลทั่วอเมริกาและทั่วโลก ริคเคิลส์ ที่เป็นที่รู้จักในนามของ “มิสเตอร์วอร์มธ์” ซึ่งเป็นนักแสดงตลกดูถูกที่โด่งดังที่สุด ยืนยันว่าภายใต้การเย้าแหย่ของเขามีความชื่นชมและรักใคร่ซ่อนอยู่ “ถ้าผมดูถูกคนอื่นและมีความหมายตามนั้นจริงๆ” เขาเคยเล่าให้ผู้มาสัมภาษณ์ฟัง “มันก็ไม่ตลกสิครับ”
ริคเคิลส์เกิดในนิวยอร์ก ซิตี้ สมัยวัยรุ่น เขาได้แสดงในละครเวทีของโรงเรียนและที่ลานเต้นรำในท้องถิ่น ก่อนที่เขาจะเริ่มทำงานตามไนท์คลับเล็กๆ นักแสดงผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอเมริกัน อคาเดมี ออฟ ดรามาติก อาร์ตส์ในนิวยอร์กผู้นี้มักจะได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมจากความสามารถในการแสดงของเขาอยู่เสมอๆ สไตล์คอเมดีแบบดูถูกของเขาได้ “เกิดขึ้นโดยบังเอิญ” ระหว่างที่เขาทำงานในคลับภายในระยะเวลาสองปีหลังจากที่เขาปลดประจำการจากราชนาวีสหรัฐฯ ในปี 1946 ริคเคิลส์ที่ไม่เคยถนัดการเล่ามุขตลกแบบเดิมๆ พบว่าตัวเองได้พูดคุยและหยอกล้อผู้ชมโดยตรง
อาชีพของเขาเริ่มต้นขึ้นจากคลับฮอลลีวูดเล็กๆ ในปี 1957 ในตอนที่ริคเคิลส์ ที่ตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก ได้เห็นแฟรงค์ ซินาตราในหมู่ผู้ชม และกล่าวล้อเลียนว่า “แฟรงค์ ทำตัวสบายๆ นะ ยิงใครซักคนสิ” ซินาตราหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง และไม่นานนัก ริคเคิลส์ก็กลายเป็นนักแสดงตลก “วงใน” ในกลุ่มคนดังฮอลลีวูด ที่เข้าแถวกันมาเป็นผู้ให้เขาดูถูก
ในปี 1959 ริคเคิลส์ได้ขึ้นแสดงที่ลาสเวกัสเป็นครั้งแรก เขาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและได้แสดงที่นั่นทุกปีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 60s ริคเคิลส์ก็ยังคงห่างไกลจากการโด่งดังระดับประเทศ และเขาก็แจ้งเกิดได้ด้วยการออกรายการ “The Tonight Show” ของจอห์นนี คาร์สันในเดือนตุลาคม ปี 1965 ที่การแสดงแบบหลุดโลกของเขาในคืนนั้นกลายเป็นที่โจษจันกันไปทั่วแวดวงบันเทิง ในปี 1967 เขาได้ออกรายการ “The Dean Martin Show” และการออกรายการเดียวกันนี้เป็นครั้งที่สองก็ทำให้ริคเคิลส์โด่งดังเป็นพลุแตก โดยริคเคิลส์ได้อยู่ต่อหน้าผู้ชมรายการที่มีคนดังมากมาย เช่น แดนนี โธมัส, แจ็คกี้ คูเปอร์, บ็อบ นิวฮาร์ท, เลนา ฮอร์น, ดีน มาร์ติน, เออร์เนสต์ บอร์กไนน์, ดอน อดัมส์, ริคาร์โด มอนทัลบันและแพท บูน และริคเคิลส์ก็ต้องแอ็ดลิบการแสดงดูถูกของเขานานเป็นชั่วโมง (บ็อบ โฮปมาทำอะไรอยู่ตรงนี้เนี่ย สงครามจบแล้วหรือ) คนทั่วทั้งประเทศพูดถึงบทพูดของเขาเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หลังจากนั้น และในช่วงสิ้นปี ทางสถานีโทรทัศน์ก็นำเสนอริคเคิลส์ให้เขาแสดงในซีรีส์โทรทัศน์ของตัวเอง
นอกเหนือไปจากงาน “จิกกัด” คนดังตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการได้เข้าเฝ้าเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตที่กรอสเวเนอร์ เฮาส์ในกรุงลอนดอนระหว่างงานเลี้ยงเพื่อระดมทุนและคำเชิญให้ไปเผาประธานาธิบดีเรแกนที่งานกาลาปี 1984 ริคเคิลส์ยังได้แสดงในซีรีส์ไพรม์ไทม์ให้กับเอบีซี, ซีบีเอส, เอ็นบีซีและฟ็อกซ์ และได้เป็นพิธีกรหรือพิธีกรร่วมรายการพิเศษทางโทรทัศน์อีกเจ็ดรายการ นอกเหนือจากการปรากฏตัวในรายการทอล์คโชว์กับแลร์รี คิง, เจย์ เลโน, เดวิด เล็ตเตอร์แมนและเรจิส ฟิลบินเป็นประจำแล้ว เขายังได้รับรางวัลเอ็มมีในปี 2008 จากสารคดีชื่อดังที่กำกับโดยจอห์น แลนดิส “Mr. Warmth: The Don Rickles Project” ซึ่งเปิดตัวทางเอชบีโอในเดือนธันวาคม ปี 2007
นอกเหนือจากการพากย์เสียงภาพยนตร์ดิสนีย์/พิกซาร์เรื่อง “Toy Story” และ “Toy Story 2” แล้ว บางที ริคเคิลส์อาจเป็นที่รู้จักดีที่สุดจากการรับบทบิลลี เชอร์เบิร์ท ผู้จัดการคาสิโนในภาพยนตร์ที่กำกับโดยมาร์ติน สกอร์เซซีเรื่อง “Casino” ที่เขาได้แสดงประกบโรเบิร์ต เดอ นีโร, ชารอน สโตนและโจ เพสซี ผลงานภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของริคเคิลส์ยังรวมถึง “Run Silent, Run Deep,” “Rat Race” และภาพยนตร์คัลท์คลาสสิกเรื่อง “Kelly’s Heroes” เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้แสดงในภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางทีเอ็นทีเรื่อง “The Wool Cap” ที่นำแสดงโดยวิลเลียม เอช. เมซี นอกเหนือจากนั้น เขายังได้นำแสดงในละครเวที ได้ออกอัลบัมคอเมดีเบสต์เซลเลอร์อีกสองชุด และได้เขียนหนังสือเรื่อง “Rickles’ Book” (2007) และเรื่อง “Rickles’ Letters” (2008) ให้กับไซมอน แอนด์ ชูสเตอร์
ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานของเขา ริคเคิลส์ได้รับการยกย่องและรางวัลมากมาย ซึ่งรวมถึงรางวัลลอเรล อวอร์ดครั้งแรกจากซีซาร์ พาเลซ และรางวัลพินนาเคิล อวอร์ดจากยูเอส คอเมดี แอนด์ อาร์ตส์ เฟสติวัลในปี 2007 ที่ยกย่องผลงานของเขา ในเดือนเมษายน ปี 2009 ทีวีแลนด์ได้มอบรางวัล “ลีเจนด์ อวอร์ด” ให้กับเขา
ริคเคิลส์ และบาร์บารา ภรรยาของเขา ใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิส พวกเขามีลูกสาวหนึ่งคน มินดี้ และลูกชายหนึ่งคน ลอว์เรนซ์ และหลานๆ สองคน
ไมเคิล คีย์ตัน (เคน) ได้รับความสนใจจากทั่วประเทศจากผลงานในคอเมดีฮิตเรื่อง “Night Shift” ตามมาด้วยการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Mr. Mom,” “Johnny Dangerously”และ “Gung Ho”
ในปี 1988 คีย์ตันได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเมื่อเขาได้รับบทผีร้ายตัวเอกในภาพยนตร์โดยทิม เบอร์ตันเรื่อง “Beetlejuice” และตามมาติดๆ ด้วยบทดรามาใน “Clean and Sober” ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชาติสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ในปีถัดมา เขาได้รับก้าวขึ้นสู่สถานะพระเอกของวงการด้วยการรับบทตัวเอกในภาพยนตร์โดยทิม เบอร์ตันเรื่อง “Batman” และกลับมารับบทเดิมอีกครั้งให้กับเบอร์ตันใน “Batman Returns” ปี 1992
ผลงานภาพยนตร์ของคีย์ตันในยุค 90s ได้แก่ “Pacific Heights,” “My Life,” “The Paper,” “Speechless” และ “Jack Frost” ในภาพยนตร์ปี 1996 เรื่อง “Multiplicity” เขาได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมด้วยการรับบทนักวิทยาศาสตร์และร่างโคลนอื่นๆ ที่เชื่อง (และไม่เชื่อง) ของเขาบนหน้าจอ นอกจากนี้ เขายังรับบทเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เรย์ นิโคเล็ตต์ ที่เอลมอร์ เลียวนาร์ดสร้างขึ้นในภาพยนตร์โดยเควนติน ทารันติโนเรื่อง “Jackie Brown” (1997) และในภาพยนตร์โดยสตีเวน โซเดอร์เบิร์กห์เรื่อง “Out of Sight” ในปีถัดมา
คีย์ตันได้รับบทโรเบิร์ต ไวเนอร์ในซีรีส์ดังทางเอชบีโอเรื่อง “Live from Baghdad” ที่สร้างจากชีวิตจริงของผู้สื่อข่าว CNN ที่รายงานข่าวจากกรุงแบกแดดระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย คีย์ตันได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำจากการแสดงของเขา นอกจากนี้ เขายังได้แสดงใน “Game Six” เรื่องราวที่เกี่ยวกับการแข่งขันครั้งที่หกในประวัติศาสตร์เวิลด์ ซีรีส์ปี 1986 ระหว่างเม็ทส์ และบอสตตัน เร้ด ซ็อกส์ ผลงานเรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ “First Daughter,” “Post Grad,” “The Last Time” และมินิซีรีส์เกี่ยวกับซีไอเอเรื่อง “The Company” ไมเคิล คีย์ตันมีผลงานการกำกับเรื่องแรกและได้นำแสดงในดรามาเรื่อง “The Merry Gentleman” ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2008
ก่อนหน้านี้ คีย์ตันเคยพากย์เสียงให้กับภาพยนตร์ของดิสนีย์มาแล้วสองครั้ง คือบทชิค ฮิคส์ รถแข่งอีโก้จัดในภาพยนตร์ดิสนีย์/พิกซาร์เรื่อง “Cars” และบทนักบินเครื่องบินขับไล่ผู้กล้าหาญในเวอร์ชันพากย์อังกฤษของภาพยนตร์โดยสตูดิโอ จิบลิเรื่อง “Porco Rosso” ปัจจุบัน คีย์ตันเพิ่งเสร็จสิ้นจากการร่วมแสดงในภาพยนตร์คอเมดีเรื่อง “The Other Guys” กับวิล เฟอร์เรล, มาร์ค วอห์ลเบิร์กและดเวย์น จอห์นสัน ให้กับโคลัมเบีย พิคเจอร์ส ที่มีกำหนดจะลงโรงในปี 2010
วอลเลซ ชอว์น (เร็กซ์) เป็นหนึ่งในนักแสดงสมทบที่เป็นที่จดจำสูงสุดของวงการ ด้วยผลงานจอแก้วและจอเงินมากมาย เขาได้แสดงในภาพยนตร์กว่า 50 เรื่องตลอดระยะเวลาการทำงานที่เริ่มต้นและสานต่อในการเป็นนักเขียน
ชอว์นเป็นชาวนิวยอร์ก ซิตี้ เขาเคยเป็นครูสอนลาตินและการละครที่นิวยอร์กและสอนภาษาอังกฤษในอินเดีย ชอว์นเป็นนักเขียน ผู้ซึ่งอาชีพการเขียนบทละครของเขาเริ่มต้นขึ้นในปี 1967 ชอว์นได้ดัดแปลงบทละครโดยมาคิอาเวลลีเรื่อง “The Mandrake” ให้กับโจเซฟ แป็ปในปี 1977 และได้รับการขอร้องจากผู้กำกับให้ร่วมแสดงในเรื่องด้วย ซึ่งมันก็กลายเป็นผลงานการแสดงเรื่องแรกของเขา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาก็ได้แสดงในละครเวทีเรื่อง “Uncle Vanya,” “Carmilla” และ ฯลฯ ในปี 2005 ชอว์นได้แสดงประกบอีธาน ฮอว์คในละครออฟบรอดเวย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของเดวิด เร้บเรื่อง “Hurlyburly” ในปี 2007 เขาได้แสดงในละครออฟบรอดเวย์ที่สร้างจากบทละครของเขาเรื่อง “The Fever”
ผลงานการเขียนบทเรื่องอื่นๆ ของชอว์นได้แก่ “Aunt Dan and Lemon” และ “Marie and Bruce” โรงละครเนชันแนล เธียเตอร์ในกรุงลอนดอนได้จัดการแสดงละครของชอว์นเรื่อง “The Designated Mourner” ที่นำแสดงโดยไมค์ นิโคลส์และมิแรนดา ริชาร์ดสัน ทั้งคู่ได้กลับมารับบทเดิมของตัวเองอีกครั้งในเวอร์ชันของบีบีซี ฟิล์มในซัมเมอร์ปี 1997 ซึ่งก็ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลาม ละครของชอว์นเรื่อง “The Fever” ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เคเบิลให้กับเอชบีโอ ที่นำแสดงโดยวาเนสซา เร้ดเกรฟ และแพร่ภาพครั้งแรกในปี 2007 และบทละครเรื่อง “Marie and Bruce” ก็ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยแมทธิว โบรเดอริคและจูลีแอนน์ มัวร์ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2006 ชอว์นมีผลงานละครเวทีสองเรื่องที่แสดงที่นิวยอร์ก ซึ่งได้แก่ละครออฟบรอดเวย์เรื่อง “The Music Teacher” ซึ่งเป็นละครโอเปรา ที่ร่วมเขียนบทโดยอัลเลน ชอว์น น้องชายของเขา และละครบรอดเวย์ ซึ่งแปลจากละครโดยเบอร์ทอลท์ เบรทช์เรื่อง “Threepenny Opera” ละครเรื่องนี้นำแสดงโดยอลัน คัมมิงและซินดี้ ลอเปอร์ ละครเรื่องล่าสุดของชอว์น “Grasses of a Thousand Colors” เปิดตัวในช่วงซัมเมอร์ปี 2009 ที่รอยัล คอร์ท เธียเตอร์ในกรุงลอนดอน ละครเรื่องนี้นำแสดงโดยตัวเขาเอง, เจนนิเฟอร์ ทิลลีและมิแรนดา ริชาร์ดสัน ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องเด่นของโปรแกรมละครที่เฉลิมฉลองผลงานของชอว์นตลอดทั้งปี
ผู้กำกับฝ่ายคัดเลือกนักแสดง จูเลียต เทย์เลอร์เห็นชอว์ในเรื่อง “The Mandrake” และเธอก็ได้แนะนำและตัดสินใจเลือกเขาให้แสดงในภาพยนตร์โดยวู้ดดี้ อัลเลนเรื่อง “Manhattan” หลังจากนั้น อัลเลนก็เลือกชอว์นให้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Radio Days,” “Shadows and Fog,” “The Curse of the Jade Scorpion” และ “Melinda and Melinda” นอกเหนือจากนั้น เขายังได้แสดงในภาพยนตร์สี่เรื่องโดยหลุยส์ มัลล์ ได้แก่ “Vanya on 42nd Street,” “My Dinner with Andre,” “Atlantic City” และ “Crackers” ชอว์นได้แสดงในภาพยนตร์โดยเอมี เฮ็คเคอร์ลิงเรื่อง “Clueless,” ภาพยนตร์โดยร็อบ ไรเนอร์เรื่อง “The Princess Bride,” ภาพยนตร์โดยเบลค เอ็ดเวิร์ดส์เรื่อง “Mickey and Maude,” ภาพยนตร์โดยสตีเฟน เฟรียส์เรื่อง “Prick Up Your Ears,” ภาพยนตร์โดยเจมส์ ไอวอรีเรื่อง “The Bostonians,” ภาพยนตร์โดยรีเบ็กก้า มิลเลอร์เรื่อง “Personal Velocity” และ “The Haunted Mansion” ที่นำแสดงโดยเอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ “Kit Kittredge: An American Girl,” “My Favorite Martian,” “Scenes from the Class Struggle in Beverly Hills,” “The Hotel New Hampshire” และ “The Moderns”
นอกเหนือจากการมีใบหน้าที่เป็นที่จดจำได้ง่ายแล้ว ชอว์นยังมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ที่เขาได้ใช้ในการพากย์เสียง เร็กซ์ ไดโนเสาร์จอมวิตกจริตใน “Toy Story” และซีเควล “Toy Story 2” และเขาก็ยังได้พากย์เสียงภาพยนตร์อนิเมชันหลายเรื่องเช่น “The Incredibles,” “The Goofy Movie” และ “Teacher’s Pet” รวมถึงซีรีส์อนิเมชันเรื่อง “Family Guy”
ชอว์นได้เป็นขาประจำในซีรีส์ชื่อดังหลายเรื่องเช่น “Murphy Brown,” “The Cosby Show” และ “Taxi” รวมไปถึงได้เป็นแขกรับเชิญพิเศษในซีรีส์ “Damages,”“Desperate Housewives,” “Sex and the City” และ “Ally McBeal” เขาได้มีบทประจำในซีรีส์ “The L Word,” “Gossip Girl,” “Crossing Jordan,” “Clueless” และ “Star Trek: Deep Space Nine” ผลงานภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ของชอว์นได้แก่ “Monte Walsh” ที่นำแสดงโดยทอม เซลเล็ค, “Mr. St. Nick” ที่นำแสดงโดยเคลซีย์ แกรมเมอร์และ “Blonde” ที่ได้ป็อปปี้ มอนท์โกเมอร์รีมารับบทมาริลิน มอนโร ดาราดังในตำนาน
จอห์น แรทเซนเบอร์เกอร์ (แฮมม์) เป็นผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างที่ประสบความสำเร็จและเป็นนักแสดงที่เคยได้รับการเสนอชื่อชิงหลายรางวัลเอ็มมีมาแล้ว และเขาก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจและผู้มีจิตใจงามอีกด้วย แม้ว่าเขาจะเป็นที่รู้จักดีที่สุดในหมู่คอหนังทั่วโลกจากบทบุรุษไปรษณีย์ผู้รอบรู้ คลิฟฟ์ คลาวินใน “Cheers” ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลเอ็มมี อวอร์ด เขาก็เป็นนักแสดงเพียงคนเดียวที่ได้พากย์เสียงในภาพยนตร์ดิสนีย์/พิกซาร์ทุกเรื่อง นอกเหนือจากบทแฮมม์ หมูออมสินที่น่ารักและชาญฉลาดใน “Toy Story” และ “Toy Story 2”แล้ว แรทเซนเบอร์เกอร์ยังได้พากย์เสียงตัวหมัดพี. ที. ใน “A Bug’s Life,” ตัวเยติใน “Monsters, Inc.,” ฝูงปลาใน “Finding Nemo,” อันเดอร์ไมเนอร์ ตัวร้ายเจ้าปรัชญาใน “Incredibles,” รถบรรทุกแม็คใน “Cars,” มุสตาฟา หัวหน้าพนักงานเสิร์ฟใน “Ratatouille” และจอห์น มนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในยานอวกาศแอ็กซิออมใน “Wall?E”
จอห์น แรทเซนเบอร์เกอร์ อดีตเคยเป็นช่างไม้ ครูสอนยิงธนู นักแสดงตามงานคาร์นิวาล และลูกเรือจับหอยนางรม เขาเติบโตขึ้นมาในบริดจ์พอร์ต, คอนเน็กติคัท เขาเข้าศึกษาวรรณคดีอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเซ็คเครด ฮาร์ท และหลังสำเร็จการศึกษา เขาก็ได้แสดงในละครเดี่ยวหลายครั้งไปพร้อมๆ กับการกำกับละครเรื่องอื่นๆ ในเวลาหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น แรทเซนเบอร์เกอร์ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งชื่อคู่หูตลกอิมโพรไวซ์ในชื่อแซลส์ มีท มาร์เก็ต ซึ่งโด่งดังไปทั่วยุโรปและได้รับการยกย่องจากสมาคมบริติช อาร์ตส์ เคาน์ซิล ในช่วงที่เริ่มเป็นนักแสดงใหม่ๆ จอห์นได้แสดงในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น “A Bridge Too Far,” “Superman,” “Gandhi” และ “Star Wars: The Empire Strikes Back” เขายังได้นำแสดงในซีรีส์ทางแกรนาดา ทีวีเรื่อง “Small World” และรับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างและนักเขียนบทให้กับทางบีบีซี แกรนาดา ทีวีและบริษัทละครชื่อดังอีกหลายแห่งด้วย
ในปี 1982 แรทเซนเบอร์เกอร์ได้เข้ารับการออดิชันซีรีส์ “Cheers” และเขาก็ได้เสนอแนะกับทีมผู้สร้างให้มีการเพิ่มตัวละครผู้รู้ดีประจำบาร์เข้าไป แล้วตัวละครคลิฟฟ์ คลาวินก็ถือกำเนิดขึ้นมา ทีมงาน “Cheers” ได้เขียนบทตอนไพล็อตใหม่เพื่อเพิ่มบทของเขาเข้าไป ระหว่างการแสดงซีรีส์ “Cheers” ทั้งสิบเอ็ดซีซันนั้น แรทเซนเบอร์เกอร์ก็ยังคงอิมโพรไวซ์บทของตัวเองอยู่บ่อยๆ ซึ่งเขาก็ทำให้ซีรีส์นี้มีความสดใหม่และได้รับความนิยมยาวนานจนได้รับรางวัลเอ็มมี 28 ครั้ง และในตอนนี้ที่ “Cheers” ได้รับการแพร่ภาพไปทั่วประเทศ คลิฟ คลาวินก็ยังคงเป็นตัวละครที่เป็นที่รักมากที่สุดในซีรีส์โทรทัศน์คนหนึ่ง
จอห์นยังได้กลับไปรับบทคลิฟฟ์ คลาวินอีกครั้งในซีรีส์ “Frasier,” “The Simpsons,” “Blossom,” “Wings,” “St. Elsewhere” และรายการพิเศษทางเอ็นบีซีอีกแปดตอน นอกจากนี้ นักแสดงสมทบผู้ประสบความสำเร็จผู้นี้ยังได้ร่วมแสดงในซีรีส์ “8 Simple Rules,” “That ’70s Show,” “Sabrina the Teenage Witch,” “Murphy Brown,” “The Love Boat,” “Magnum P.I.” และ “Hill Street Blues” และผลงานจอแก้วเรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ “The Pennsylvania Miners Story” ทางเอบีซี, “A Fare To Remember,” “Remember WENN,” “The Good Soldier” ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการมาสเตอร์พีซ เธียเตอร์ทางพีบีเอสและ “Song of a Sourdough” และ “The Detectives” ทางบีบีซี ความสำเร็จด้านอนิเมชันจอเงินของแรทเซนเบอร์เกอร์ยังขยับขยายมาสู่จอแก้วในซีรีส์ทีบีเอสเรื่อง “Captain Planet and the Planeteers” และ “The New Adventures of Captain Planet” และเขาก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ จากซีรีส์ฮิตทางเอบีซีเรื่อง “Dancing With the Stars” อีกด้วย
ผลงานภาพยนตร์กว่า 40 เรื่องของเขาได้แก่ “The Ritz” (1976), “Yanks” (1979), “Superman 2” (1980), “Ragtime” (1981), “Reds” (1981), “Outland” (1981), “Firefox” (1982), “Protocol” (1984), “The Falcon and the Snowman” (1985), “She’s Having a Baby” (1988), “One Night Stand” (1997), “That Darn Cat” (1997), “Tick Tock” (1999) และ “Determination of Death” (2001)
ผลงานล่าสุดของแรทเซนเบอร์เกอร์ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง "The Village Barbershop" ซึ่งได้รับรางวัลออเดียนซ์ ชอยส์ อวอร์ดจากงานเทศกาลซีนีเควสต์และ “Our First Christmas” สำหรับฮอลมาร์ค ตลอดระยะเวลาห้าซีซัน เขาได้ทำหน้าที่พิธีกรให้กับซีรีส์ยอดนิยมทางทราเวล แชนแนลของเขา “John Ratzenberger’s Made in America” โดยแรทเซนเบอร์เกอร์ได้สร้างซีรีส์นี้ขึ้นมาในปี 2004 เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอเมริกา ซึ่งเป็นประเด็นที่เขามีส่วนร่วมอย่างมาก นัทส์, โบลท์ แอนด์ ธิงกาเมจิกส์ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรของจอห์น (www.nutsandboltsfoundation.org) มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูคุณค่าและศักดิ์ศรีของงานศิลปะทั้งที่ใช้มือและที่เป็นอุตสาหกรรม และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างฝีมือ นักประดิษฐ์ วิศวกร ช่างซ่อมและช่างรุ่นต่อไปของอเมริกา
เอสเทล แฮร์ริส (คุณนายโปเตโต้ เฮ้ด) ซึ่งอาจเป็นที่รู้จักดีที่สุดจากบทคุณนายคอสแทนซา แม่ขี้โมโหของจอร์จใน “Seinfeld” การเป็นขาประจำในการแสดงประกบเชลลี ลองใน “Good Advice” การรับบทมูเรียลใน “The Suite Life of Zach and Cody” และอีซี แมรี ผู้น่ารักใน “Night Court” และได้แสดงในหลายๆ เอพิโซดของซีรีส์ “ER,” “Providence,” “The Parkers,” “Half and Half,” “Regular Joe,” “Cybill,” “Conrad Bloom,” “Living Single,” “Moesha,” “Star Trek: Voyager,” “In the House,” “Mad About You,” “Law and Order” และ “Married with Children”
ผลงานอนิเมชันเรื่องอื่นๆ ที่เธอได้พากย์เสียงได้แก่ “Tarzan 2,” “Brother Bear,” “Home on the Range,” และ “Teacher’s Pet” และเธอก็ได้พากย์เสียงซีรีส์การ์ตูนและตอนพิเศษหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง “Dave the Barbarian,” “The Proud Family” และ “Kim Possible” ด้วย
แฮร์ริสได้แสดงในม็อคคิวเมนทารีเรื่อง “The Grand” ประกบวู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน, ริชาร์ด ไคน์และเดนนิส ฟารินา และได้แสดงในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องเช่น “Out to Sea,” “The Odd Couple 2,” “Lost and Found,” “My Giant,” “Once Upon a Time in America,” “Stand and Deliver,” “This Is Your Life,” “Perfect Alibi” และ “Addams Family Reunion” เธอได้แสดงประกบชาร์ลีย์ ชีนและแองจี้ ฮาร์มอนในภาพยนตร์เรื่อง “Good Advice” และใน “What’s Cooking” ประกบอัลเฟร วู้ดดาร์ด, จูลีแอนนา มาร์กัลลีส์และเมอร์ซีเดส รูเอห์ลและร่วมแสดงใน “Playing Mona Lisa” ประกบเอลเลียต กูลด์และมาร์โล โธมัส เธอได้แสดงในภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง “No Prom for Cindy” ในปี 2002 และผลงานภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ของเธอได้แก่ “Fallen Angels” ที่กำกับโดยปีเตอร์ บ็อกโดนาวิชให้กับโชว์ไทม์และ “The West Side Waltz” ที่ร่วมแสดงโดยเชอร์ลีย์ แม็คเลน, ลิซา มินเนลลีและเคธี เบทส์ ให้กับซีบีเอส ทีวี
แฮร์ริสเพิ่งได้ร่วมแสดงในละครเรื่อง “The Vagina Monologues” โปรดักชันของลอสแองเจลิส ได้รับบทคุณย่าเบิร์ธสุดซ่าส์ใน “Pippin” ที่เธาแซนด์ โอ๊คส์, ทัคซอนและฟินิกซ์สำหรับคณะเธียเตอร์ ลีกและได้แสดงละครออฟบรอดเวย์เรื่อง “Enter Laughing” และ “The Prisoner of Second Avenue” สำหรับรีเจียนแนล เธียเตอร์ เธอได้รับเสียงชื่นชมจากบทดอริสใน “The Cemetery Club,” บทมิเรียมใน “Beau Jest” ที่เวสพอร์ต ซัมเมอร์ เพลย์เฮาส์ รวมไปถึงบทบาทอื่นๆ อีกมากมายในการแสดงละครตามเวทีต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงบทจีนเน็ตต์ใน “The Last of the Red Hot Lovers,” ซูใน “Bells Are Ringing,” ป้าควีนนีใน “Bell, Book and Candle,” โลลาใน “Come Back, Little Sheba,” มาดามาอาร์คาติใน “Blithe Spirit,” มิสอาเดเลดใน “Guys and Dolls” และคลารา ไวส์ใน “Milk and Honey” นอกจากนี้ เธอยังได้รับบทแม่ของเบิร์ท คอนวีใน “Bye Bye Birdie,” ได้รับการยกย่องจากบทคุณนายสตราคอชในละครโดยแครอล ลอว์เรนซ์เรื่อง “Funny Girl” และได้รับบทเยนติในละครเรื่อง “Fiddler on the Roof” ด้วย
แฮร์ริสเติบโตในเมืองเล็กๆ ที่มีเหมืองถ่านหินในเพนซิลวาเนีย เธอแต่งงานมาได้กว่า 40 ปีแล้ว เธอเป็นแม่ลูกสาม และมีหลานสามคน ปัจจุบันนี้ เธอและสามีใช้วิตอยู่ในลอสแองเจลิส
จอห์น มอร์ริส (แอนดี้) ได้รับเลือกจากพิกซาร์ให้พากย์เสียงแอนดี้ตั้งแต่เขาอายุได้เจ็ดขวบ และเขาก็ได้กลับมารับหน้าที่เดียวกันนี้เอีกครั้งเมื่ออายุได้ 13 ปี และปัจจุบันนี้ ที่เขาอายุได้ 25 ปี เขาก็ได้พากย์เสียงแอนดี้อีกครั้งใน “Toy Story 3” รวมระยะเวลาที่เขาพากย์เสียงนี้ทั้งหมด 18 ปี นอกเหนือจากนั้น เขายังได้พากย์เสียงซานต้า บอยในภาพยนตร์โดยทิม เบอร์ตันเรื่อง “The Nightmare Before Christmas” ด้วย
มอร์ริสเติบโตขึ้นในย่านเบย์ แอเรีย และเริ่มต้นยึดงานแสดงตอนอายุหกขวบด้วยการแสดงในโฆษณาของเชฟรอน เขาได้ฝึกฝนด้านการแสดงอย่างหนัก และนอกเหนือจากผลงานภาพยนตร์แล้ว เขาก็ได้แสดงในละครเวทีหลายเรื่องที่ซานฟรานซิสโก เบย์ แอเรีย (เบิร์คลีย์ เร็พและเอ. ซี. ที.), นิวยอร์กและลอสแองเจลิส ที่ซึ่งเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการละครจากยูซีแอลเอ
โจดี้ เบนสัน (บาร์บี้) เป็นที่จดจำและยกย่องไปทั่วโลกจากการพากย์เสียง แอเรียลในภาพยนตร์อนิเมชันที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดของวอลท์ ดิสนีย์เรื่อง “The Little Mermaid” นอกจากนั้น เธอยังได้พากย์เสียงวีโบ้ตัวป่วนในภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันเรื่อง “Flubber” ที่ร่วมแสดงโดยโรบิน วิลเลียมส์อีกด้วย เธอได้พากย์เสียงบทนำในภาพยนตร์เรื่อง “Thumbelina” ให้กับผู้กำกับดอน บลูธ และวอร์เนอร์ บรอส. ผลงานการพากย์เสียงเรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ “The Little Mermaid: Ariel’s Beginning,” “The Little Mermaid II: Return to the Sea,” “Lady and the Tramp II: Scamp’s Adventure” ในบทเลดี้และ “101 Dalmatians II: Patch’s London Adventure” ในบทอนิต้า นอกจากนั้นแล้ว เธอยังได้รับบทแซม ผู้ช่วยของแพทริค เดมป์ซีย์ในภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่อง “Enchanted” อีกด้วย
เบนสันเป็นชาวร็อคฟอร์ด เธิร์ด เธอได้รับรางวัลโทนี อวอร์ดและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเฮเลน เฮย์สสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประเภทมิวสิคัลจากการรับบทพอลลี ในละครบรอดเวย์เรื่อง “Crazy for You” ผลงานละครเวทีบรอดเวย์เรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่การรับบทดอเรีย ฮัดสันในละครมิวสิคัลโดยโฮเวิร์ด แอชแมน/มาร์วิน แฮมลิสช์เรื่อง “Smile,” บทเบ็ตตี้ เบอร์สตีเตอร์ในละครโดยไซ โคลแมนเรื่อง “Welcome to the Club” และบทเวอร์จิเนียในละครโดยเคนนี ออร์เทกาเรื่อง “Marilyn: An American Fable” เบนสันได้ร่วมแสดงกับเรย์ เบนสัน สามีของเธอในรอบปฐมทัศน์ในยุโรปของละครโดยเกิร์ชวินเรื่อง “My One and Only” ด้วยการรับบทมิสเอดิธ เฮอร์เบิร์ท
ในลอสแองเจลิส เบนสันรับบทบันนีในละครชื่อดังโดยรีไพรส์/ยูซีแอลเอเรื่อง “Babes in Arms,” บทเนลลี ฟอร์บุชใน “South Pacific” (พาซาเดนา ซิวิค ออดิทอเรียม), บทฟลอราใน “Flora the Red Menace” (พาซาเดนา เพลย์เฮาส์), เอโด แอนนีใน “Oklahoma!” (โดโรธี แชนด์เลอร์ พาวิลเลียน), เอไลซา ดูลิตเติลใน “My Fair Lady” (อเล็กซ์ เธียเตอร์) และฟลอเรนซ์ วัสซีย์ใน “Chess” (ลอง บีช ซิวิค ไลท์ โอเปรา) ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลดรามาล็อก อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
โจดี้ได้ร่วมบันทึกเสียงเพลงหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงซาวน์แทร็คดิสนีย์ “Songs from the Sea,” “Disney Classics,” “Splash Hits,” “The Little Mermaid” และ “The Princess Collection” รวมถึงอัลบัมบันทึกเสียงนักแสดง “Crazy For You” ของอีเอ็มไอและแองเจิล โปรเจ็กต์ใหม่ล่าสุดสำหรับเด็กๆ ของเธอคือซีรีส์ดีวีดีหกตอน “Babyfaith” จากผู้สร้าง Baby Einstein
ผลงานอนิเมชันจอแก้วของเธอได้แก่ซีรีส์ฮิตทางการ์ตูน เน็ตเวิร์คเรื่อง “Camp Lazlo,” “Pepper Ann,” “Pirates of Dark Water,” “P.J. Sparkles,” ซีรีส์ดิสนีย์ “Hercules” (ในบทเฮเลนแห่งทรอยผู้ร่าเริง), “Batman Beyond,” “The Grim Adventures of Billy and Mandy” และ “The Wild Thornberrys”
บนเวทีคอนเสิร์ต เบนสันได้ขึ้นขับร้องเพลงเดี่ยวที่งานเคนเนดี้ เซ้นเตอร์ ออเนอร์ส ฟอร์ จินเจอร์ โรเจอร์ส รวมทั้ง “Walt Disney: 75 Years of Music” ที่จัดขึ้นที่เดอะ ฮอลลีวูด โบว์ล โจดี้ได้ร่วมขับร้องเพลงกับวงซิมโฟนีทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเดอะ ฟิลลี ป็อปส์, เดอะ เนชันแนล ซิมโฟนี, คลีฟแลนด์ ซิมโฟนี, ดัลลัส ซิมโฟนี, โตเกียว ฟิลฮาร์โมนิค, ซานฟรานซิสโก ซิมโฟนี และชิคาโก ซิมโฟนี เบนสันได้รับเกียรติในการเป็นนักร้องโซโลให้กับวอลท์ ดิสนีย์ คัมปะนี/ดิสนีย์ ครูซ ไลน์และเป็นทูตสำหรับภาพยนตร์อนิเมชัน
โจดี้ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงประทานครอบครัว เพื่อนๆ เรย์ สามีที่รักของเธอและลูกชายของเธอ แม็คคินลีย์และลูกสาว เดลานีย์ มาให้กับเธอ
ลอรี เม็ทคาล์ฟ (แม่ของแอนดี้) ได้แสดงประกบนาธาน เลนในละครคอเมดีบรอดเวย์โดยเดวิด มาเม็ตเรื่อง “November” ที่กำกับโดยโจ แมนเทลโลและละครโดยอเล็กซานดรา เกิร์สเทินเรื่อง “My Thing of Love” ที่กำกับโดยไมเคิล แม็กกิโอ นอกจากนั้นแล้ว เธอยังได้แสดงในละครโดยแซม เชพเพิร์ดเรื่อง “A Lie of the Mind” ที่กำกับโดยอีธาน ฮอว์คและ “Balm in Gilead” ที่เซอร์เคิล รีเพอร์ทอรี คัมปะนี ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลดรามา เดสก์, โอบี้และเธียเตอร์ เวิลด์ อวอร์ด ในนิวยอร์ก ล่าสุด เม็ทคาล์ฟได้แสดงละครบรอดเวย์โดยนีล ไซมอนเรื่อง “Brighton Beach Memoirs” ที่กำกับโดยเดวิด โครเมอร์
ผลงานภาพยนตร์ของเม็ทคาล์ฟได้แก่ “A Wedding,” “Desperately Seeking Susan,” “The Appointments of Dennis Jennings,” “Internal Affairs,” “Pacific Heights,” “JFK,” “Leaving Las Vegas,” “U Turn,” “Bulworth,” “Runaway Bride,” “Georgia Rule” และ “Stop-Loss” ในโลกอนิเมชัน เธอได้พากย์เสียงให้กับทั้งผลงานจอแก้วและจอเงิน ซึ่งได้แก่ “Duckman,” “Meet the Robinsons,” “God, the Devil and Bob,” “Treasure Planet” และ “King of the Hill”
เม็ทคาล์ฟเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะสเต็พเพนวูล์ฟ เธียเตอร์ของชิคาโกตั้งแต่ปี 1976 เธอได้รับเจ็ดรางวัลโจเซฟ เจฟเฟอร์สัน อวอร์ดและสองรางวัลแอลเอ โอเวชัน อวอร์ด เธอได้รับสามรางวัลเอ็มมี อวอร์ดจากบทแจ็คกี้ แฮร์ริสในซีรีส์ “Roseanne” และเธอก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีจากการแสดงใน “Desperate Housewives” อีกด้วย
เบลค คลาร์ค (สลิงกี้ ด็อก) แสดงสแตนด์อัพคอเมดีมาตลอดกว่า 20 ปีตามคลับต่างๆ, รายการ “The Tonight Show,” รายการพิเศษ HBO Comedy Specials, “Late Night with David Letterman” และ “The Conan O’Brien Show” นอกเหนือจากนั้น เขายังได้แสดงในภาพยนตร์กว่า 50 เรื่องและซีรีส์โทรทัศน์หลายร้อยเอพิโซด
คลาร์ค ซึ่งเคยเป็นหัวหน้ากองพลทหารราบในสงครามเวียดนาม ได้นำเสนอความยากลำบากของอดีตทหารสงครามเวียดนามสู่ช่าวอเมริกันในรูปแบบขำขันในยุค 80s และเขาก็ได้เข้าร่วมองค์กรทหารผ่านศึกหลายองค์กรทั่วทั้งอเมริกา
หลังจากที่ย้ายจากจอร์เจียไปฮอลลีวูด คลาร์คก็ได้ออกรายการ “The Tonight Show” กับจอห์นนี คาร์สันเป็นครั้งแรก และไม่นานหลังจากนั้น เขาก็ได้รับบทประจำในซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง “Remington Steele” ในบทโชเฟอร์เฟร็ด นับตั้งแต่นั้นมา เขาก็ได้แสดงบทแฮร์รี ช่างฮาร์ดแวร์ใน “Home Improvement,” จูลส์ เพื่อนบ้านใน “The Drew Carey Show,” เช็ท พ่อผู้เจ้าเล่ห์ของฌอน ฮันเตอร์ใน “Boy Meets World” และบ็อบ เจ้านายเสือผู้หญิงใน “The Jamie Foxx Show”
ผลงานภาพยนตร์ของคลาร์คได้แก่ “St. Elmo’s Fire,” “Shakes the Clown,” “Toys,” “The Mask,” “Little Nicky,” “Joe Dirt,” “Corky Romano,” “Eight Crazy Nights,” “Intolerable Cruelty,” “The Ladykillers,” “Leatherheads” และ “Get Smart” เขาได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมจากการรับบทพ่อของดรูว์ แบร์รีมอร์ในภาพยนตร์ฮิตเรื่อง “50 First Dates” ในปี 2004 แต่เขาอาจเป็นที่รู้จักดีที่สุดจากบทฟาร์เมอร์ ฟราน โค้ชชาวเคจันที่เข้าใจยากใน “The Waterboy”
คลาร์คที่เป็นผู้วิพากย์สังคมด้วยความรักชาติแบบเงียบๆ ได้เดินไปทั่วโลกเพื่อแสดงตลก และเขาก็เคยไปออกทัวร์ยูเอสโอกับดรูว์ แครีย์และโรบิน วิลเลียมส์ที่อิรักมาแล้วสองครั้ง ในปี 2011 เขาจะร่วมพากย์เสียงกับจอห์นนี เดปป์ในภาพยนตร์นิคเคลโลเดียนเรื่อง “Rango”
เท็ดดี้ นิวตัน (แชตเตอร์ เทเลโฟน ผู้กำกับ “Day & Night”) เข้าทำงานที่พิกซาร์ในเดือนกรกฎาคม ปี 2000 เพื่อทำงานในภาพยนตร์เรื่องที่หกของพิกซาร์ “The Incredibles” และนับตั้งแต่นั้นมา เขาก็ได้ใช้ทักษะการออกแบบตัวละครของเขาในการทำงานให้กับภาพยนตร์และภาพยนตร์ขนาดสั้นที่ได้รับรางวัลของดิสนีย์และพิกซาร์หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง “Ratatouille,” “Your Friend the Rat” และ “Presto” นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญในการสร้างฉากเอนด์ไตเติลของภาพยนตร์เรื่อง “The Incredibles” และ “Ratatouille” และมักจะได้พากย์เสียงในภาพยนตร์ดิสนีย์/พิกซาร์บ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงบทแชตเตอร์ เทเลโฟนใน “Toy Story 3” ด้วย
สำหรับผลงานดิสนีย์/พิกซาร์เรื่องแรกของเขา นิวตันได้ร่วมงานกับผู้อำนวยการสร้างเควิน เรเฮอร์ใน “Day & Night” ภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่องใหม่ที่จะเข้าฉายกับ “Toy Story 3”
ก่อนหน้าที่จะทำงานที่พิกซาร์ นิวตันได้ทำงานในแผนกเรื่องราวและออกแบบตัวละครที่วอร์เนอร์ บรอส. ในภาพยนตร์เรื่อง “Iron Giant” นอกจากนี้ เขายังรับหน้าที่มือเขียนบท/ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อินดีเรื่อง “The Trouble with Lou” อีกด้วย
นิวตันได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดของอัล เฮิร์สช์เฟลด์และอนิเมชันยุคเริ่มแรกของวอร์เนอร์ บรอส. เขาเติบโตขึ้นในดานา พอยท์, แคลิฟอร์เนีย และเข้าศึกษาที่แคลิฟอร์เนีย อินสติติวท์ ออฟ เดอะ อาร์ตส์ (แคล อาร์ตส์)
ฮาเวียร์ เฟอร์นันเดซ-เปนา (บัซเวอร์ชันสเปน) เป็นนักพากย์เสียงมากประสบการณ์ที่ทำงานอยู่ในลอนดอน เฟอร์นันเดซ-เปนา ที่ได้รับการขนานนามจากเพื่อนร่วมงานชาวอังกฤษของเขาว่า “เสียงแห่งสเปน” มีวิธีในการถ่ายทอดข้อคิดออกมาอย่างมีเอกลักษณ์ คำพูดที่ไร้ที่ติ สไตล์สง่างาม และความสามารถในการปรับเปลี่ยนตามความคาดหวังของผู้ชมทำให้เขาเป็นหนึ่งในนักพากย์เสียงสเปนที่เป็นที่ต้องการตัวที่สุดในวงการปัจจุบัน
เฟอร์นันเดซ-เปนา ได้พากย์เสียงตัวละครให้กับของเล่น เกมและซีรีส์การ์ตูน รวมทั้งพากย์เสียงและบรรยายโฆษณาทางโทรทัศน์และวิทยุ, หนังสือเสียงและวิดีโอสำหรับบริษัทและวิดีโอทางการศึกษาอีกด้วย
ทิโมธี ดัลตัน (คุณพริคเคิลแพนท์) ได้ฝึกฝนการแสดงที่รอยัล อคาเดมี ออฟ ดรามาติก อาร์ตในลอนดอน เขาเป็นสมาชิกคณะละครเนชันแนล ยูธ เธียเตอร์ในอังกฤษ และได้แสดงในโรงละครคลาสสิกและโมเดิร์นหลายแห่งทั่วทั้งอังกฤษ ซึ่งรวมถึงการได้ร่วมแสดงกับรอยัล เชคสเปียร์ คัมปะนี, พรอสเพ็ค เธียเตอร์ คัมปะนี และเนชันแนล เธียเตอร์ บทบาทมากมายที่เขาได้รับได้แก่โรมิโอ, เจ้าชายฮัล, ฮ็อทสเปอร์, กษัตริย์เฮนรีที่ห้า, เพทรูคิโอและมาร์ค แอนโธนี เขาได้รับบทคอร์เนเลียส เมโลดีในละครโปรดักชันเวสต์ เอนด์ของยูจีน โอ’นีลล์เรื่อง “A Touch of the Poet” และล่าสุดเขาก็ได้รับบทลอร์ดแอสเรียลในละครโปรดักชันเนชันแนล เธียเตอร์เรื่อง “His Dark Materials”
ด้านจอแก้ว ผลงานของเขามีหลากหลายตั้งแต่ภาพยนตร์คลาสสิกทางบีบีซีเรื่อง “Jane Eyre” ไปจนถึงสารคดีเกี่ยวกับหมาป่าที่ได้รับรางวัลเรื่อง “In the Wild” ซึ่งพาเขาไปอยู่ในอาณาบริเวณหลายร้อยไมล์ของขั้วโลกเหนือ เขาได้แสดงในมินิซีรีส์และดรามาดังๆ ของสถานีโทรทัศน์อังกฤษและอเมริกาหลายเรื่อง ผลงานที่เขาแสดงให้กับโชว์ไทม์และเอชบีโอได้แก่ “The Informant,” “Possessed” และ “Made Men”
ดัลตันเริ่มต้นอาชีพนักแสดงของเขาด้วยการแสดงประกบปีเตอร์ โอ’ ทูลและแคทเธอรีน เฮพเบิร์นใน ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์เรื่อง “The Lion in Winter” หลังจากนั้น เขาก็ได้แสดงในภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น “Mary, Queen of Scots,” “Cromwell,” “Wuthering Heights,” “Agatha,” “Flash Gordon,” “Hawks,” “The King’s Whore,” “The Rocketeer,” “The Beautician and the Beast,” “Timeshare,” “American Outlaws,” “Looney Tunes” และ “Hot Fuzz” ระหว่างปี 1987-1989 ดัลตันได้รับบทเจมส์ บอนด์ สายลับที่โด่งดังที่สุดในโลกใน “The Living Daylights” และ “License to Kill”
เคิร์สเตน ชอล (ทริกซี) เป็นนักแสดงตลกชาวอเมริกัน ที่โด่งดังในหมู่คอซีรีส์จากการรับบทเมลในซีรีส์เอชบีโอเรื่อง “Flight of the Conchords” และเป็นที่รักในแวดวงอินเทอร์เน็ตด้วยการแสดงน่าทึ่งของเธอในบทม้าของรายการสำหรับเด็ก ที่เต้นจนเหนื่อยล้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าพระราชบัญญัติถูกตราเป็นกฎหมายได้อย่างไร ชอลเกิดในโคโลราโด ในปี 1978 หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น เธอก็ย้ายไปนิวยอร์กซิตี้ และได้ยึดชีพการแสดงตลก ซึ่งทำให้เธอได้แสดงบนเวทีต่างๆ ซึ่งรวมถึงกับทีมอิมพรูฟ “Big Black Car” ที่โรงละครพีเพิลส์ อิมพรูฟ เธียเตอร์ในนิวยอร์ก, เทศกาลเอดินเบิร์กห์ ฟรินจ์ เฟสติวัลในสก็อตแลนด์, คณะละครเด็ก เดอะ สไตรค์กิ้ง ไวกิ้ง สตอรี ไพเรทส์, เทศกาลเดอะ บอนนารู มิวสิค เฟสติวัลและงานเลี้ยงตำรวจลับขององค์กรนิรโทษกรรมสากลในปี 2008
ในเดือนมกราคม ปี 2010 ชอลได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง “When in Rome” ประกบคริสติน เบล, จอช ดูฮาเมล, แด็กซ์ เชพเพิร์ด, วิล อาร์เน็ตต์, แองเจลิกา ฮูสตันและแดนนี เดอวีโต้ให้กับดิสนีย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ เธอได้แสดงใน “Valentine’s Day”ที่กำกับโดยแกร์รี มาร์แชลให้กับนิวไลน์/วอร์เนอร์ บรอส. ในเดือนมีนาคม ปี 2010 ซีรีส์ทางอินเทอร์เน็ตที่เธอเขียนบทและนำแสดงเอง “Penelope Princess of Pets” ได้แพร่ภาพตอนไพล็อตให้กับแชนแนล โฟร์ของอังกฤษ ในซัมเมอร์นี้ เธอจะสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมในฐานะหนึ่งในตัวละครใหม่ของ “Shrek Forever After” ให้กับดรีมเวิร์คส์และ “Get Him to the Greek” ที่เขียนบทและกำกับโดยนิค สโตลเลอร์ โดยมีจั๊ดด์ อพาโทว์ อำนวยการสร้างให้กับยูนิเวอร์แซล ในเดือนกรกฎาคม เธอจะได้แสดงประกบพอล รัดด์และสตีฟ คาเรลในภาพยนตร์เรื่อง “Dinner for Schmucks” ที่กำกับโดยเจย์ โร้ค ในเดือนสิงหาคม เธอจะได้แสดงประกบจัสติน ลองและดรูว์ แบร์รีมอร์ในภาพยนตร์นิวไลน์เรื่อง “Going the Distance”
เมื่อเร็วๆ นี้ ชอลเพิ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้หญิงที่ตลกที่สุดบนจอแก้ว” ในนิตยสารเอสไควร์ และได้รับการยกย่องให้เป็น “ดาวรุ่งดวงใหม่ในแวดวงคอเมดี” ในฉบับปลายปีของนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลี รวมถึงติดลิสต์ 25 หญิงสาวที่ตลกที่สุดในฮอลลีวูด และเธอก็ได้ติดลิสต์ “10 นักแสดงตลกน่าจับตามอง” ของนิตยสารวาไรตี้ในปี 2009 อีกด้วย
พรสวรรค์ของเจฟฟ์ การ์ลิน (บัตเตอร์คัพ) รวมไปถึงงานเขียนบท อำนวยการสร้าง กำกับ แสดงและแสดงตลกเดี่ยว การ์ลินทั้งร่วมแสดงและอำนวยการสร้างบริหารซีรีส์เอชบีโอเรื่อง "Curb Your Enthusiasm" ที่นำแสดงโดยแลร์รี เดวิด ผู้สร้าง "Seinfeld" โดยมีการ์ลินรับบทเป็นผู้จัดการผู้ซื่อสัตย์ของเขา ซีรีส์ดังเรื่องนี้ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขาคอเมดียอดเยี่ยม, รางวัลแดนนี โธมัส โปรดิวเซอร์ ออฟ เดอะ เยียร์ อวอร์ดจากสมาพันธ์ผู้กำกับแห่งอเมริกาและรางวัลซีรีส์คอเมดียอดเยี่ยมแห่งปีจากเอเอฟไอ
การ์ลินเป็นชาวชิคาโก เขาได้ศึกษาเรื่องการสร้างภาพยนตร์และเริ่มแสดงสแตนด์อัพ คอเมดีระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยไมอามี จากนั้น การ์ลิน ซึ่งเป็นสมาชิกคณะเซคคันด์ ซิตี้ เธียเตอร์ก็ได้ตระเวนแสดงสแตนด์อัพ คอเมดีไปทั่วประเทศ ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของการ์ลินในฐานะผู้กำกับ "I Want Someone to Eat Cheese With" เปิดตัวท่ามกลางเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลามในปี 2007 เขามีประสบการณ์คร่ำหวอดทั้งในจอแก้วและจอเงิน ล่าสุด เขาได้พากย์เสียง “กัปตัน” ในภาพยนตร์พิกซาร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์เรื่อง “WALL?E”
เมื่อเร็วๆ นี้ ซีรีส์ “Curb Your Enthusiasm” เพิ่งออนแอร์ซีซันที่เจ็ดทางเอชบีโอ รายการพิเศษสแตนด์อัพคอเมดีครั้งแรกของการ์ลิน “Young & Handsome: A Night with Jeff Garlin” ออกอากาศในวันที่ 25 กันยายน ปี 2009 และวางจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีโดยเชาท์! แฟคทอเรีเรียบร้อยแล้ว ดีวีดีพิเศษนี้ถ่ายทำที่โรงละครเซคคันด์ ซิตี้ อันโด่งดังในชิคาโก ในเดือนมีนาคม ปีนี้ เขาได้แสดงในคอเมดีโดยโคลัมเบีย พิคเจอร์สเรื่อง “The Bounty Hunter” ที่นำแสดงโดยเจนนิเฟอร์ อนิสตันและเจอราร์ด บัตเลอร์ หนังสือ “My Footprint” ของเขาได้รับการตีพิมพ์โดยไซมอ สปอตไลท์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี 2010
บอนนี ฮันท์ (ดอลลี) เป็นนักแสดงหญิงมากความสามารถที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมี, ลูกโลกทองคำ และแซ็ก อวอร์ด เธอประสบความสำเร็จมาแล้วในโลกภาพยนตร์ โทรทัศน์และละครในฐานะนักแสดง มือเขียนบทและผู้กำกับ
ฮันท์เติบโตขึ้นในถิ่นชนชั้นแรงงานของชิคาโก้ เธอได้ร่วมแสดงกับคณะเซคคันด์ ซิตี้ ที่โด่งดังพร้อมๆ กับการทำงานเป็นพยาบาลตรวจภายในในโรงพยาบาลนอร์ธเวสเทิร์น เมโมเรียล ไม่นานนัก ฮันท์ก็เริ่มเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของผู้ชมด้วยบทคามีโอสุดฮาที่ติดตรึงในความทรงจำของเธอในภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น “Rain Man” ในบทสาวเสิร์ฟที่ทำไม้จิ้มฟันหล่นและในเรื่อง “Dave” ในบทไกด์นำชมทำเนียบขาว ที่ปล่อยประโยคอิมโพรไวส์เด็ด “เรากำลังเดิน เรากำลังเดิน …” ออกมา
ฮันท์เริ่มต้นแสดงซีรีส์จอแก้วจากบทลูกาวของโจนาธาน วินเตอร์สในซีรีส์เอบีซีเรื่อง “Davis Rules” และเธอก็ได้เป็นขาประจำในซีรีส์ซิทคอมทางเอ็นบีซีเรื่อง “Grand” แต่ไม่นานหลังจากนั้น ฮันท์ก็เริ่มขยายขอบเขตความรู้ของตัวเองในกระบวนการสร้างโปรเจ็กต์จอแก้ว เธอได้สร้างประวัติศาสตร์ในแวดวงจอแก้วเมื่อเธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่เขียนบท อำนวยการสร้างและแสดงในซีรีส์ไพรม์ไทม์เรื่อง “The Building” ให้กับซีบีเอส ซีรีส์คอเมดีเรื่องนี้นำแสดงโดยฮันท์และเพื่อนร่วมโรงละครเซคคอนด์ ซิตี้ บอนนีได้สนับสนุนการอิมโพรไวส์บทในหมู่นักแสดง และไม่นานนัก โปรเจ็กต์ที่ท้าทายเรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง นอกจากนี้ เธอยังได้อำนวยการสร้างซีรีส์ของตัวเองด้วยการใช้กล้องห้าตัวแทนที่จะเป็นสี่ และมีการใช้ไดอะล็อคทับซ้อนกัน และเลือกที่จะไม่ใช้แทร็คหัวเราะ ปัจจุบันนี้ เทคนิคหลายอย่างที่ฮันท์ใช้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับซีรีส์ไพรม์ไทม์และเคเบิลไปแล้ว
เธอได้สร้างซีรีส์ชื่อดังอีกสองเรื่อง ด้วยการเขียนบท อำนวยการสร้าง กำกับและนำแสดงใน “The Bonnie Hunt Show” รายการทอล์คโชว์ยอดนิยมช่วงกลางวันของซีบีเอส ที่ปัจจุบันอยู่ในซีซันที่สองและ “Life with Bonnie” สำหรับเอบีซี ที่ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีและลูกโลกทองคำ
ฮันท์ยังคงสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ที่น่าประทับใจอย่างต่อเนื่อง โดยเธอได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมจากการแสดงบทต่างๆ เช่นรับบทสะใภ้จอมจับผิดของทอม ครูซใน “Jerry Maguire,” ภรรยาของทอม แฮงค์ใน “The Green Mile,” สาวคนแรกของโรบิน วิลเลียมส์ใน “Jumanji” รวมไปถึงการแสดงใน “Random Hearts” กับแฮร์ริสัน ฟอร์ด, ภาพยนตร์ของนอร์แมน จูวิสันเรื่อง “Only You,” “Cheaper by the Dozen” และ “Cheaper by the Dozen 2” ที่ร่วมแสดงโดยสตีฟ มาร์ติน และภาพยนตร์ฮิตสำหรับครอบครัวเรื่อง “Beethoven” และ “Beethoven’s 2nd” สำหรับเอ็มจีเอ็ม บอนนีได้เขียนบท กำกับและแสดงในภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงชื่นชมเรื่อง “Return to Me” ที่นำแสดงโดยเดวิด ดูคอฟนีย์และมินนี ไดรฟ์เวอร์
ผลงานภาพยนตร์อินดีของเธอได้แก่การนำแสดงใน “Stolen Summer,” “Loggerheads” และภาพยนตร์โดยเจฟฟ์ การ์ลิน เพื่อนชาวชิคาโกของเธอ “I Want Someone to Eat Cheese With” ผลงานที่เธอร่วมงานกับดิสนีย์/พิกซาร์ได้แก่งานพากย์เสียงภาพยนตร์อนิเมชันฮิตเรื่อง “A Bug’s Life,” “Monsters, Inc.” และ “Cars” (ซึ่งเธอได้รับทั้งเครดิตการพากย์เสียงและการเขียนบท)
ฮันท์ได้ทำงานการกุศลอย่างต่อเนื่อง เธอได้ระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยหาวิธีและยารักษาโรคมะเร็งและโรครูมาตอยด์ และเธอก็ยังหาเวลาที่จะสนับสนุนองค์กรต่างๆ เช่น เดอะ เมค อะ วิช ฟาวน์เดชัน, เดอะ คริสโตเฟอร์ แอนด์ ดานา รีฟ ฟาวน์เดชันและอเมริกัน เวเทรันส์
การปรากฏตัวสุดฮาอย่างสม่ำเสมอของฮันท์ในรายการทอล์คโชว์ทำให้เธอได้รับการยกย่องจากนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลี ให้เป็นแขกรับเชิญ (รายการทอล์คโชว์) ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในอเมริกา
วู้ปปี้ โกลด์เบิร์ก (สเตรทช์) เป็นหนึ่งในศิลปินระดับแนวหน้าที่ได้รับทั้งรางวัลแกรมมี (“Whoopi Goldberg,” 1985), รางวัลอคาเดมี อวอร์ด (“Ghost,” 1991), รางวัลลูกโลกทองคำ (“The Color Purple,” 1985 และ “Ghost,” 1991), รางวัลเอ็มมี (พิธีกรรายการทางเอเอ็มซี “Beyond Tara: The Extraordinary Life of Hattie McDaniel,” 2002 และ “The View” ในปี 2009) และรางวัลโทนี (โปรดิวเซอร์ละครเรื่อง “Thoroughly Modern Millie,” 2002) เธอเป็นที่รู้จักดีไม่แพ้กันจากการทำงานสังคมสงเคราะห์ในประเด็นของเด็กๆ คนไร้บ้าน สิทธิมนุษยชน การศึกษา การทำลายข้าวของ และสงครามต่อต้านเอดส์ หนึ่งในบรรดากิจกรรมการกุศลมากมายของเธอคือการที่เป็นเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์กรสหประชาชาติ
โกลด์เบิร์กเกิดและเติบโตในนิวยอร์ก ซิตี้ เธอทำงานในโรงละครและโรงละครอิมโพรไวส์ในซานดิเอโกและเบย์ แอเรีย ที่ซึ่งเธอได้แสดงกับคณะละครแบล็ค สตรีท ฮอว์คอาย ที่นั่นเองที่เธอได้สร้างตัวละคร ซึ่งนำไปสู่ “The Spook Show” ขึ้นมา และพัฒนามันกลายเป็นละครฮิตทางบรอดเวย์ อัลบัมที่ได้รับรางวัลแกรมมีและรายการพิเศษทางเอชบีโอที่ช่วยแจ้งเกิดให้กับเธอ
โกลด์เบิร์กได้เปิดตัวในโลกภาพยนตร์ด้วยผลงานของสตีเวน สปีลเบิร์ก ที่สร้างขึ้นจากนิยายโดยอลิซ วอล์คเกอร์เรื่อง “The Color Purple” ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ การแสดงของเธอในภาพยนตร์เรื่อง “Ghost” ทำให้เธอได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ผลงานภาพยนตร์ของเธอได้แก่ “Jumpin’ Jack Flash,” “Clara’s Heart,” “The Long Walk Home,” “Soapdish,” “The Player,” “Sarafina!,” “Sister Act,” “Made in America,” “Corrina, Corrina,” “Boys on the Side,” “Eddie,” “The Associate,” “Ghosts of Mississippi,” “How Stella Got Her Groove Back,” “Girl, Interrupted,” “Kingdom Come” และ “Rat Race” เธอได้พากย์เสียงตัวละครในภาพยนตร์อนิเมชันหลายเรื่องเช่น “The Lion King,” “Racing Stripes,” “Doogal” และ “Everyone’s Hero” หลังจากนี้ เธอจะได้แสดงประกบเคท ฮัดสัน, เกล การ์เซีย เบอร์นัลและเคธี เบทส์ในภาพยนตร์เรื่อง “Earthbound”
ด้านจอแก้ว โกลด์เบิร์กได้แสดงในห้าซีซันของซีรีส์ “Star Trek: The Next Generation,” ร่วมแสดงกับจีน สเตเปิลทอร์ใน “Bagdad Caf?” และเป็นพิธีกรรายการทอล์คโชว์ช่วงดึกของตัวเอง เธอได้แสดงในดรามาเอชบีโอที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีเรื่อง “In the Gloaming” ที่กำกับโดยคริสโตเฟอร์ รีฟและมินิซีรีส์เรื่อง “Alice in Wonderland” และ “The Magical Legend of the Leprechauns” เธอได้นำแสดงในซิทคอมเอ็นบีซีเรื่อง “Whoopi” และภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เรื่อง “It’s a Very Merry Muppet Christmas Movie” และภาพยนตร์โชว์ไทม์เรื่อง “Good Fences” ซึ่งเธอร่วมอำนวยการสร้างกับเพื่อนร่วมแสดงแดนนี โกลเวอร์ เธอได้อำนวยการสร้างและนำแสดงซีรีส์โดยนิค จูเนียร์เรื่อง “Whoopi’s Littleburg” และเมื่อเร็วๆ นี้ เธอก็เพิ่งเป็นดารารับเชิญแสดงประกบเบนจามิน แบรทท์ในซีรีส์เอแอนด์อีเรื่อง “The Cleaner”
โกลด์เบิร์กได้ควบคุมงานสร้างมิวสิคัลบรอดเวย์เรื่อง “Thoroughly Modern Millie” ซึ่งได้รับหกรางวัลโทนี อวอร์ด รวมถึงสาขามิวสิคัลยอดเยี่ยม นอกจากนี้ เธอยังได้อำนวยการสร้าง “Whoopi…The 20th Anniversary” และ “Ma Rainey’s Black Bottom” (ซึ่งเธอได้นำแสดงด้วย) รวมถึงมิวสิคัลใหม่บนเวทีเวสต์เอนด์เรื่อง “Sister Act” ที่ลอนดอน พัลลาเดียม นอกจากนี้ เธอยังจะอำนวยการสร้างละครมิวสิคัลบรอดเวย์เรื่อง “White Noise” อีกด้วย
เธอได้แสดงซีรีส์และรายการพิเศษทางโทรทัศน์หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงการแสดงใน “Comic Relief” เก้าครั้งกับบิลลี คริสตัลและโรบิน วิลเลียมส์ เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีจากการเป็นพิธีกรการถ่ายทอดสดการประกาศผลรางวัลอคาเดมี อวอร์ดครั้งที่ 66, 68 และ 71 และเธอก็ได้กลับมาทำหน้าที่พิธีกรอีกครั้งในปี 2002 ที่โกดัก เธียเตอร์แห่งใหม่
ในปี 1992 โกลด์เบิร์กได้เปิดตัวในฐานะนักเขียนด้วยหนังสือสำหรับเด็กเล่มแรก “Alice” ผลงานเล่มที่สองของเธอที่มีชื่อเรียบง่ายว่า “Book” กลายเป็นเบสต์เซลเลอร์ทั่วโลก ไฮเปอเรียน บุ๊คส์ได้ตีพิมพ์ “Whoopi’s Big Book of Manners” ในปี 2006 และได้เริ่มต้นซีรีส์หนังสือเรื่องใหม่ “Sugar Plum Ballerinas” ในปี 2008 ด้วย “Plum Fantastic” ตามมาด้วย “Toeshoe Trouble” ในปี 2009 และ “Perfectly Prima” ในต้นปี 2010
หนึ่งในรางวัลและเกียรติยศที่เธอได้รับคือการที่เธอได้ประทับรอยฝ่ามือ ฝ่าเท้าและผมเปียของเธอตรงหน้าเกราแมนส์ ไชนีส เธียเตอร์ ที่โด่งดัง และได้กลายเป็นดาวประดับฮอลลีวูด วอล์ค ออฟ เฟมตรงหน้าโกดัก เธียเตอร์ด้วย
อาร์. ลี เออร์มีย์ (ซาร์จ) ได้แสดงในภาพยนตร์กว่า 60 เรื่องตลอดระยะเวลา 25 ปีและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำและได้รับรางวัลสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์บอสตันสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์โดยสแตนลีย์ คูบริคเรื่อง “Full Metal Jacket”
เออร์มีย์ได้เข้ารับใช้กองทัพเรืออเมริกานาน 11 ปี เขาก้าวขึ้นไปถึงระดับสตาฟ NCO และทำหน้าที่เป็นครูฝึกและออกปฏิบัติการในเวียดนามนานสองปี เขาปลดประจำการด้วยเหตุผลด้านสุขภาพในปี 1971 หลังจากนั้น เขาก็ใช้เงินที่เขาได้รับเพื่อเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมะนิลาในประเทศฟิลิปปินส์ ที่ซึ่งเขาได้เรียนการละคร ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลากำลังถ่ายทำเรื่อง “Apocalypse Now” อยู่ในบริเวณนั้นพอดีและเลือกเออร์มีย์ให้มาร่วมแสดงในเรื่องนั้นด้วย ซึ่งนั่นเองคือจุดเริ่มต้นอาชีพนักแสดงของเขา
ผลงานภาพยนตร์ส่วนหนึ่งของเขาได้แก่ “Switchback” ที่แสดงประกบเดนนิส เควดและแดนนี โกลเวอร์, “Dead Man Walking,” “Seven,” “Leaving Las Vegas,” “Murder in the First,” “Life,” “The Frighteners” และ “Sommersby” รวมไปถึงบทบาทที่ได้รับเสียงชื่นชมของเขาจากการแสดงประกบจาเร็ด เลโตใน “Prefontaine” นอกจากนี้ เออร์มีย์ยังได้ร่วมแสดงกับเจสัน บิ๊กส์, แจ็ค แบล็ค, สตีฟ ซาห์นและอแมนดา พีทในภาพยนตร์เรื่อง “Saving Silverman,” แสดงประกบเจฟฟ์ บริดเจ็สในเรื่อง “Scenes of the Crime” และประกบฮาร์วีย์ เคเทลใน “Taking Sides” สำหรับนิวไลน์ เขาได้แสดงกับคริสพิน โกลเวอร์ในภาพยนตร์รีเมกเรื่อง “Willard”และรีเมก “Texas Chainsaw Massacre” และพรีเควล “Texas Chainsaw Massacre: The Beginning” ที่เขากลับมารับบทนายอำเภอฮอยท์ ที่โด่งดังของเขาอีกครั้ง
เออร์มีย์ไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับจอแก้ว โดยเขาได้แสดงในภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์หลายเรื่องเช่นภาพยนตร์เอชบีโอเรื่อง “Weapons of Mass Distraction,” ภาพยนตร์ทีเอ็นทีเรื่อง “The Rough Riders” และ “You Know My Name” และภาพยนตร์โชว์ไทม์เรื่อง “The Apartment Complex” นอกจากนี้ เออร์มีย์ยังเป็นพิธีกรรายการ “Mail Call” ทางฮิสทอรี แชนแนล ซึ่งเพิ่งออกอากาศครบ 100 เอพิโซดในช่วงกว่าแปดซีซัน รายการนี้โฟกัสไปที่เทคโนโลยีทางการทหาร ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ รายการใหม่ของเขาที่ชื่อ “Lock ’N Load with R. Lee Ermey” ก็กำลังแพร่ภาพอยู่ทางฮิสทอรี แชนแนลและฮิสทอรี อินเตอร์เนชันแนลด้วยเช่นกัน
ริชาร์ด ไคน์ (บุ๊คเวิร์ม) ผู้ประสบความสำเร็จทั้งบนเวที จอแก้วและจอเงิน ยังคงสร้างคำนิยามใหม่ให้กับคำว่า นักแสดงสมทบ อย่างไม่หยุดยั้ง ผู้ชมจอแก้วอาจรู้จักเขาดีที่สุดจากบท “พอล แลสซิเตอร์” เลขาฝ่ายสื่อของนายกเทศมนตรีนิวยอร์กในซีรีส์เอบีซีเรื่อง “Spin City”
ด้านจอเงิน ล่าสุดไคน์เพิ่งได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง “The Hereafter” ที่กำกับโดยคลินท์ อีสต์วู้ด บทลุงอาร์เธอร์ของเขาในภาพยนตร์โดยพี่น้องโคเอนที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์เรื่อง “A Serious Man” ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก เขาได้แสดงในภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอินดีเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ดหลายเรื่องเช่น “The Visitor” และ “The Station Agent” ซึ่งทั้งสองเรื่องกำกับโดยทอม แม็คคาร์ธี, บทดร.โรเบิร์ต ฟาร์ลีย์ในภาพยนตร์มิราแมกซ์เรื่อง “Spymate,” ในภาพยนตร์จากเทศกาลซันแดนซ์เรื่อง “Johns” ที่กำกับโดยสก็อต ซิลเวอร์และใน “The Grand” ที่กำกับโดยแซ็ค เพนน์ ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ “Hacks,” “Stargate” และ “Mr. Saturday Night” ส่วนผลงานการพากย์เสียงของเขาคือการพากย์เสียงรถบรรทุกในภาพยนตร์ดิสนีย์/พิกซาร์เรื่อง “Cars,” บทตั๊กแตนแสนทึ่มใน “A Bug’s Life” และทอมใน “Tom and Jerry” (และเขาก็ยังคงเป็นนักพากย์เพียงคนเดียวที่ได้พากย์เสียงตัวละครตัวนี้)
ด้านจอแก้ว นอกเหนือไปจากบทดังของเขาใน “Spin City” แล้ว เขายังได้รับบทมาร์ค อดีตสามีของฟรานในซีรีส์เอ็นบีซีเรื่อง “Mad About You” เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้รับบทดารารับเชิญในซีรีส์ “Scrubs,” “Still Standing,” “The Division” และ “Miss Match” และได้รับบทประจำในซีรีส์ “Curb Your Enthusiasm” กับแลร์รี เดวิด ผลงานจอแก้วเรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่การเป็นขาประจำใน “Carol and Company” กับแครอล เบอร์เน็ตต์, ซีรีส์เอบีซีเรื่อง “Blue Skies” and “A Whole New Ball Game,” “Unsub” และ “Stargate Atlantis”
ด้านละครเวที เขาได้รับบทแม็กซ์ เบียลีสต็อคในมิวสิคัลบรอดเวย์ฮิตโดยเมล บรู๊คส์เรื่อง “The Producers” ที่จัดแสดงที่โรงละครเซนต์ เจมส์ เธียเตอร์ในนิวยอร์ก นอกจากนี้ เขายังได้แสดงละครบรอดเวย์คอเมดีฮิตโดยชาร์ลส์ บุสช์เรื่อง “The Tale of the Allergist’s Wife” ด้วย เขาได้แสดงละครเรื่อง “Candide” ที่นิวยอร์ก ซิตี้ โอเปราในลินคอล์น เซ็นเตอร์รวมถึงละครเรื่อง “The Lady in Question” ที่จัดแสดงที่โรงละครเบย์ สตรีท เธียเตอร์ในแซ็ก ฮาร์เบอร์, นิวยอร์ก เขาได้แสดงละครมิวสิคัลโดยสตีเฟน ซอนด์เฮมเรื่อง “Bounce” ที่กำกับโดยฮัล ปรินซ์ และที่วิลเลียมส์ทาวน์ เธียเตอร์ เฟสติวัล ที่เขาได้แสดงประกบอีริค สโตลท์และคริสโตเฟอร์ อีวาน เวลช์ ใน “Rosencrantz and Guildenstern Are Dead” ผลงานละครเวทีเรื่องอื่นๆ ได้แก่ “Sly Fox” และละครโดยแลร์รี เจลบาร์ทเรื่อง “Power Failure” ที่กำกับโดยอาร์เธอร์ เพนน์และได้แสดงละครบรอดเวย์และที่แอ็กเตอร์ส สตูดิโอ ฟรี เธียเตอร์ คัมปะนี
ประวัติทีมผู้สร้าง
ลี อังค์ริช (ผู้กำกับ) ได้เข้าทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในเดือนเมษายน ปี 1994 และได้ทำหน้าที่สำคัญหลายครั้งในภาพยนตร์อนิเมชันเกือบทุกเรื่องนับตั้งแต่นั้นมา เขาเริ่มต้นทำงานในฐานะมือลำดับภาพของ “Toy Story” และมือลำดับภาพซูเปอร์ไวซิงใน “A Bug’s Life”
เขาเปิดตัวผลงานการกำกับเรื่องแรกในปี 1999 ในฐานะผู้ร่วมกำกับภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำเรื่อง “Toy Story 2” นอกเหนือจากนั้น อังค์ริชยังได้ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่อง “Monsters, Inc” และรับหน้าที่ผู้กำกับร่วมและมือลำดับภาพซูเปอร์ไวเซอร์ในภาพยนตร์อนิเมชันที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Finding Nemo” และอังค์ริชยังได้ทำหน้าที่ลำดับภาพในภาพยนตร์พิกซาร์ที่ได้รางวัลอีกสองเรื่องคือ “Cars” และ “Ratatouille”
ในปี 2009 อังค์ริชและเพื่อนๆ ผู้กำกับจากพิกซาร์ของเขาได้รับรางวัลสิงโตทองคำ เกียรติยศแห่งชีวิตจากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 66
ก่อนหน้าที่จะเข้าทำงานที่พิกซาร์ อังค์ริชได้ทำงานในแวดวงจอแก้วหลายปีในตำแหน่งมือลำดับภาพและผู้กำกับ เขาสำเร็จการศึกษาจากสคูล ออฟ ซีนีมา/เทเลวิชันแห่งมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนียในปี 1991 ที่ซึ่งเขาได้กำกับภาพยนตร์ขนาดสั้นที่ได้รับรางวัลหลายเรื่อง
อังค์ริชเป็นชาวชาร์กริน ฟอลส์, โอไฮโอ เขาใช้เวลาในวัยเด็กไปกับการแสดงที่โรงละครคลีฟแลนด์ เพลย์เฮาส์ เขาใช้ชีวิตในมาริน เคาน์ตี้, แคลิฟอร์เนีย กับภรรยาและลูกๆ สามคน
ดาร์ลา เค. แอนเดอร์สัน (ผู้อำนวยการสร้าง) ได้เข้าทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในปี 1993 และนับตั้งแต่นั้นมา เธอก็ได้ใช้พรสวรรค์โดดเด่นในการอำนวยการสร้างของเธอในภาพยนตร์อนิเมชันที่โด่งดังและเป็นที่รักที่สุดหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง “Toy Story,” “A Bug’s Life”และ “Monsters, Inc” แอนเดอร์สันได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำเรื่อง “Cars” ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลผู้อำนวยการสร้างแห่งปีประเภทภาพยนตร์อนิเมชันจากสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกา
ก่อนหน้าที่จะทำงานภาพยนตร์ แอนเดอร์สันรับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างกลุ่มโฆษณาของพิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ ก่อนหน้าที่จะเข้าทำงานที่พิกซาร์ เธอได้เข้าทำงานในแองเจล สตูดิโอ ในคาร์ลส์แบด ในตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างบริหารแผนกโฆษณา ที่นี่เองที่ทำให้เธอได้รู้จักโลกของคอมพิวเตอร์ กราฟฟิคสามมิติ และหลังจากนั้น เธอก็ย้ายไปย่านเบย์ แอเรียด้วยความตั้งใจที่จะทำงานกับพิกซาร์
ในฐานะหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของสตูดิโอและแวดวงอนิเมชัน แอนเดอร์สันจึงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารแห่งสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกาในเดือนกรกฎาคม ปี 2008 โดยเธอเป็นผู้อำนวยการสร้างจากแวดวงอนิเมชันคนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว
แอนเดอร์สันเกิดและเติบโตในเกลนเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย เธอได้ศึกษาการออกแบบเชิงนิเวศน์ที่มหาวิทยาลัยซานดิเอโก้ ไม่นานหลังจากนั้น เธอก็เริ่มจับงานในแวดวงบันเทิง ด้วยการทำงานให้กับบริษัทโปรดักชันจอแก้วและจอเงินในซานดิเอโก ปัจจุบัน แอนเดอร์สันใช้ชีวิตอยู่ในย่านเบย์แอเรีย ในซานฟรานซิสโก
ไมเคิล อาร์น (มือเขียนบท) เข้าทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในปี 2005 ในปี 2007 เขาได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา “Little Miss Sunshine” “Toy Story 3” ที่สร้างขึ้นจากเรื่องราวโดยจอห์น แลสซีเตอร์, แอนดรูว์ สแตนตันและลี อังค์ริชเป็นบทภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาเขียนให้กับพิกซาร์ เขาใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก
จอห์น แลสซีเตอร์ (ผู้ควบคุมงานสร้าง) ดำรงตำแหน่งซีซีโอแห่งวอลท์ ดิสนีย์และพิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์และที่ปรึกษาฝ่ายครีเอทีพคนสำคัญที่วอลท์ ดิสนีย์ อิเมจิเนียริง เขาเป็นผู้กำกับที่เคยได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดมาแล้วสองครั้งและทำการดูแลภาพยนตร์รวมถึงโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทุกเรื่องของพิกซาร์และดิสนีย์ แลสซีเตอร์เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมหลายเรื่องเช่น “Toy Story,” “A Bug’s Life,” “Toy Story 2” และ “Cars” นอกเหนือจากนั้น เขายังได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Monsters, Inc.,” “Finding Nemo,” “The Incredibles,” “Ratatouille,” “WALL?E,” “Bolt” และ “Up” ภาพยนตร์ชื่อดังปีที่แล้ว ที่ได้รับเกียรติในการเป็นภาพยนตร์เปิดงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2009 และได้รับสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ดในสาขาภาพยนตร์อนิเมชันยอดเยี่ยมและดนตรีประกอบดังเดิมยอดเยี่ยม นอกจากนี้ แลสซีเตอร์ยังได้ทำหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ดิสนีย์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์เรื่อง “The Princess and the Frog” มิวสิคัลคอเมดีที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นในนิวออร์ลีนส์อีกด้วย
แลสซีเตอร์ได้เขียนบท กำกับและสร้างอนิเมชันให้กับภาพยนตร์ขนาดสั้นหลายเรื่องให้กับพิกซาร์ ซึ่งรวมถึง “Luxo Jr.” (1986), “Red’s Dream” (1987), “Tin Toy” (1988) และ “Knickknack” (1989) นอกจากนี้ เขายังได้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างหรือผู้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นหลายเรื่อง เช่น “Geri’s Game,” “For the Birds,” “One Man Band,” “Lifted,” “Presto”และ “Partly Cloudy” ภาพยนตร์พิกซาร์เรื่อง “Tin Toy” กลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชันคอมพิวเตอร์เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์เมื่อมันได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาภาพยนตร์อนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 1988 พิกซาร์ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดอีกสองครั้งจาก “Geri’s Game” (1997) และ “For the Birds” (2000)
ภายใต้การดูแลของเขา ภาพยนตร์อนิเมชันและภาพยนตร์อนิเมชันขนาดสั้นของพิกซาร์ได้รับรางวัลเกียรติยศจากนักวิจารณ์และจากวงการภาพยนตร์มากมาย เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาความสำเร็จพิเศษในปี 1995 จากความเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงาน “Toy Story” ผลงานของเขาใน “Toy Story” ยังส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์อนิเมชันได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลในสาขานี้
ในปี 2004 แลสซีเตอร์ได้รับรางวัลคุณูปการต่อภาพของภาพยนตร์จากสมาพันธ์ผู้กำกับศิลป์และได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน และเขายังได้รับรางวัล 2008 วินเซอร์ แม็คเคย์ อวอร์ดจากเอเอสไอเอฟเอ-ฮอลลีวูด สำหรับความสำเร็จและคุณูปการที่เขามีต่อวงการอนิเมชันอีกด้วย ในปี 2009 แลสซีเตอร์และเพื่อนๆ ผู้กำกับที่พิกซาร์ของเขาได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งชีวิตสิงโตทองคำจากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 66 นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัลเดวิด โอ. เซลส์นิค ประเภทภาพยนตร์ จากสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกาในปี 2010 ทำให้เขาเป็นผู้อำนวยการสร้างจากภาพยนตร์อนิเมชันคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
ก่อนหน้าการก่อตั้งพิกซาร์ขึ้นในปี 1986 แลสซีเตอร์เป็นสมาชิกแผนกคอมพิวเตอร์ในลูคัสฟิล์ม ลิมิเต็ด ที่ซึ่งเขาได้ออกแบบและสร้างอนิเมชันให้กับตัวละครอัศวินกระจกแก้วในภาพยนตร์ที่อำนวยการสร้างโดยสตีเวน สปีลเบิร์กในปี 1985 เรื่อง “Young Sherlock Holmes”
แลสซีเตอร์ได้เข้าศึกษาหลักสูตรอนิเมชันตัวละครที่แคลอาร์ต และได้รับปริญญาตรีสาขาภาพยนตร์จากที่นั่นในปี 1979 ระหว่างที่เขาศึกษาที่แคลอาร์ต เขาได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อนิเมชันสองเรื่อง ซึ่งได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดนักศึกษาสาขาอนิเมชันทั้งคู่ ได้แก่ “Lady and the Lamp” (1979) และ “Nitemare” (1980) แลสซีเตอร์ได้รับรางวัลเป็นครั้งแรกเมื่ออายุห้าขวบ เมื่อเขาได้รับเงินรางวัล 15 เหรียญจากโมเดล โกรเซอรี มาร์เก็ตในวิทเทียร์, แคลิฟอร์เนีย จากภาพวาดระบายสีคนขี่ม้าไร้หัว
แรนดี้ นิวแมน (คอมโพสเซอร์ เพลงและดนตรีประกอบ) เป็นคอมโพสเซอร์และนักแต่งเพลงเจ้าของรางวัลออสการ์, แกรมมีและเอ็มมี ผู้ซึ่งผลงานภาพยนตร์ของเขารวมถึง “James and the Giant Peach” (1996), “A Bug’s Life,” “Monsters, Inc.” และ “Cars” ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เขาได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลออสการ์ในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากผลงานของเขาในภาพยนตร์อนิเมชันชื่อดังของดิสนีย์เรื่อง “The Princess and the Frog”
นิวแมนเคยได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด 17 ครั้ง ซึ่งรวมถึงสองรางวัลสำหรับทั้ง “Ragtime” (1981), “Monsters, Inc.” และ “Toy Story” เขาได้รับออสการ์เป็นครั้งแรกในปี 2002 จากเพลง “If I Didn’t Have You” จากเรื่อง “Monsters Inc” และเพลงนี้ยังทำให้เขาได้รับรางวัลแกรมมี อวอร์ดเป็นครั้งที่สองจากทั้งหมดห้าครั้งที่เขาได้รับด้วย เพลง “When She Loved Me” ที่นิวแมนแต่งให้กับเรื่อง “Toy Story 2” ได้รับรางวัลแกรมมีสาขาเพลงยอดเยี่ยมที่แต่งขึ้นสำหรับภาพยนตร์ โทรทัศน์หรือสื่อทางภาพอื่นๆ
ผลงานการแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของนิวแมนได้แก่ “The Natural,” “Avalon,” “Parenthood,” “Seabiscuit,” “Awakenings,” “The Paper,” “Pleasantville,” “Meet the Parents” และ “Meet the Fockers” นอกจากนี้ เขายังแต่งเพลงประกอบซีรีส์โทรทัศน์ ซึ่งรวมถึงเพลงธีม “It’s a Jungle Out There” จากซีรีส์ “Monk” อีกด้วย
นิวแมน คอมโพสเซอร์มากความสามารถได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “Three Amigos!”(1986) กับสตีฟ มาร์ตินและลอร์น ไมเคิลส์ และได้แต่งเพลงสามเพลงให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย
นิวแมนเกิดในปี 1943 ในครอบครัวนักดนตรี เขาเริ่มต้นอาชีพนักแต่งเพลงตั้งแต่อายุได้ 17 ปี ด้วยการแต่งเพลงให้กับบริษัทเพลงแห่งหนึ่งในลอสแองเจลิส ลุงของเขา อัลเฟรด, ไลออเนลและเอมิลต่างก็เป็นคอมโพสเซอร์ภาพยนตร์และวาทยกรที่ได้รับการนับหน้าถือตา ส่วนเออร์วิง นิวแมน พ่อของแรนดี ซึ่งเป็นแพทย์ชื่อดัง ก็ยังเคยแต่งเพลงให้กับบิง ครอสบี้
ในปี 1968 เขาได้มีผลงานการบันทึกเสียงออร์เคสตราครั้งแรกในชื่อ “Randy Newman” หลังจากนั้นไม่นาน บทเพลงที่พิเศษสุดของนิวแมนก็ได้รับการขับขานโดยศิลปินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแพท บูน, เรย์ ชาร์ลส์, เพ็กกี ลีหรือวิลสัน พิคเก็ตต์
นักวิจารณ์ชื่นชมผลงานชิ้นที่สองของนิวแมนในปี 1970 ที่ชื่อ “12 Songs” อย่างมาก และสาธารณชนก็เริ่มให้ความสนใจงานเพลงที่เสียดสีประชดประชันของเขามากขึ้นเรื่อยๆ จากอัลบัมอื่นๆ ที่ตามมาเช่น “Live,” ในปี 1970, “Sail Away” ปี 1972 และ “Good Old Boys” ที่สร้างประเด็นขัดแย้งในปี 1974 ต่อมา อัลบัมปี 1977 ของเขา “Little Criminals” มีเพลงฮิตสุดโต่งที่ชื่อ “Short People”
ในยุค 80s นิวแมนได้แบ่งเวลาไปกับการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์และบันทึกอัลบัมของตัวเอง ซึ่งรวมถึงอัลบัมปี 1988 ในชื่อ “Land of Dreams” อีกหนึ่งผลงานน่าทึ่งที่นำเสนอดนตรีที่ทรงพลังที่สุดและเป็นส่วนตัวที่สุดของเขา
ในยุค 90s นิวแมนได้ออกอัลบัม “Faust” แบบคอเมดีออกมา ซึ่งมีการแสดงของดอน เฮนลีย์, เอลตัน จอห์น, บอนนี เรทท์, ลินดา รอนสแต็ดท์และเจมส์ เทย์เลอร์ในนั้นด้วย, อัลบัม “Guilty: 30 Years of Randy Newman” และอัลบัมใหม่ปี 1999 สำหรับดรีมเวิร์คส์ในชื่อ “Bad Love”
อัลบัมสตูดิโอชุดล่าสุดของนิวแมน “Harps and Angels” โปรดิวซ์โดยมิทเชล ฟรูมและเลนนี วารอนเกอร์ และวางจำหน่ายในเดือนสิงหาคม ปี 2008