กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สกศ.
รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการครูพันธุ์ใหม่ว่ามี 2 โครงการด้วยกัน โครงการแรก ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว คือ ผลิตครูพันธุ์ใหม่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง มีเป้าหมายผลิตครู 3 รุ่น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 - 2554 ทั้งหมด 6,600 คน ในปีแรกมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วม 24 แห่ง โดยคัดเลือกนักศึกษาชั้นปีที่ 4เรียนดี ได้เกรด 3 ขึ้นไป เมื่อจบการศึกษาจะบรรจุเข้ารับราชการทันทีในปี 2554 จำนวน 2,000 คน โดยไม่ต้องสอบเข้าเป็นครูแต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับเป็นการประกันงาน ส่วนรุ่นที่สองก็มีการประกันการมีงานในลักษณะเดียวกัน โดยจะคัดเลือกนักศึกษาที่อยู่ชั้นปี 4 และจะมีเวลาบ่มเพาะอีก 1 ปี ในช่วงนี้จะได้รู้ล่วงหน้าหนึ่งปีว่าจบแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ในพื้นที่ที่อัตราครูขาดแคลน เช่น อยู่ตามแนวชายขอบ รุ่นที่ 3 จะมีการคัดเลือกและการประกันการมีงานทำอีกเช่นกัน รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า ทั้ง 6,600 คน จะเป็นครูพันธุ์ใหม่ หมายความว่าเป็นครูที่คัดเลือกเกรดที่ดีและจะมีการบ่มเพาะครูเหล่านี้ อย่างไรก็ตามอาจพูดได้ไม่เต็มที่นักว่าเป็นครูพันธุ์ใหม่จริงๆ เพราะต้องใช้เวลาบ่มเพาะยาวกว่านี้แต่ที่ต้องมีก็เพื่อเร่งรัดให้ได้รับผู้มีผลการเรียนดีเข้าเป็นครู ดังนั้น จึงมีโครงการที่สองของครูพันธุ์ใหม่ ใช้งบประมาณ 4,235 ล้านบาท โดยจะผลิตครู 5 รุ่นด้วยกัน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554-2558 รวม 30,000 คน โครงการนี้แบ่งเป็นสองลักษณะด้วยกัน โดยกลุ่มที่เรียนครุศาสตร์ 5 ปี 17,500 คน ส่วนคนที่จบสาขา เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ภาษาไทย สังคมศึกษาและสาขาใดก็ได้มาเรียนอีกปีครึ่ง เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จำนวน 12,500 คน ผู้ที่เข้าโครงการนี้ทั้งหมดจะได้รับประกันการมีงานทำ แต่กลุ่มที่จะบรรจุลงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ชายขอบจะได้รับทุนด้วย
"จำนวน 36,600 คนที่เรียกว่าครูพันธุ์ใหม่ จะออกไปทดแทนครูของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่จะเกษียณอายุในสิบปีข้างหน้า 188,000 คน จากครูทั้งหมดที่อยู่ในระบบ 450,000 คน ซึ่งการทดแทนในจำนวนดังกล่าว ถือว่าน้อยมาก แต่เชื่อมั่นว่ามีคุณภาพ ส่วนเรื่องใหญ่ที่กำลังพิจารณาอยู่ในคณะอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา (กนป.) เป็นเรื่องผลิตและใช้ครู พัฒนาครูทั้งระบบ นอกจากนี้ ส่วนการสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทย ตัวเลขที่น่าสนใจคือในอีกสิบปีข้างหน้าร้อยละ 38 ของอาจารย์คณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์เหล่านี้จะเกษียณอายุ ข้อเสนอทั้งหมดในเรื่องนี้ จะเสนอ กนป.ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต่อไป" รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว