เปิดห้องเรียนแห่งความสุข…เปิด ‘หลักสูตร’ ข้าวเพื่อเยาวชน

ข่าวทั่วไป Monday July 5, 2010 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--สสส. ชนินทร์ญา คำดี หัวหน้าโครงการรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างมีความสุข โดยการบูรณาการวัฒนธรรมและวิถีชุมชน ศึกษากรณีการใช้หลักสูตรข้าว ในการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลศูนย์พลาญข่อย อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมกับโรงเรียนศูนย์พลาญข่อยจัดทำหลักสูตรข้าวขึ้น เพื่อสร้างการเรียนรู้จากชุมชนรูปแบบใหม่ โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) “ปัญหาใหญ่ของเด็กที่นี่คือ ไม่เคยเรียนรู้วิถีชีวิตของตัวเอง ไม่รู้การทำนา ทำไร ทำเกษตร แต่จะให้ไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ก็เป็นไปได้ยาก เพราะขาดเงินสนับสนุน เมื่อจบออกมาก็เป็นเพียงชนชั้นแรงงานที่ไปทำงานต่างถิ่น เราก็มาคิดว่า หากเด็กจบออกมา น่าจะมีวิชาความรู้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับการทำงานได้ จึงเป็นที่มาของการทำหลักสูตรข้าว” ชนินทร์ญา กล่าว เมื่อถามถึงการคิดค้นหลักสูตรข้าว ชนินทร์ญา กล่าวว่า ทางโรงเรียนพลาญข่อยมีหลักสูตรข้าวมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเกษตรเพื่อชีวิต แต่ยังไม่เป็นระบบมากนัก ตนจึงนำโครงการมาออกแบบเพิ่มเติม โดยได้อาศัยองค์ความรู้จากท้องถิ่น มาประยุกต์ให้เป็นหลักสูตรข้าวที่ใช้ได้จริง โดยหลักการคือ การบรรจุเอาคำว่าข้าวในมิติต่างๆ ไปใส่ในการเรียนการสอนในโรงเรียน และสามารถนำมาใช้ในการสร้างองค์ความรู้ได้ ในบางครั้งเด็กอาจจะได้เรียนจากผู้รู้ในชุมชน เช่น ผู้อาวุโสในชุมชน อย่างวิชาศิลปะอาจจะมีศิลปะจากเมล็ดข้าว หรือวิชาภาษาอังกฤษได้เรียนรู้คำศัพท์จากข้าวในมุมต่างๆ โดยเป็นไปเรียนในแปลงนา หรือเรียนจากวัตถุดิบจริง อาจารย์สมบัติ เหสกุล นักวิชาการอิสระ ในฐานะผู้ติดตามโครงการวิจัยและนวัตกรรม ของ สสส. ให้ทรรศนะว่า จุดเด่นของโครงการนี้คือ ความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน และสามารถนำไปต่อยอดได้ โดยให้บุคลากรจากชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการคนเดิมเห็นว่า คำว่าหลักสูตรข้าว ได้ผ่านการคิด 2 ระดับ ระดับแรก คือ กระบวนการเตรียมการปลูก จนถึงระดับที่สองคือ การเก็บเกี่ยวและการค้า โดยในหลักสูตรได้แจกแจงเป็นระดับชั้นว่า นักเรียนชั้นนี้ได้เรียนอะไรเกี่ยวกับข้าว เช่น ภาษาไทย จะมีวรรณคดีอะไรเกี่ยวกับข้าว หรือวิชาวิทยาศาสตร์ก็อาจจะเรียนการให้น้ำ ให้ปุ๋ย อย่างไรข้าวจึงจะเจริญเติบโตตามหลักวิทยาศาสตร์ คงต้องมาสอดแทรกให้ได้ “สิ่งสำคัญคือว่า คำว่าหลักสูตรท้องถิ่นมันต้องถูกพัฒนามาจากฐานความรู้ของท้องถิ่น ไม่ใช่คำสั่งมาจากส่วนกลาง ที่มาคอยกำหนดว่า วิชาท้องถิ่นต้องมีวิชาแกนกลาง แล้วต้องวิชานั้นวิชานี้เสริม อย่างหลักสูตรข้าว เราสามารถเอาวิทยาศาสตร์ไปอยู่ในนาข้าวได้ เกษตรอยู่ในนาข้าว คหกรรมอยู่ในโรงครัวแต่เอาผลผลิตไปอยู่ในนั้นด้วย” อาจารย์สมบัติกล่าว นอกจากนี้ อาจารย์สมบัติยังเสนอความเห็นว่า หลักสูตรท้องถิ่นอาจจะต้องเรียนตามฤดูกาล เช่น หน้าแล้งน่าจะเรียนเกี่ยวกับการเตรียมตัวสำหรับปลูก หรือในภาคเรียนปกติ นักเรียนจะอยู่กับหน้าฝน การเรียนจึงต้องเป็นการเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ในผลิต ด้าน ครูแววมณี อ่อนน้อม ครูผู้ช่วยประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนศูนย์พลาญข่อย มองหลักสูตรข้าวที่กำลังคิดค้นว่า เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับครูรุ่นใหม่ เพราะได้ลงมือทำร่วมกับเด็ก ทำให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง เกิดการเรียนรู้เรื่องการแบ่งกันทำหน้าที่ “จริงๆ กิจกรรมเกี่ยวกับข้าว ทางโรงเรียนได้ทำเป็นกิจกรรมพิเศษอยู่แล้ว ได้พาเด็กทำนา เกี่ยวข้าว คัดแยกพันธุ์ข้าว ต่อไปหากนำมาทำหลักสูตรข้าวอย่างเต็มรูปแบบจะทำให้เกิดเป็นการเรียนที่เป็นระบบมากขึ้น เช่น ในภาษาอังกฤษก็จะมีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับข้าวให้เด็กได้รู้ อีกทั้งได้นำมาสู่การเรียนนอกห้องเรียน” ครูแววมณียังเห็นว่า แม้เป็นเด็กชนบทในปัจจุบันก็ถือว่าห่างไกลจากการทำเกษตร เพราะค่านิยมการเรียนในระดับสูงทำให้เด็กห่างจากองค์ความรู้ดั้งเดิม จึงเป็นโอกาสดีที่เด็กได้หันกลับมาเรียนรู้ในสิ่งใกล้ตัว นอกเหนือจาก หลักสูตรข้าวแล้ว ยังมีการนำเด็กเรียนรู้จากธรรมชาติในรูปแบบอื่นๆ เช่น การให้เด็กได้เรียนรู้พันธุ์พืชในป่าที่สามารถนำมากินได้ เช่นเดียวกับ พ่อใหญ่คำดี สายแวว เกษตรกรอาวุโสแสดงความเห็นว่า หลักสูตรข้าวควรมีมานานแล้ว เนื่องจากปัจจุบันเยาวชนห่างไกลจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถนำไปใช้หาเลี้ยงชีวิตต่อไปได้ “หลักสูตรข้าวน่าจะทำให้เด็กได้หันมาสำนึกในบุญคุณของข้าว ว่าชีวิตคนไทยขาดข้าวไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดต่อให้เราไม่ได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้น แต่ความรู้เรื่องการปลูกข้าว ทำให้เรามีกิน มีเงินใช้พอประมาณ โดยไม่ต้องดิ้นรนไปอยู่ที่อื่น เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองให้เป็น” พ่อใหญ่คำดีกล่าว สำหรับ ด.ญ.วาสนา น้อยอำคา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า หลักสูตรข้าวทำให้เรียนรู้พันธุ์ข้าวที่อยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ซึ่งทุกคนต้องกินในแต่ละวัน “ได้รู้ว่า กว่าจะมาเป็นข้าวให้เรากินมันลำบากแค่ไหน พ่อแม่เรา ปู่ย่าเราช่วยกันปลูกข้าวมาให้เรากินในวันนี้ พวกเราน่าจะช่วยกันรักษาพันธุ์ข้าวไว้ เพราะข้าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทำข้าวต้มมัด ทำขนม ใส่บาตร หรือเอาไปแลกอาหารกับบ้านอื่นๆ ก็ได้” ด.ญ.วาสนาบอกเล่า นี่คือตัวอย่างของการนำเอาองค์ความรู้ใกล้ตัวมาประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอน และยังเป็นการสานต่อภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อคงวิถีชุมชนไม่ให้สลายไปตามกาลเวลา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ